การเมืองอยู่ใน“กรอบ” เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

26 ส.ค. 2565 | 23:00 น.

บทบรรณาธิการ

ความร้อนแรงทางการเมืองเย็นลงทันที เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้อง ปม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี แล้วหรือยัง ไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ นายกฯประยุทธ์ หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง คาดจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน 
 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยุติการไปปฎิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไปนั่งทำงานที่กระทรวงกลาโหมแทน ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯคนที่ 1 รักษาการแทนนายกฯระหว่างหยุดปฎิบัติหน้าที่ และเริ่มงานโดยนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภัยพิบัติแห่งชาติในวันรุ่งขึ้นทันที สะท้อนองคาพยพความเป็นคณะรัฐมนตรี ที่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้
 

ด้านกระแสต่อต้านทั้งของบรรดาพรรคฝ่ายค้านหรือมวลชนสารพัดกลุ่ม ที่ก่อนหน้านัดชุมนุมปลุกเร้าคนลงถนน จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดถนนตั้งตู้คอนเทนเนอร์สกัดเส้นทางสู่ทำเนียบ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง โดยขีดเส้นพ้นวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นนายกฯ เถื่อนนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ก็ได้ยุติการชุมนุมแยกย้ายกลับบ้าน   

 

ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย จากเดิมที่คาดจะกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่แล้วก็เจอปัญหาเงินเฟ้อกระทบเศรษฐกิจโลก ซํ้าเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างวิกฤตพลังงาน-ความมั่นคงทางอาหาร ที่อาจฉุดการส่งออกหรือยอดนักท่องเที่ยวกลับไทยในครึ่งหลังปีนี้ 
 

บรรยากาศการเมืองคุกรุ่นมาตั้งแต่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีผลถึงท่าทีต่อกติกาเลือกตั้งส.ส.บัญชีพรรค ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ที่พรรคแกนนำรัฐมนตรีพลิกกลับไปกลับมา และต่อเนื่องถึงการดึงเกมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ยืดเยื้อเฉียดเส้นตายก่อนครบกำหนด กระหึ่มเสียงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลากหลายหน้า ทั้งนายกฯ ลาออก ปรับครม. ยุบสภา ตามธรรมชาติของการเมืองรัฐบาลผสมในโค้งสุดท้ายก่อนจัดเลือกตั้งใหม่ 

ปมนายกฯ 8 ปี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามกรอบ ก็ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งหรือเกมการเมือง เพราะเป็นไปตามกฎกติกาที่มีอยู่  ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล 
 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยชี้ว่า ขอเพียงการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นงานใหญ่ของไทยไม่สะดุด และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศยังคงเดินหน้า เพราะยังไงก็ต้องมีรัฐบาลรักษาการ หรือนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศยังเดินหน้าได้ ขอเพียงให้ทุกอย่างต่อเนื่องและไม่อยู่ในสภาพสุญญากาศ 
 

ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาในแนวทางไหน สภาก็ยังคงอยู่ และในช่วงรอยต่อต้องมีคณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งไม่กระทบการทำงาน หรือภาพลักษณ์ในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพื่อไปสู่การจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่าง 18-19 พ.ย.2565 นี้ ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่อย่างช้าสุดในต้นปี 2566 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้เลือกอนาคตบ้านเมืองกันอีกครั้ง