วิกฤตแบงก์สหรัฐ... หลบภัยที่ไหนดี??? 

16 มี.ค. 2566 | 21:15 น.

วิกฤตแบงก์สหรัฐ... หลบภัยที่ไหนดี??? คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** วิกฤติการณ์ธนาคารเจ๊ง ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารในสหรัฐเช่น Silvergate Capital, Silicon Valley Bank และ Signature Bank รวมไปถึงสัญญาณที่ว่าธนาคารเก่าแก่และยิ่งใหญ่กว่าในยุโรปอย่าง Credit Suisse อาจจะต้องล้มตามไปด้วย ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรฐกิจอาจจะกลับเข้าไปสู่ยุคถดถอยได้อีกครั้งเช่นเดียวกับในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด

กรณีการล่มสลายนี้ นอกจากจะส่งผลกับราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KBANK และ TTB เนื่องจากความกังวลเรื่องผลกระทบจาก Domino Effect ก็ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงมาแรงตามไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเจ๊เมาธ์เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะต้องทบทวนว่าการขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาจะช่วยระบบเศรษฐกิจของสหรัฐได้จริงหรือไม่ เผลอๆ ไม่แน่ว่าในที่ท้ายสุดอาจจะต้องลดดอกเบี้ยลงไปซะด้วยซ้ำ 

เจ๊เมาธ์เชื่อว่า “สิ่งที่รู้ล่วงหน้าว่าจะสร้างความเสียหาย...มักจะไม่เกิดเพราะจะมีการวางมาตรการป้องกัน” ดังนั้นจึงไปได้ยากที่ Credit Suisse จะล้มลงได้และยิ่งธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (The Swiss National Bank:SNB) ตัดสินใจเข้าไปดูแลยิ่งทำให้การล่มสลายของ Credit Suisse เป็นไปได้ยาก ส่วนการล้มของธนาคารในสหรัฐก็ล้วนแต่เป็นธนาคารที่มีขนาดเล็กมากจนอยู่นอกสายตาของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ทำให้การเฝ้าระวังและดูแลได้ไม่ทั่วถึงก็เท่านั้นเอง ดังนั้นเจ๊เมาธ์จึงเชื่อว่านี้เป็นโอกาสที่จะได้เก็บหุ้นดีราคาถูกอย่าง KBANK SCB BBL KBANK และ TTB เอาไว้เป็นหลุมหลบภัยนั่นเอง
 

*** จังหวะนี้เรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กลายเป็นความกังวลของนักธุรกิจมากกว่าเรื่องเงินเฟ้อไปแล้ว เนื่องจากในอนาคตดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงนี้จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงส่งผลโดยตรงกับภาคพลังงานและการขนส่ง กรณีนี้บริษัทผู้ผลิตและขายทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอย่าง PTTEP ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะรายได้และกำไรจะถดถอยลงไปตามราคาซื้อขาย 

ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันอย่าง TOP BCP IRPC SPRC ESSO และ PTTGC ก็จะได้รับผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันดิบ และค่าการกลั่นที่อาจปรับลง อย่างไรก็ตาม ถ้ามองข้ามกระแสกดดันที่คาดว่าจะเกิด...แต่ยังไม่เกิดเหล่านี้กลับพบว่าหุ้นกลุ่มนี้น่าสนใจพอสมควร อย่างหนึ่งคือ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานจะมีทั้งดีและไม่ดี แต่ถ้าเลือกลงทุนโดยใช้ตัวเลขชี้วัด ก็จะเห็นว่าตัวที่ดีก็ยังมีให้เลือก ส่วนตัวที่ยังไม่ดี...หรือยังไม่มีกำไร ก็ยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ในอนาคต ดังนั้นถ้าไม่คิดอะไรมาก...หุ้นกลุ่มนี้ถือว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

*** หลังจากที่ ครม. มอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าควบคุมธุรกิจลีสซิ่ง ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทั้งหมด จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นส่งผลให้หุ้นกลุ่มลีสซิ่งใหญ่ อย่าง TIDLOR MTC SAWAD HENK และ SAK อาจจะได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกสูงกว่าแบงก์ อย่างไรก็ตามในส่วนของหุ้นลีสซิ่งรายเล็กอาจถูกข้อจำกัดที่มีนี้ทำให้ขยับตัวได้ยากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ซึ่งมี NPL ที่สูงถึง 30% แต่ทาง สคบ. กำหนดให้คิดดอกเบี้ยที่ระดับ 23% จากเดิมคิดได้ 36-48% ก็จะทำให้เหล่าลีสซิ่งรายเล็กรายน้อยเหล่านี้อยู่ได้ยากมาก ขณะที่ในส่วนของธุรกิจของลีสซิ่งรายใหญ่ก็จะมีเพียง SAWAD ซึ่งมีสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ในสัดส่วนราว 30% ของพอร์ตอาจจะได้รับผลกระทบ แต่เนื่องด้วยทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้นก็ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจจนเป็นเหตุให้ราคาหุ้นในกลุ่มลีสซิ่งต่างปรับตัวลงมาแรงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่ผลการดำเนินงานก็จะเห็นว่าในปี 65 กลับพบว่าหุ้นกลุ่มนี้ทำรายได้และกำไรดีขึ้นมาอย่างน่าสนใจ โดยในส่วนของ MTC มีกำไร 5,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 148 ล้านบาทหรือ 3% ขณะที่ SAWAD งวดสิ้นปี 65 มีกำไร 4,476 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนนิดหน่อย แต่รายได้กลับเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่วนทาง TIDLOR มีรายได้รวม 15,274 ล้านบาท โตขึ้น 27% และมีกำไร 3,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน

*** ส่วนหุ้นลีสซิ่งที่เล็กลงมาหน่อยอย่าง HENG ก็ทำรายได้ที่ 2,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และมีกำไร 461 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30% ขณะที่ทางด้านของ SAK มีรายได้รวม 2,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.4% และมีกำไร 710 ล้านบาท เติบโต 17% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  

ดังนั้นเจ๊เมาธ์ ยังคงมองว่าหุ้นกลุ่มลีสซิ่งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของหลุมหลบภัยที่น่าสนใจมากเช่นกัน
 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566