ย้อนมองเศรษฐกิจหลังครบรอบสามปีการเปลี่ยนแปลงเมียนมา 2

04 ก.พ. 2567 | 21:50 น.

ย้อนมองเศรษฐกิจหลังครบรอบสามปีการเปลี่ยนแปลงเมียนมา 2 คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ครบรอบสามปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเรียบร้อยแล้วหนึ่งอาทิตย์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็มีแต่การขยายประกาศสภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน เป็นที่เรียบร้อยเท่านั้น ในความเห็นของผม ผมคิดว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย ตราบใดที่ยังมีความไม่สงบภายในประเทศอยู่ รัฐบาลทหารก็มีความจำเป็นต้องขยายสภาวะฉุกเฉินอย่างไม่ต้องสงสัย 

ในส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็คงต้องรอกันต่อไปครับ ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้แน่นอนแล้ว เพราะตามที่เคยได้รับฟังคำประกาศของคณะรัฐบาลเมียนมาที่ผ่านๆ มา ผมจำได้ว่าจะต้องมีการเริ่มสำรวจสำมะโนประชากร ก่อนจะมีการเลือกตั้ง เพราะจะได้ทำให้สิ้นสงสัยว่า “บริสุทธิ์ยุติธรรม” ตามนิยามของทางรัฐบาลทหารเมียนมา ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นโอกาสที่จะเลือกตั้งในเร็ววันนี้ คงยากมากๆ ครับ
       
มาดูต่อของการมองย้อนหลังสามปีการเปลี่ยนแปลงต่อดีกว่าครับ เราจะได้อ่านเศรษฐกิจเมียนมาให้ขาดได้ครับ หลังจากที่เกิดการออกมาเดินบนท้องถนนในปี 2021 ทำให้เกิดการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน และมีผู้คนถูกจับกุมมากมาย 

อีกทั้งที่มีการเสียชีวิตจากเหตุประท้วงก็ไม่น้อย ฝ่ายที่ต่อต้านก็อยู่ในที่สว่างไม่ไหว ต้องระเห็จระเหเร่ร่อนไปอยู่ในที่ลับ เพื่อจะได้รักษาชีวิตและเสรีภาพของตนเองไว้ทำการต่อต้านต่อไป เหตุการณ์จึงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันไม่จบไม่สิ้น ประดุจดังเลือดที่ไหลไม่หยุดนั่นเองครับ 
     
ทางด้านเศรษฐกิจของเมียนมา ก็ได้รับผลกระทบจากการแซงชั่นของประเทศฟากฝั่งตะวันตก ในขณะที่ภายในประเทศก็มีผลต่อเนื่องมา แม้จะมีเจตนาหรือไม่เจตนาให้เกิดก็ไม่สามารถยับยั้งได้ สิ่งที่ตามมาคือการส่งออก-นำเข้าสินค้า หรือดุลการค้าของประเทศเริ่มเกิดปัญหาที่รุนแรงไม่หยุดเช่นกัน การท่องเที่ยวที่เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของชาติ ก็ไม่สามารถทำได้  เพราะความหวาดระแวงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทำให้กลไกของการท่องเที่ยวหดหายทันที 

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเมียนมา จึงมีไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศต่อไปได้ ในขณะที่การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ของประเทศเมียนมา ก็ทำการได้ไม่สะดวกหรือคล่องตัวเหมือนในอดีต แน่นอนว่าตามธรรมชาติของธนาคารพาณิชย์ของทุกๆ ประเทศ หากมีการแห่แหนแตนแต้ไปเบิกถอนเงินจากผู้ฝากเงิน ก็จะทำให้ธนาคารล้มได้ง่ายๆ และหากมีธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งในประเทศล้ม ก็จะเกิดสภาวะโดมิโนเกิดขึ้นทันที 

ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ หรือต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดนั่นเอง ผลที่ตามมาคือสภาพคล่องของกระแสเงินสดในท้องตลาด ก็จะหมดสภาพไปอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ 
          
ผลพวงดังที่กล่าวมานั้น สิ่งที่ตามมาคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในท้องตลาด จึงตกลงเหวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จำได้ว่าในกลางปี 2022 อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดต่อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จึงหล่นลงไปประมาณสามเท่า หรือสามร้อยเปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อัตราแลกเปลี่ยนเคยอยู่ที่ 1,350 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ 

ช่วงที่ตกต่ำที่สุดไปไกลถึง 4 พันจ๊าด และปัจจุบันนี้อยู่ที่ประมาณ 3,500-3550 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนตกลงมากขนาดนั้น จึงทำให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค ราคาเพิ่มขึ้นมาเกือบสามเท่า จึงเกิดสภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ 


    
จากตารางข้างต้น เราอาจจะสังเกตเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อและอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศเมียนมา ที่ทางธนาคารกรุงเทพ สาขากรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ได้กรุณาส่งมาให้ดูทุกๆ เดือนนั้น (ต้องกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้) เป็นการคิดคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนตามที่รัฐบาลประกาศ คืออยู่ที่ 2,100 จ๊าด จึงทำให้เกิดการผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็พอจะเดาๆ ต่อไปได้ครับว่าเป็นอย่างไร
        
ในความเป็นจริง ราคาสินค้านำเข้าทั้งแผงได้กระโดดขึ้นมาอย่างมีนัยยะมากๆ รวมทั้งราคาอาหารที่ประชาชนทั่วไปต้องบริโภคทุกๆ วัน ได้เพิ่มขึ้นเยอะพอสมควร ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อ ตามความคาดการณ์ของผม น่าจะอยู่ที่ตัวเลขสองหลักกลางๆ มาติดต่อกันสามปีมาแล้วนั่นเองครับ 

จะเห็นว่าความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งรายได้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก หรือถึงแม้จะมีก็วิ่งตามไม่ทันเงินเฟ้อและค่าครองชีพไม่ทัน จึงทำให้เกิดการไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนได้นั่นเองครับ
     
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาสามปี การแทรกแซงกิจการภายในประเทศเมียนมา ที่นำทีมโดยชาติตะวันตก ยัง “สร้างความยากลำบากในแก่ประเทศเมียนมา” อย่างมาก ที่ผมเน้นเช่นนี้ เพราะไม่ได้จะสร้างความยากลำบากให้แก่รัฐบาลทหารเท่านั้น เคราะห์กรรมยังตกไปที่ประชาชนส่วนใหญ่เสียมากกว่ารัฐบาล การที่ต้องมารับผลกรรมนี้ ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่เป็นธรรมกับประชาชนเลยนะครับ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศเพื่อนบ้านดูเป็นบทเรียนเอาไว้นะครับ
     
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสงบภายในและความปลอดภัยจากภัยสังคมต่างๆ ของประชาชน จึงมีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้า-การลงทุน ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้เริ่มถอนตัวออกไปเยอะพอควร บริษัทใหม่ๆ ที่จะเข้าไปลงทุน ก็ต้องคิดหนักเช่นกัน รัฐบาลเร่งดำเนินการออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจและสถานการณ์ดีขึ้น 

แต่ก็เข้าใจนะครับว่า มันยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ ครับ สิ่งที่เร่งดำเนินการ ข้าราชการก็จะต้องให้ความร่วมมือ ดังนั้นต้องใช้ทั้งหลักเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในคราวเดียวกัน ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลเมียนมาในวันนี้ ใครไม่ได้ไปนั่งบนเก้าอี้ตัวนี้ ก็คงไม่สามารถเข้าใจหรือซึ้งใจได้อย่างแน่นอนครับ