svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

อย่าให้พักหนี้เกษตรกร กลายเป็น “ติดกับดักหนี้”

30 กันยายน 2566

อย่าให้พักหนี้เกษตรกร กลายเป็น “ติดกับดักหนี้” บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3927

หลังรัฐบาล “เศรษฐา 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเริ่มปฏิบัติภารกิจมีการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ได้เร่งเครื่องเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศเต็มสูบ ผ่านไปยังไม่ถึงเดือนมีการอนุมัติในหลายมาตรการ เรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้อย่างอื้ออึง

ทั้งลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร คงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต่อไปอีก 1 ปี วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถานจูงใจเที่ยวไทยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี (1 ต.ค. 66-30 ก.ย.67)

ส่วนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท ให้กับประชาชน 56 ล้านคน ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 3 ต.ค.นี้จะมีการนำเสนอ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในรายละเอียด มีเป้าหมายเริ่มดำเนินการได้ ในวันที่ 1 ก.พ. 67 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 400 บาท คาดจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายยังไม่มีข้อสรุป

 

จะเห็นได้ว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ได้เลือกมาตรการที่โดนใจคนไทย และภาคธุรกิจมาเป็นอันดับต้น ๆ ที่น่าจับตาคือ มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ที่เดิมนโยบายหาเสียงระบุ จะพักหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่รัฐบาลได้เลือกที่จะพักชำระหนี้ชิมลางระยะแรกเป็นเวลา 1 ปีก่อน

โดยจะพักหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยตามความสมัครใจ สำหรับเกษตรกรกรายย่อยลูกหนี้ ธ.ก.ส. เกือบ 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวมเกือบ 3 แสนล้านบาท คุณสมบัติต้องมีเงินต้นคงเป็นหนี้เหลือในทุกสัญญา ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ไม่เกิน 3 แสนบาท มาตรการพักชำระหนี้ครั้งนี้ คาดจะใช้งบราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยในปีแรกได้อนุมัติวงเงิน 12,000 ล้านบาท ในการจ่ายดอกเบี้ยทดแทนเกษตรกร

 

ย้อนรอยนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลในครั้งนี้ ถูกวางไว้ภายใต้เป้าหมายการเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ช่วยลดภาระจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุเกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 4.5 แสนบาทต่อครัวเรือน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรสามารถทำได้ แต่ต้องมีนโยบายเพิ่มรายได้ควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างกับการสร้างกับดักหนี้ให้กับเกษตรกร เพราะเมื่อพักหนี้แล้วเกษตรกรจะไม่สามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.มาลงทุนใหม่ได้ ทำให้การหารายได้เพิ่มไม่เกิดตาม

อย่างไรก็ดี มติ ครม.จะมีงบอีก 1,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่พักหนี้เพื่อเข้าร่วมโครงการยกระดับศักยภาพในการทำการเกษตร ดังนั้น ในเรื่องนี้จะต้องมีรูปธรรมของแผนปฏิบัติการ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ และบังเกิดผลตามเป้าหมายอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้วมาตรการพักชำระหนี้ หากไม่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง อาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของนโยบาย และกลายเป็นการสร้างกับดักให้เกษตรกรมีหนี้ไม่รู้จบ