ปีศาจในระบบธนาคารไทย

23 เม.ย. 2566 | 02:00 น.

ปีศาจในระบบธนาคารไทย : คอลัมน์เรื่องเงินเรื่องง่าย โดย..นายธนาคาร หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3881 หน้า 6

ช่วงโควิดที่ผ่านมาใครที่อยู่วงการธนาคาร จะรู้ว่าลูกค้าหลายรายสาหัสมากๆ แต่มันไม่เหมือนสมัยต้มยำกุ้ง ปี 1997 อันนั้นเนี่ย ระบบสินเชื่อของประเทศไทยไปกู้เงินจากต่างประเทศมาแล้ว เอาเงินนั้นมาปล่อยสินเชื่อในประเทศ ถึงเวลาไม่มีคืน และเจอค่าเงินบาทลอยตัว เลยต้องไปกู้ IMF 

คนสมัยก่อนคิดกันแบบสั้นๆ เห็นว่า ดอกเบี้ยต่างประเทศถูกพวกดอกเบี้ย USD พวกสถาบันการเงินเห็นว่า พอดอกเบี้ยถูกแล้วเอามาคิดส่วนต่างของดอกเบี้ย ที่สถาบันจะได้ในการปล่อยสินเชื่อเยอะกว่าปล่อยกู้เป็นเงินบาท (ที่เราเรียกว่า Spread) ยิ่งเชียร์ให้ลูกค้ากู้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ 

แต่นั่นแหละครับมักง่าย เพราะว่าพอกู้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ แล้วคิดว่าวันที่ต้องเอาเงินไปคืนเขา อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับ USD จะเหมือนเดิมทุกชาติไป คงเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นแหละครับเป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นคิดและมันก็ผิด 

เพราะสุดท้ายค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ต้องใช้เงินสองเท่าในการคืนหนี้ก้อนเดิม ระบบขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นเงินที่สถาบันการเงินกู้มาจากต่างประเทศ 

หลังจากนั้นแน่นอนครับ พอวัวหายแล้วเราต้องรีบล้อมคอก แบงก์ชาติเองก็ต้องตั้งหน่วยงานอะไรขึ้นมามากมาย ตั้งนโยบายมากมายขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นอีก จนถึงวันนี้วิกฤติโควิด สภาพลูกค้าจากวิกฤติไม่ต่างกับต้มยำกุ้งเท่าไหร่นัก 

แต่ครั้งนี้แบงก์ชาติเข้ามาช่วยเหลือออกนโยบายตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ทั้งระบบ ที่ทำได้ เพราะแบงก์ชาติรู้ครับว่า ครั้งนี้เงินทุนหมุนเวียนในระบบ หรือ ที่เราเรียกกันว่า สภาพคล่องส่วนใหญ่มาจากเงินในประเทศ เงินฝากในประเทศไทยนั้นล้นระบบมากครับ คนไทยรวยขึ้นเยอะมาก 

แต่แน่นอนว่า รวยกระจุก และ ยังจนกระจาย ครั้งนี้เงินที่สถาบันการเงินใช้ปล่อยสินเชื่อมาจากเงินในประเทศ ซึ่งล้นระบบอยู่ และไม่ต้องรีบคืน ลูกค้าหลายรายสามารถผ่านวิกฤติทางการเงินมาได้ เพราะแบงก์สามารถยืดหนี้ออกไปก่อนได้ 


ฟังแล้วเหมือนจะดูดีนะครับ แต่ “Devil is in the details” ปีศาจอยู่ในรายละเอียด ลูกค้าที่ประสบปัญหา เพราะว่าตัวเองอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีเยอะ และหลากหลายมาก 

ผมขอยกตัวอย่างให้เข้าใจภาพง่ายๆ นะครับ สมมุติว่า ลูกค้าทำธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดีมาก ภาษีก็ไม่ต้องเสีย แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด แน่นอนครับโรงเรียนปิด ทำให้เราตกผลึกครับว่า โรงเรียนที่มีส่วนของเด็กเล็กได้รับผลกระทบ 

เช่น พวกชั้นเตรียมอนุบาล และแน่นอนว่าเด็กหายไป2 ปี เพราะผู้ปกครองให้เด็กอยู่บ้านกลัวติดโรค ต่างกับโรงเรียนที่มีส่วนประกอบของเด็กโต ยังไงต้องเรียนให้จบครับ เพราะต้องได้ใบประกาศนียบัตรเพื่อศึกษาต่อ จากนั้นโรงเรียนที่มีส่วนประกอบของเด็กเล็กโดนเต็มๆ ครับ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเดิม

อีกรายครับ ผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับทัวร์จีนที่มาเที่ยวประเทศไทย ปีหนึ่งหลายพันล้าน จู่ๆ ทัวร์จีนไม่มา จีนปิดประเทศ ก็ไม่สามารถชำระอะไรได้เลย โรงงานต้องปิด ผ่อนอะไรไม่ได้ เพราะสินค้าในคลังรอขายทัวร์จีนดึงเงินสดในมือไปหมด

อีกรายครับ ติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์ให้กับมือถือเจ้าดัง ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับว่า ทำไมถึงกระทบกระแสเงินสด ลองคิดดูนะครับว่า ช่วงโควิดหนักๆ มี lockdown พยายามไม่ให้คนเดินทางข้ามจังหวัด เดี๋ยวลูกค้าจะสามารถไปติดตั้งอุปกรณ์เพื่อขยายโครงข่าย

ได้ยังไงครับ ถึงเวลาระบบมือถือเจ้าดัง พอเขาเห็นว่าโครงข่ายยังติดตังไม่จบ ก็ไม่จ่าย แต่ลูกค้าต้องจ่ายครับจ่ายเงินเดือน จ่ายค่าไฟ จ่ายค่าน้ำ และยังต้องจ่ายดอกเบี้ย และเงินกู้ของธนาคารอีกครับ

                          ปีศาจในระบบธนาคารไทย

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อยมากๆ เที่ยบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบธุรกิจในประเทศไทย แน่นอนครับมีนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ ช่วยในช่วงแรก (6-12 เดือน) แต่ระยะยาวแบงก์ชาติคาดหวังให้ธนาคาร ต้องมีความเข้าใจในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าทุกราย เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด คือ ถ้ามันไม่มีกระแสเงินสดเลย ก็ต้องพักหนี้ครับ และประเมินว่าเมื่อไหร่กระแสเงินสดจะกลับมา ไม่ใช่ปล่อยไหลให้ลูกค้ากลายเป็นหนี้เสีย ทำหลายธุรกิจที่สร้างมาตลอดชีวิต

ปัญหามันมาจากเรื่องที่ไม่คาดคิดอีกครับ พวกธนาคารต่างประเทศที่ทำธุรกิจในประเทศไทย พยายามใช้ความคิดแบบประเทศตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ ซึ่งต่างจากวิธีการในประเทศไทยพอสมควร แบบนี้ลูกค้าตาย ธนาคารต่างประเทศส่วนใหญ่แผนกบริหารความเสี่ยง เป็นคนที่ทางสำนักงานใหญ่ที่ต่างประเทศเป็นผู้แต่งตั้งมา

เวลาคุยเรื่องนี้ยิ่งไปกันใหญ่ครับเช่น บอกว่าลูกค้าไม่ชำระหนี้ทำให้แบงก์เสียหาย แต่เขาไม่คิดเลยว่า ถ้าแบงก์ไปบี้ลูกค้าตอนนี้ ธุรกิจลูกค้าจะล่มสลายทั้ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้ารออีกหน่อยรออีกนิด กระแสเงินสดจะเข้ามา และจะเริ่มทยอยจ่ายหนี้ได้ จะถอดปลั๊กตอนนี้ทำไม

ลูกค้าน่าสงสารครับ ไม่สามารถร้องเรียนกับใครได้ และเรื่องปรับโครงสร้างเพื่อแก้หนี้ มันไม่มีการกำหนดมาตรฐานอะไรเลย แบงก์ชาติน่าจะกำหนดให้ชัดเจนเลยว่า ธุรกิจที่ประเมินแล้วว่า สามารถมีกระแสเงินสดหลังจากวิกฤติจบลง ให้ธนาคารปรับโครงสร้างให้ได้

ยิ่งลูกค้าที่หลักประกันเยอะแบงก์ยิ่งน่าจะสบายใจและรอได้ 
ไม่ใช่พอเห็นหลักประกันแล้วตาโต คิดว่าตัวเองได้เงินคืนแน่ๆ จากการฟ้องร้องก็ปล่อยไหล แล้วฟ้องลูกค้าเลยเพื่อบีบให้ลูกค้าขายหลักประกัน หรือเข้าสู่กระบวนการบังคับหลักประกัน

แบบนี้ผมเรียกว่าเลวครับ เขาสร้างธุรกิจมาหลักประกันเขาก็สั่งสมมา คุณเอากระดาษไม่กี่แผ่นมาทำลายธุรกิจคนอื่น แบบนี้ไม่มีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ พอแดดออกก็ช่วยเหลือเขาเสนอตัวเข้ามาสนับสนุน พอฝนตกก็ดึงร่มออก

เราไม่รวยเหมือนประเทศอื่นครับ ประเทศที่รัฐเขาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ช่วงโควิดให้จ่ายดอกเบี้ยให้ แต่ไม่เป็นไรภาครัฐเราสั่งได้ครับ ขอให้สั่งจะมาจากประเทศไหน ถ้าทำธุรกิจในประเทศไทยต้องทำตาม ภาครัฐต้องตามมาดูแลในรายละเอียด อย่าไว้ใจธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่มีหน่วยงานบริหารความเสี่ยงเป็นคนต่างชาติ อย่าหงอครับ 

เมื่อนานมาแล้ว เราอาจจะง้อให้ทั้งเอกชน และ ต่างชาติ ช่วยกันลงทุนในธุรกิจการเงิน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในประเทศ แต่ตอนนี้อย่างที่เห็นว่า คนไทยมีเงินฝากมากมาย ระบบการเงินของไทยพัฒนาขึ้น ภาครัฐไม่ต้องง้อใครมาลงทุนครับ เพราะใครๆ ก็ต้องมาลงทุนที่ประเทศไทย 

เรื่องธุรกิจการเงินเอกชนไทยเอง ก็พร้อมที่จะลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจในประเทศ ภาครัฐจะออกนโยบายช่วยเหลือต้องอย่าเกรงใจใครทั้งนั้น หัดเกรงใจประชาชนที่เสียภาษีในประเทศบ้างครับ

นโยบายสามารถช่วยให้ธุรกิจผ่านวิกฤติในช่วงแรกได้ แต่ไม่ได้ช่วยในระยะยาว ถ้าไม่ได้ช่วยในระยะยาว ธุรกิจได้รับผลกระทบ กระทบการจ้างงานในบริษัท กระทบ supply chain และอื่นๆ อีกมากมาย ประชาชนเยอะแยะที่ได้รับผลกระทบ

นี่แหละครับเป็นผู้เสียภาษี ถึงจะเสียไม่เยอะ แต่มันไม่ได้วัดที่ใครเสียเยอะเสียน้อย ใครก็ตามที่เสียภาษี ต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ภาครัฐต้องหันมาลงรายละเอียด ไม่ต้องกลัวว่าใครจะย้ายการลงทุนออก เพราะมันออกไม่ได้ครับ ประเทศเราเซ็กซี่เกินกว่าที่ใครจะปฏิเสธได้ หัดดูไพ่ในมือแล้วใช้ให้เป็นบ้าง ปกป้องประชาชนคนที่เสียภาษีให้ท่านบ้าง

ไว้ผมมาเล่าให้ฟังต่อครับ