ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

07 มี.ค. 2567 | 22:00 น.

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980​ ที่ประสานงานรัฐบาลไทยกับอินเดีย​ ​​เชิญพระบรมสารีริกธาตุ​และอรหันตธาตุให้ชาวพุทธบูชาในไทยได้สำเร็จ คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย​ 980​ องค์กรเอกชนที่ช่วย​ประสานงานรัฐบาลอินเดีย​และรัฐบาลไทย​ ​จนสามารถเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ มาร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา​ 6​ รอบ​ 28​ กรกฎาคม​ 2567​ และให้ชาวพุทธ​ในไทยได้สักการะ​บูชา​ ระหว่างวันที่​ 24​ กุมภาพันธ์​ ถึง​ 18​ มีนาคม​ 2567 จนกลายเป็นประวัติศาสตร์​ เพราะรัฐบาลอินเดียหวงแหน​ ไม่ยินยอมให้ใครนำออกนอกสถานที่เด็ดขาด​ เนื่องจากเป็นทรัพย์แผ่นเดินที่หาค่ามิได้​นั้น​

แต่สถาบันนี้เป็นองค์กร​เอกชนที่ไม่แสวงหากำไร​ มี​ ดร.สุภชัย​ วีระภุชงค์​ เป็น​เลขาธิการ​ โดยมูลนิธิ​วีระภุชงค์ มี ดร.วินัย​ วีระภุชงค์ เป็นประธานให้การอุปถัมภ์​ ได้ร่วมกับกรมการศาสนา​ และสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้ติดต่อประสานงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายเดือน​ ในที่สุดรัฐบาลอินเดียก็ยินยอม​ ภายใต้เงื่อนไขการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

 

เมื่อตกลงได้แล้ว​ รัฐบาลอินเดีย​ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูความเรียบร้อย​ล่วงหน้า​ ก่อนที่จะอัญเชิญ​พระบรมสารีริกธาตุ​ มาทางเครื่องบินของทหาร​ เมื่อวันที่​ 23​ กุมภาพันธ์​ 2567

ในเที่ยวบินเดียวกันนี้สมาคมมหาโพธิ​ ที่มีหน้าที่รักษา​ พระอรหันตธาตุ​ของพระสารี​บุตร​เถระ​ และพระโคคัลลานะเถระ ซึ่งเก็บรักษา​ที่สาญจิสถูป​ในมัธยมประเทศ​อินเดีย ได้เดินทางมาพร้อมกัน​ตามที่สถาบันโพธิคยา​ 980​ เชิญด้วย และได้อัญเชิญอย่างสมเกียรติมาประดิษฐานที่มณฑป​ท้องสนามหลวง​ ตั้งแต่​ 24​ ​กุมภาพันธ์​ 2567​ ถึง​ 3​ มีนาคม​ 2567

 

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

 

การที่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า​ และอรหันตธาตุของพระสารีบุตรเถระ​ และพระโมคคัลลานะเถระ​ มาประดิษฐาน​ในที่เดียวกัน​ ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อน​ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกที่มีเหตุการณ์​นี้

ในการนี้​ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี​ ​เสด็จมาถวายเครื่องสักการะบูชา​ ในช่วงเช้าวันที่​ 26​ กุมภาพันธ์​ 2567​ ด้วย

 

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

 

การที่พระบรมสารีริกธาตุ​ และพระอรหันตธาตุมาประดิษฐาน​ให้บูชาอย่างใกล้ชิดนี้ ชาวพุทธ​ได้มากันล้นหลามในที่สุดต้องขยายเวลาเปิดมาเป็น​เวลา ​7.00 น.​และปิด​เวลลา 21.00 น.จากเดิมเปิด​ 9.00 น.​และปิด​ ​20.00 น.​ เพื่อรองรับศรัทธาประชาชน

เมื่อถึงวันที่​ 3​ มีนาคม​ ปิดมณฑปที่สนามหลวง​อัญเชิญไปเชียงใหม่ตามแผนงาน โดยเปิดให้ประชาชนบูชาที่หอคำหลวงจังหวัดเชียงใหม่​ ถึงวันที่​ 8​ มีนาคม 2567

วันที่​10​ ถึง​ 13​ มีนาคม​ เปิดให้ประชาชนบูชาที่วัดมหาวนาราม​ จังหวัดอุบลราชธานี

และวันที่​ 15​ ถึง​ 18​ มีนาคม​ เปิดให้ประชาชนบูชาที่วัดมหาธาตุ​วชิรมงคล​ จังหวัดกระบี่

ผู้ที่เกี่ยวข้องและชาวพุทธ​ สรรเสริญว่า​ งานนี้เป็นความสำเร็จ​อย่างเยี่ยม ดังที่ ​มาริษ เสงี่ยมพงษ์​ ที่ปรึกษา​รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ​ และอดีตเอกอัครราชทูต​ได้เขียนแสดงความเห็นสรุปว่าเป็นความสำเร็จ​ของสถาบันโพธิคยา ​980​ ​ที่มีคุณอ๊อด​ สุภชัย​ เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง

นายกรัฐมนตรี​ เศรษฐา ทวีสิน​ เห็นความสำคัญ​ ในเรื่องนี้จึงมอบของขวัญและ Message ผ่านคุณอ๊อด​ ขอบคุณที่ทำให้คนไทยมีความสุขทั้งประเทศ​พร้อมทั้งให้ดำเนินการ​อย่างต่อเนื่อง​ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน

 

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

 

ความสำเร็จดังกล่าวองค์กรนานาชาติ​ต้องการลงนาม​ ​MOU ด้วยหลายองค์กร โดยเฉพาะในช่วงที่นายกรัฐมนตรี​เศรษฐา​จะเยือนอินเดีย​ และพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย​ นาย​ ​Modi การทั้งหมดนี้ยืนยันแนวคิด​ "ธรรมวิชัย​ สู่ศตวรรษ​แห่งธรรม" 

"กำเนิดสถาบันโพธิคยา"

สถาบันโพธิคยา 980​​ นั้น​ เป็นองค์​กรเอกชน​ ตั้งขึ้นเมื่อ​ พ.ศ.2550 โดยคณะบุคคลที่ไปอุปสมบท​ที่พุทธคยา​ เพื่อถวายพระราชกุศล​ ในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา​ 80​ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช​ บรมนาถบพิตร

บุคคลที่มีชื่อเสียงในการอุปสมบทครั้งนั้น​เช่น​ ชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ​ สุภชัย​ วีระภุชงค์​ รองประธานกรรมการ​ บริษัทไทยนครพัฒนา​ จำกัด​(ผู้ผลิตยา​ประจำ​บ้าน​ เช่นทิฟฟี่​) ​นายเกษม มูลจันทร์​ อดีตรองอธิบดี​กรมควบคุมประพฤติ​ เป็นต้น

เมื่อครบกำหนด​ ต่างก็ลาสิกขา​ แต่เพื่อเป็นทีระลึก​และตอบแทนคุณพระพุทธศาสนา​ จึงมีมติตั้งสถาบันโพธิคยา​ 980​ เพื่อส่งเสริมการศึกษา​พระพุทธ​ศาสนา​ขึ้น​ โดยมี (อดีต)​ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์​ (สมศักดิ์) ​เจ้าคณะใหญ่หนกลาง​ กรรมการมหาเถรสมาคม​และเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม​ เป็นประธานที่ปรึกษา​ และพระธรรมโพธิวงศ์​ ​หัวหน้าพระธรรมทูตไทยอินเดีย​ เนปาล​ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา​เป็นที่ปรึกษา

โครงการแรกนำพระสงฆ์​ 31 ​องค์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึกที่อินเดีย​ ระหว่างวันที่​ 4​ สิงหาคม​ ​ถึง​ 10​ พฤศจิกายน 2552 และจัดแบบเดียวกันติดต่อกันทุกปี​ถึงรุ่นที่​ 6​ ​พ.ศ.​2557

โครงการที่​ 2​ จัดธรรมยาตรา​ 5​ ​แผ่นดิน คือนำพระสงฆ์​ ญาติธรรม​ เยือน​ เมียนมา​ สปป​ ลาว​ เวียตนาม​ กัมพูชา​ และไทย​  ระหว่างวันที่​14​ ถึง31​ ตุลาคม​ 2562

และโครงการที่​ 3​ คือการอัญเชิญ​พระบรมสารีริกธาตุ​ และพระอรหันต​ธาตุจากอินเดีย​ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว​ เนื่องในโอกาศมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา​ 6​ รอบ​ วันที่​ 28​ กรกฎาคม​ 2567​ และส่งเสริมความสัมพันธ์​ระหว่างอินเดีย​ และไทย​ นับ​เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม"​ ธรรมยาตราจากมหานทีคงคา​ สู่ลุ่มน้ำโขง" ในวันที่​ 23​ กุมภาพันธ์​ 2567​ ถึง​ 18​ มีนาคม​ 2567​

 

ทำความรู้จักสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980