สัญญาณทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเมียนมา

14 ม.ค. 2567 | 23:00 น.

สัญญาณทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่องสัญญาณของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ส่งออกมาในวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชของประเทศ ผมก็นำมาวิเคราะห์ให้อ่าน ปรากฏว่าก็มีแฟนคลับหลายท่าน ส่งคำถามและความคิดเห็นมา บางคำถามผมก็ไม่สามารถนำมาเปิดเผยทางสาธารณะได้ แต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจมากทีเดียว แต่บางคำถามก็สามารถนำมาคุยกันในช่องทางนี้ได้ เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยว ที่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน เลยอยากนำมาเปิดประเด็นกันในคอลัมน์นี้ครับ

มีอาจารย์ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนามนะครับ) ผมเข้าใจว่าจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้าท่านอ่านบทความนี้แล้ว ขอรบกวนท่านช่วยกรุณาไลน์มาแจ้งให้ผมทราบด้วยนะครับ ท่านได้เขียนมาว่า “เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องกระตุ้นทั้งระบบ ตอนนี้เมียนมาหวังกระตุ้นให้มีเม็ดเงินเข้ามาก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นครับ” ในความคิดของผม แม้การกระตุ้นไม่ครบวงจร จะทำให้ระบบเศรษฐกิจอาจจะไม่เกิดประสิทธิผลมากพอ แต่ก็ทำให้วงจรทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ไม่เต็มที่หรืออาจจะได้น้อยมาก อันนี้เป็นไปตามทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์มหภาค ผมก็เชื่อว่าทางรัฐบาลทุกรัฐบาล เขามีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆอยู่ทุกประเทศ ที่เป็นที่ปรึกษาของเขาอยู่แล้ว ผมคงมิบังอาจเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนแน่นอนครับ ผมจึงเห็นด้วยกับอาจารย์ที่ให้ความเห็นมาว่า เขาอาจจะเลือกเอาเรื่องของเม็ดเงิน ที่ปัจจุบันนี้เมียนมาขาดแคลนทั้งในคลังรัฐบาล เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และเม็ดเงินที่เป็น M1,M2,M3 ที่กระจายอยู่ในตลาดเงินภายในประเทศของเขา อย่างไรก็ตาม คงต้องเลือกทำในสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด อีกทั้งต้องเลือกทำในเรื่องที่เป็นไปได้มากที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุดด้วย จึงจะเกิดประสิทธิผลนะครับ

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมา ได้ประกาศตัวเลขออกมาหลายตัว ตามที่ท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ท่านเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ได้ส่งข้อมูลมาให้ผมได้ทราบ เช่น ตัวเลขการส่งออกข้าวของเมียนมา และข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศเมียนมา ซึ่งผมต้องกราบขอบพระคุณท่านมาก ที่ส่งข้อมูลต่างๆมาให้ ตั้งแต่ท่านเข้าไปรับตำแหน่งตลอดเวลา ตัวเลขการท่องเที่ยวก็เป็นตัวเลขที่ต้องจับตามองยิ่ง เพราะนั่นเป็นข้อมูลรอบด้าน ที่สามารถบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าเขามีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยภายในประเทศเมียนมามากน้อยแต่ไหนครับ ทีนี้เรามาดูกันสักนิดนะครับ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเมียนมา ในปี 2566 รวมทั้งหมด 1.28 ล้านคน แบ่งเป็นเข้าทางชายแดนประมาณ 1 ล้านคน ที่ขอวีซ่าแล้วเดินทางเข้ามาทางสนามบิน ประมาณ 3 แสนคน ต่อมาเป็นตัวเลขเข้าไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง ตัวเลขนี้หมายรวมทั้งชาวเมียนมาและชาวต่างชาติ ทั้งหมด 10.5 ล้านคน เป็นชาวเมียนมาประมาณ 10 ล้านกว่าคน เป็นชาวต่างชาติ เกือบแสนคน ต่อมาเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน มีทั้งหมด 3 แสนคน เป็นชาวต่างชาติ 1 หมื่นคน เป็นชาวเมียนมา เกือบ 3 แสนคน

จากข้อมูลดังกล่าว เราสามารถรับรู้ได้ว่า ชาวต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับยุคก่อนโรคโควิด-19 ระบาดได้หายไปเยอะมาก ในยุคนั้นมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เดินทางเข้าเมียนมาอย่างคลาคล่ำทีเดียว แสดงให้เห็นว่า การทำสงครามจิตวิทยาการสื่อสารของฝ่ายต่อต้านได้ผลมาก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงไม่ค่อยกล้าเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เข้ามาทางชายแดนเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเข้ามาทางสนามบินมีเพียง 23.5% เท่านั้น ในขณะที่ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง ก็ได้หายไปเยอะมากเช่นกัน ถ้าคนที่เคยไปท่องเที่ยวที่ย่างกุ้งมาก่อน เวลากลางคืนของทุกคืน บนลานรอบองค์พระเจดีย์ชเวดากอง จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวไม่เคยขาด เราเดินไปทางไหน ก็จะกระทบไหล่คนไทยเกือบทุกที่ เสียงพูดคุยกันรอบพระเจดีย์ จะเป็นภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษเกือบทั้งสิ้น แต่วันนี้น่าจะหายไปเยอะแล้วครับ

ส่วนตัวเลขการส่งออกข้าวสาร เท่าที่ผมได้พูดคุยกับลูกค้า ที่เป็นผู้ซื้อข้าวสารจากผม ซึ่งเป็นชาวสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาก็บอกผมว่า ทุกปีเขาจะซื้อข้าวสารที่เป็นข้าวขาว และเป็นข้าวเจ้าหักหรือที่เรียกว่า “ข้าวท่อน” จากประเทศเมียนมา เพื่อนำไปทำเส้นหมี่ขาวและเส้นก๋วยเตี๋ยวเยอะมาก ปีนี้หาซื้อไม่ได้เลย เป็นเพราะรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตส่งออกข้าวออกนอกประเทศ ผมเลยไม่แน่ใจว่าตัวเลขดังกล่าว ถูกต้องมากน้อยเพียงใดครับ

หากเป็นไปตามตัวเลขดังกล่าว ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าตัวเลขคงไม่ผิดเพี้ยนไปจากนี้มากนัก เพราะเป็นตัวเลขที่ทางภาครัฐประกาศออกมา ซึ่งค่อนข้างจะแม่นยำ ก็เป็นที่น่ายินดีที่เข้าสามารถส่งออกได้บ้างแล้ว ในขณะที่การท่องเที่ยว ผมคิดว่าศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมียนมา เขายังมีทรัพยากรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของเขา ก็มีมากเพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งทรัพยากรทั้งหลายนี้ของเขายังมีเหลืออยู่เยอะมาก ก็ต้องการเพียงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเท่านั้น ทั้งนี้เขาต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้ปรากฏออกมาในเชิงบวกให้ได้ การโปรโมทการท่องเที่ยวต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ ที่ไม่ต้องลงทุนมากเลย เอาใจช่วยเมียนมาด้วยกันนะครับ ขอให้เขาประสบผลสำเร็จ เพื่อประเทศเมียนมาจะได้กลับมาอีกครั้งครับ