เริ่มชีวิตใหม่ของชาวเมียนมา

13 มิ.ย. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ผมเริ่มจะเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมาใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ประเทศเมียนมาได้ผ่านมรสุมต่างๆมามากมาย ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศเมียนมา ก็ได้เริ่มที่จะมองเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะช้าจะเร็วก็ตาม 


แต่ก็ยังคงมีข่าวที่เราอาจจะเห็นในไลน์ของกลุ่มต่างๆ ที่ส่งมาให้ดูถึงการออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ ว่าอาจจะเกิดความรุนแรงใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยส่วนตัวผมด้วยความเคารพ ผมไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นโดยเร็วครับ

ในขณะที่สถานการณ์จริง ที่มีเพื่อนๆและอาจารย์เปิ้ล ที่ได้เดินทางเข้าไปสู่ประเทศเมียนมาแล้ว ได้ส่งข่าวมาให้ผมทราบว่า การเดินทางของประชาชนชาวเมียนมาเอง ก็เริ่มที่จะกลับเข้าสู่ปกติแล้ว จะเห็นว่ารถยนต์โดยสารสาธารณะ ที่เป็นการเดินทางระหว่างเมือง โดยเฉพาะจากกรุงย่างกุ้งสู่เมืองมัณฑเลย์ เต็มเกือบจะทุกเที่ยว 


ส่วนที่เดินทางไปเมืองอื่นๆ ผู้โดยสารก็เริ่มหนาตามากขึ้น ไม่เหมือนช่วงแรกๆ ที่ผ่านมา อีกทั้งสายการบินภายในประเทศ ก็ได้ทราบข่าวว่า มีผู้โดยสารที่มากขึ้นเช่นกัน นั่นแสดงว่าเริ่มมีความสงบเกิดขึ้นบ้างแล้ว 

ดังนั้นส่วนตัวผมเอง ก็คาดหวังว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง เพราะจะทำให้มีปัญหาทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับประเทศนี้อีกครั้งครับ
       

ในขณะที่การค้า-ขายในกรุงย่างกุ้ง ตามที่ได้รับรายงาน แม้ Supply for money หรือกระแสเม็ดเงินในท้องตลาด จะยังคงมีปัญหาขาดแคลนอยู่บ้าง แต่การค้า-ขาย แม้จะไม่ได้สะดวกหรือลื่นไหลเหมือนช่วงยุคประชาธิปไตย แต่ก็ยังคงดำเนินไปด้วยดี 


การชำระเงินของผู้ซื้อ ที่เป็นรายย่อยจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ จะมีก็เพียงผู้ค้าส่งหรือผู้ค้ารายใหญ่ที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เขาเองก็ต้องการความอยู่รอดทางธุรกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเสาะแสวงหาทางออกของการดำเนินธุรกิจอยู่ดีครับ
      

สิ่งหนึ่งที่เป็นความคิดส่วนตัวของผม ผมคิดว่านักธุรกิจก็เปรียบเสมือนน้ำ ที่จะต้องไหลไปสู่ที่ต่ำเสมอ ฉันใดก็ฉันนั้น การเสาะแสวงหาทางออกของนักธุรกิจ จะเป็นธรรมชาติในการดิ้นรนหาทางออก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้เสมอครับ 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักธุรกิจชาวเมียนมา ที่เขาได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างมากมาย หลายครั้งหลายหนไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ทางชายแดนฝั่งจังหวัดเชียงราย ผมก็เห็นครอบครัวของเพื่อนๆ ชาวเมียนมา ที่ส่งบุตรหลานข้ามประเทศเข้ามาเรียนหนังสือด้วยกันที่บนดอยแม่สะลอง 


ครอบครัวเขาผ่านประสบการณ์ล้มแล้วลุกมาโดยตลอด ทำให้เขาไม่มีความรู้สึกท้อแท้หรือพ่ายแพ้ต่อชะตาชีวิตเลย ในทางตรงกันข้ามกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเขามีมุมมองโลกอีกมิติหนึ่งที่ต่างจากชาวไทยเรา ซึ่งต้องบอกว่าเขาปรับตัวได้ดีกว่าเรามากนั่นเองครับ
      

การดำเนินชีวิตของนักธุรกิจชาวเมียนมานั้น อาจจะเป็นโอกาสเริ่มต้นใหม่กันอีกครั้งในห้วงเวลานี้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นมา ก็ไม่คิดว่าเขาจะท้อแท้เช่นเดิมครับ ยังคงเข้มแข็งและบากบั่นต่อสู้กันต่อไป 


แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเชื่อว่าเขาเองมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก สังเกตดูเมื่อเวลาคุยกันกับเพื่อนๆ ชาวเมียนมา เขาจะไม่ค่อยไว้วางใจผู้อื่นมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเคยถูกชาวต่างชาติหลอกลวงมาแล้วหลายชั่วอายุคน 


อีกทั้งยังเข้ามาประเทศเขาเพื่อเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด ทำให้เขาไม่ค่อยจะไว้วางใจชาวต่างชาติมากนัก เมื่อต้องดำเนินชีวิตใหม่อีกครั้ง ผมก็เชื่อว่าเขาจะยังคงมีความไม่ไว้วางใจเหมือนเช่นเคย
     

ดังนั้นในช่วงจังหวะเวลานี้ จึงเป็นช่วงที่เราในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด เราจึงควรจะต้องรีบดำเนินการโดยวิธีการใดก็ได้ ที่จะทำให้เขามีความเชื่อมั่นเรา โดยเราต้องแสดงออกถึงความจริงใจกับเขา และให้ความช่วยเหลือเขาในยามที่เขาตกทุกข์ได้ยากนี้ 


นั่นจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เขาได้ เราต้องไม่ปล่อยให้คู่แข่งที่เป็นประเทศอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เข้าไปแย่งชิงตลาดของประเทศนี้ไปจากเรา เพราะต้องไม่ลืมว่า ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มากที่สุดในภูมิภาคนี้ 


แต่เขาไม่มีโอกาสเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองของเขา ดังนั้นถ้าหากเราสามารถใช้ความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ที่เรามีพรมแดนยาวติดกับประเทศเขา มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้เขาใช้เราเป็นประตูทางออกด้านการตลาด ในการเปิดตลาดต่างประเทศให้เขา 


อีกทั้งใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่เหนือกว่าเขา มาเป็นใบเบิกทางในการผลิตสินค้า และผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้แก่เขา และทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ Win / win Situation  ผมเชื่อว่านี่จะเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดเลยครับ