ทางออกไทย-กัมพูชา ต้องไม่จบด้วยเสียงปืน

11 มิ.ย. 2568 | 05:08 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 10:46 น.

ทางออกไทย–กัมพูชา ต้องไม่จบด้วยเสียงปืน : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4014

ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ได้ส่งผลสะเทือนต่อทั้งระดับความมั่นคง ภาคประชาชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ติดต่อกันอย่างเป็นลูกโซ่ แม้ล่าสุดจะมีสัญญาณคลี่คลาย เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงจะปรับกำลังทหารกลับสู่แนวชายแดนเดิมตามข้อตกลงปี 2567 แต่คำถามใหญ่คือ ความสงบนี้จะยั่งยืนเพียงใด หากรากเหง้าของข้อพิพาทยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วยวิถีทางสันติ

จุดปะทะที่เกิดขึ้น แม้จะอยู่ในพื้นที่ไร้การปักปันเขตแดนอย่างชัดเจน แต่ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นชัดเจนยิ่งกว่า ไม่เพียงทหารหนึ่งนายของกัมพูชาต้องสังเวยชีวิต หากแต่ด่านชายแดนหลายแห่งต้องลดชั่วโมงการให้บริการ แรงงานและพ่อค้าแม่ค้าในเขตแดนเดือดร้อนทันที การค้าชายแดนที่เคยมีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี ถูกบีบให้หดตัวจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความมั่นคง

ขณะเดียวกัน การที่กัมพูชาขู่จะยื่นเรื่องเข้าสู่ศาลโลก (ICJ) เพื่อชี้ขาดปัญหาเขตแดน ก็ดูจะสวนทางกับท่าทีของไทย ที่ต้องการรักษากลไกการเจรจาทวิภาคีไว้เป็นหลัก ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจที่ยังมีอยู่อย่างเข้มข้น การสื่อสารระหว่างรัฐบาลทั้งสอง จึงต้องมีมากกว่าการออกแถลงการณ์ แต่ต้องมีแผนร่วมที่ชัดเจนในการหาทางออกเชิงโครงสร้าง

ทิศทางสถานการณ์ ณ ขณะนี้แม้จะ “นิ่ง” แต่ยังไม่อาจเรียกว่า “นิ่งนอนใจได้” หากการเจรจาผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ไม่สามารถสร้างความเข้าใจร่วมในหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.การยอมรับแนวเขตที่ชัดเจนบนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ร่วมและเอกสารสากล 2.การไม่ใช้กำลังทหารเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง และ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชนชายแดนในกระบวนการตัดสินใจ

ในระหว่างนี้ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต้องแสดงภาวะผู้นำด้วยการ “ไม่พูดยั่วยุ” และ “ไม่กระทำการโดยพลการ” โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลปลอมและข่าวลือสามารถจุดไฟความเกลียดชัง และสามารถลุกลามได้เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งความโปร่งใสในทุกขั้นตอนการเจรจา และการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา คือเกราะป้องกันความรุนแรงที่ดีที่สุด

สุดท้ายนี้ ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จะไม่มีวันจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายใด หากแต่จะจบลงด้วยการสูญเสียร่วมกัน หากปล่อยให้ “ประวัติศาสตร์แห่งบาดแผล” มากลบเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการเพียงชีวิตที่สงบ อาชีพที่มั่นคง และอนาคตที่มั่นใจ

ขณะที่บทเรียนจากประวัติศาสตร์บอกเราว่า การยื้อแย่งพรมแดนไม่เคยมีผู้ชนะที่แท้จริง และประชาชนสองประเทศก็ไม่มีทางได้ประโยชน์จากสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต้องใช้โอกาสของการประชุม JBC ที่กำลังจะมาถึง ในการกำหนด “กรอบความร่วมมือใหม่” ที่ไม่ยึดติดอยู่กับท่าทีแบบชาตินิยม หากแต่ต้องยึดแนวทางแบบ “ร่วมพัฒนา-ไม่แบ่งแยก”

สงครามไม่ควรเป็นคำตอบ และสันติภาพไม่ควรเป็นแค่คำขอ ถึงเวลาแล้วที่ไทยและกัมพูชาจะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ ที่ไม่จบลงด้วยเสียงปืน

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 45 ฉบับที่ 4,104 วันที่ 12 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2568