เสียงจากหัวใจของเพื่อนนักธุรกิจชาวเมียนมา

08 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ประเทศเมียนมาในยุคนี้ ช่างมีปัญหาไปเสียหมดทุกเรื่อง เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีเพื่อนรักคนหนึ่งจากเมืองย่างกุ้ง ได้เดินทางมาตรวจสุขภาพที่กรุงเทพฯ เขาได้เข้ามาพบผมที่บริษัท เราได้นั่งเสวนาถึงสภาพของประเทศเมียนมาในยุคปัจจุบันนี้ 


ผมเองจะเป็นฝ่ายรับฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ได้เข้าไปเมียนมานานเกือบสองปีครึ่งแล้ว จึงไม่สามารถทราบความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศเมียนมาได้สักเท่าไหร่ ก็มีแต่เรื่องความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้น จึงได้แต่คอยพยักหน้ารับฟังไป ไม่กล้าที่จะให้ความเห็นมากนัก

เพื่อนได้เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันนี้มีกลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพ ต้องพบกับปัญหาที่รุมเร้าเข้าสู่ประเทศเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่เฉพาะนักธุรกิจเท่านั้น ที่มีปัญหาการค้าการขาย นักวิชาชีพเองก็มีปัญหาไม่แพ้กัน 


ซึ่งสืบเนื่องมาจากโรคระบาด COVID-19 ที่ร้ายแรงมาก อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งผมเองก็ได้แต่ปลอบใจว่า ปัญหาโรคระบาดนั้น เป็นปัญหาของคนทั้งโลก เราไม่สามารถที่จะไปกล่าวโทษใครได้ เพราะมนุษย์ทั้งโลกล้วนประสบปัญหาเช่นเดียวกัน 
 

ดังนั้นเราต้องฝ่าฟันกันต่อไป ต้องเดินหน้าให้ได้ แม้จะได้รับผลที่เราคาดไม่ถึงก็ตาม ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่รอดมาได้ เราต้องขอบคุณเทพยดาฟ้าดินแล้ว ส่วนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อนเมียนมาก็พยายามจะนำขึ้นมาพูดคุยกับผม ผมก็ได้แต่นั่งเงียบ ไม่กล้าเอ่ยปากพูดหรือพยักหน้า 


เพราะแม้เราจะเป็นคนที่เคยรู้จักมักคุ้นกันดี แต่หลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้น เราก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นใครกันแล้ว หากเผลอแสดงความคิดเห็นออกมา หากไม่โดนใจ อาจจะกลายเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ไปก็เป็นไปได้ครับ
   


มีอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อนได้ถามผมว่า มีใครมาขอความช่วยเหลือด้านการเงินบ้างหรือเปล่า? ผมก็บอกว่าผมมีเพื่อนทั้งสองสามฝ่าย แน่นอนว่าเพื่อนทุกฝ่ายที่เข้ามาหาผม ย่อมมีบ้างที่จะขอให้ช่วยสนับสนุน แต่ผมก็ได้ปฏิเสธไปหมด เพราะเราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าผลร้ายที่จะตามมา อาจจะเกิดได้ทุกทาง เพราะต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลยุคไหนๆ ของเมียนมา เขามีความเชี่ยวชาญด้านการสืบราชการลับมากๆ 


ถ้าเผลอไปให้เงินให้ทอง รับรองว่าไม่ต้องไปหาหมอดูที่ไหน ก็รู้ว่างานเข้าทัวร์ลงแน่นอนครับ ดังนั้นเปลี่ยนเรื่องคุยจะปลอดภัยที่สุดครับ
   


เพื่อนเขาชวนคุยเรื่องเศรษฐกิจที่เมียนมา ซึ่งพอจะเข้าทางของผมมากกว่า เขาบอกว่า ปัจจุบันนี้มีคนตกงานเยอะมาก ผมก็บอกว่าผมเองก็รู้และเข้าใจได้ อีกทั้งมีเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายครั้ง เขาก็พูดต่อว่า ในยุคนี้ร้ายแรงกว่ายุคปี 1988 เยอะมาก ผมก็เห็นด้วยในความเห็นของเขา และได้อธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ให้เขาฟังว่า 


เราเองคงต้องดูสถานการณ์ของโลกใบนี้ ให้เป็นภาพใหญ่หรือมหภาคมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้โลกแคบลงไปมาก การสื่อสารก็ค่อนข้างเร็วกว่าอดีตมาก การเดินทางไปมาหาสู่กันก็เปรียบกับอดีตไม่ได้เลย 


ดังนั้นผลกระทบที่ตามมาก็ย่อมรุนแรงกว่ามาก อย่าไปกล่าวโทษใครเลยครับ ไม่ว่าเทวดาเก่งกาจขนาดไหน ถ้าเจอกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็ไปไม่เป็นเหมือนกันหมดแหละ 
 

ส่วนเรื่องการตกงาน เมื่อการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา ชาวเมียนมาที่เป็นนักธุรกิจเอง ก็ต้องออกมาช่วยกัน ไม่ใช่กระโดดเรือหนีตายก่อนใครๆ เพราะถ้าทุกคนหนีกันหมด ประเทศก็ไปไม่รอด 


ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างงานในประเทศให้ได้ ประเทศไทย ก็เคยเจอปัญหามาแล้วหลายหน แต่ยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ เพราะฉะนั้นอยากให้ดูประเทศไทยเป็นตัวอย่าง แต่ขอร้องว่าเอาตัวอย่างที่ดีไปใช้เท่านั้นนะ อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ต้องเอาไป ทิ้งไว้ที่นี่แหละ...
 

คำพูดที่ทำให้ผมสะดุดจากการเจรจา มีอยู่ตอนหนึ่งเขาพูดว่า ประเทศเมียนมาที่กำลังมีวิกฤติอยู่ในเวลานี้ ถ้าเพื่อนบ้านอย่างไทยจะถือเอาเป็นโอกาสได้ เขาจะดีใจเป็นอย่างยิ่ง เขาไม่อยากให้โอกาสนี้ตกอยู่ในมือของชาติอื่นๆ ที่ในวันที่เขายากลำบาก ไม่เคยเข้ามาเหลียวแลเขา แต่พอมีโอกาสก็กระโดดเข้ามากอบโกย มีแต่ไทยเราเท่านั้น ที่ดูดำดูดีเขามากกว่าใครๆ 


ผมฟังแล้วก็คิดตามครับ แม้ใจหนึ่งจะยินดีปรีดา แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องเศร้าสลดใจแทนเขา เพราะนั่นคือคำพูดที่ออกจากอารมณ์ความรู้สึกของชาวเมียนมา ในขณะที่เราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด เราก็ไม่อยากเห็นชะตากรรมที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านเราหรอกครับ 
   

สิ่งที่เขาพูดถึงโอกาสนั้น มีอยู่มากมาย ทั้งการค้า-การขาย ที่ประเทศเมียนมายังคงต้องการสินค้าเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ แต่การลงทุน เราคงไม่สามารถมองได้ว่าเป็นโอกาส เพราะหากเหตุการณ์ไม่สงบ แน่นอนว่าความเสี่ยงยังมีอยู่สูงมาก 


อีกอย่างที่เป็นโอกาสของเรา คือแรงงานที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ความต้องการใช้แรงงานของในประเทศเมียนมา กลับลดลงอย่างมาก ดังนั้นกำลังแรงงานเหล่านี้ ถ้าเราสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ใหญ่หลวงทีเดียว เพียงแต่ต้องได้มาอย่างเหมาะสม และมีผลตอบแทนให้เขาในลักษณะที่สมประสงค์กันทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่านี่จะเป็นโอกาสอันดีงาม ที่ได้ทั้งการช่วยเหลือเขาและช่วยเราด้วยครับ