ขึ้นดอกเบี้ยแรง! SME ไทย = ไอซียู?

11 ส.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

10 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มี 5 คน ประกอบด้วย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอีก 5 คน ประกอบด้วย นางสาววชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการธปท. นายรพี สุจริตกุล อีดตเลขาธิการ ก.ล.ต. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี นายสุภัค ศิวะรักษ์ อดีตซีอีโอธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประชุมพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหรือไม่ 
 

จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ขั้นสูงมาก
 

ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% มากถึง 75-80% ขณะที่ตลาดคิดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25 ในสัดส่วนราว 20-25%
 

และก็เป็นจริงตามคาดคือ กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25%  

 


 

ทว่าถึงตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐ-ไทย มีช่องว่างห่างกันมากถึง 2% โดยดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 2.25%-2.50% จากต้นปี 2565 ที่อัตราดอกเบี้ย 0% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 0.50%
 

ผลที่ตามมาคือ เงินทุนไหลออกของไทยในรอบเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวนมากสุทธิ 46,059 ล้านบาท โดยออกจากตลาดหุ้น 31,484 ล้านบาท ไหลออกจากคลาดตราสารหนี้ 14,575 ล้านบาท 
 

และนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไป 9-11% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว 6% นับเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค
 

ขณะที่ประเทศไทยนั้น กนง. จะมีการประชุมเรื่องดอกเบี้ยกันอีกแค่ 2 ครั้ง ภายในปีนี้ คือ วันที่ 28 ก.ย. และ วันที่ 30 พ.ย.2565
 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของผู้คนยังแตกออกเป็น 2 ขั้ว
 


ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า “การขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดูยาก เพราะประชุมห่างกัน ดังนั้นการประชุมแต่ละครั้งการขึ้นดอกเบี้ยต้องมากกว่าปกติ”
 

บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมุมมองว่า “นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ เป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคา”
 

สมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลัง เห็นว่า “เราต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่ม แต่ไม่ใช่ไล่หลังสหรัฐฯ หรือตามกันติดๆ แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เพราะบริบทเศรษฐกิจแตกต่างกัน”
 

ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์ อดีต รมว.พลังงาน ระบุว่า “การเอาดอกเบี้ยเพื่อมาคุมเงินเฟ้อ อาจไม่มีผลมากนัก แต่ดอกเบี้ยต้องขึ้น เพราะหากดอกเบี้ยต่ำ เงินจะไหลออกกันใหญ่”
 

ส่วน ศาสตราจารย์ สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลัง นั้นระบุชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพราะไทยยังอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว” 
 

1.ต้องแยกแยะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่า เป็นด้านพิมพ์เงินมาใช้มากเกินไปแบบสหรัฐฯ หรือด้านต้นทุนนำเข้า ออกจากกัน ประเทศไทยเป็น Cost push inflation หากขึ้นดอกเบี้ย ก็จะลดเงินเฟ้อได้น้อยมาก ราคาน้ำมัน, ราคาปุ๋ยก็คงไม่ลดลง แต่จะทำเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวกลับไปถดถอย ทำให้ประชาชนยากจนลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง คนตกงานและรายได้ประชาชนลดลง


 

2.รัฐบาลต้องดูแลประชาชนให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแนะนำให้ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เพื่อ 

(ก) เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของประชาชน ลดการบริโภค ลดการลงทุน ลดรายได้ภาษีรัฐบาล 

(ข) เพื่อทำค่าเงินบาทให้แข็งขึ้น เพื่อลดความสามารถในการส่งออกและในการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ทั้ง 2 ประการจะทำให้เศรษฐกิจจริงลดลง ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และยากจนลงมากขึ้น
 

3.ในช่วงนี้จะให้ดี เพื่อลดเงินทุนระยะสั้นไหลออก อาจขึ้นดอกเบี้ยน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยดูสถานการณ์โลก เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยลงบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยสูงเท่าสหรัฐฯ เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไป เพื่อรักษาอัตราการเพิ่มการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ, เพื่อเพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชนและเพิ่มการลงทุน และควรเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ให้เกินอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 

 


 

การขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้นั้น สำคัญเทียบเท่ากับว่าขึ้นมาเท่าไหร่ และผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนั้นเป็นเช่นไร
 

ผมขออนุญาตพาทุกท่านมาพิจารณาผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศไทย
 

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไป 2-2.75% ต่อปีภายในสิ้นปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 1.5-2.25% จากระดับ 0.5% ในปัจจุบัน
 

ขณะที่ผลการศึกษาพบว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 100% ดอกเบี้ย MLR จะขึ้นแค่ 60%
 

จะเห็นได้ว่า หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขยายตัวเป็นไปตามที่ กนง.ประเมิน ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนยังสามารถชำระหนี้ ที่เพียงพอรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้กรณีที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปที่ 2.75% ต่อปี
 

และจากการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน พบว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็น 2-4% ของต้นทุนธุรกิจ ขณะที่ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า โดยจากฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือน พบว่า โดยเฉลี่ยภาระดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็น 8% ของรายได้ครัวเรือนที่มีหนี้ ถือว่าสูงมาก
 


ในประเทศไทยนั้น มีผู้ประกอบการทั้งหมด 3.192 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการ SMEs ร่วม 3.178 ล้านราย คิดเป็น 99.6% SMEs เป็นแหล่งการจ้างงานถึง 12.6 ล้านคน คิดเป็น 71.9% จากการจ้างงานทั้งระบบกว่า 17.5 ล้านคน

กลุ่ม SME สร้างรายได้ให้กับจีดีพีของประเทศ 19.5-20% ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นจุดตายของบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จุดตาย SMEs ไทย สาเหตุเพราะ...

1) ความสามารถในการทำกำไรและการบริหารจัดการต้นทุนได้ไม่ดี สะท้อนผ่านกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ของผู้ประกอบการ SMEs ที่ก่อนเกิดวิกฤตมีสัดส่วนราว 2.8% ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่มีพื้นที่กำไรที่สูงกว่าที่ 4.2% แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤต พบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้แม้ประสบกับวิกฤต แต่ยังประคองให้มีพื้นที่กำไรเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย 4.9% 
 

ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยกำไรลดเหลือเพียง 2.2% เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีขนาดธุรกิจที่กระทัดรัดจึงทำให้มีจำนวนการจ้างงานค่อนข้างต่ำ 
 

ต่างจากธุรกิจรายใหญ่ที่มีการจ้างงานเป็นแผนกที่ชัดเจน หรือมีการแบ่งภาระการรับผิดชอบออกเป็นหลายแผนก ส่งผลให้กลยุทธ์ด้านการลดต้นทุนจึงไม่เหมาะกับธุรกิจ SMEs เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้
 

2) ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ SMEs ที่สูงกว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร ผลศึกษาผู้ประกอบการรายใหญ่มีค่าเฉลี่ยต้นทุนทางการเงินที่ 4.8% ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่ 6.1% สาเหตุที่อัตราดอกเบี้ยถูกคิดในอัตราที่สูง เพื่อปิดช่องความเสี่ยงที่มากกว่า กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ยังมีช่องทางหาแหล่งเงินทุนจากช่องทางอื่น เช่น หุ้นกู้ หรือ การกู้ยืมกันจากบริษัทในเครือเดียวกัน 
 

ปัจจุบันรายใหญ่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่จากธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 27.9% SMEs มีแหล่งเงินทุนมาจากธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมดที่ 99.7%
 


3) ระยะเวลาต้องการเงินทุนหมุนเวียนของ SMEs ที่สูงกว่า จากอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ จำเป็นต้องสั่งสินค้าครั้งละจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย 
 

นี่จึงส่งผลต่อเงินทุนที่ต้องสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าคงคลัง รวมถึงอำนาจต่อรองกับลูกค้าของกิจการที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ 

จึงต้องให้เครดิตการค้าที่ยาวขึ้นเพื่อจูงใจและรักษาฐานลูกค้า ทำให้ธุรกิจ SMEs ต้องสำรองเงินทุนเมื่อเทียบกับยอดขายถึง 89 วัน ซึ่งสูงกว่าธุรกิจรายใหญ่ที่ต้องสำรองเงินทุนไว้ที่ราว 52 วัน 

ดังนั้น การที่ SMEs จำเป็นต้องสำรองเงินทุนเพื่อรองรับอัตราหมุนเวียนการค้าที่นานกว่า ย่อมสะท้อนถึงภาระที่ต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอกที่เพิ่มขึ้น

เห็นจุดตายของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่กระทบกับผู้ประกอบการไทยหรือยังครับ