มรรยาททนายความกับโรคหิวแสง

26 เม.ย. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ในช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ติดตามข่าวสารผ่านสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าทาง ทีวี., วิทยุ, หนังสือพิมพ์ หรือ สื่อออนไลน์ ที่มีอยู่หลายสิบสำนักข่าว ต่างแข่งขันกันนำเสนอข่าวอย่างเร้าร้อน ท่านทั้งหลายคงได้เสพข่าวสารการออกมาพูด แถลง หรือแสดงความคิดเห็นของบรรดาทนายความ แถมพ่วงด้วยพวกทะแนะ 


อันเกี่ยวเนื่องกับคดีต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างครึกโครมอยู่ในขณะนี้ อาทิ คดีน้องแตงโม ที่เกิดเหตุเสียชีวิตด้วยสาเหตุตกจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา(โดยอุบัติเหตุหรือมีคนอื่นทำให้เสียชีวิต) , คดีข่มขืนลวนลามทางเพศ บรรดาหญิงสาว จากนักการเมือง และคดีการบุกค้นจับและปิดเว็บไซต์ 
บรรดาผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งออนไลน์เกินราคาที่สำนักงานสลากกินแบ่งกำหนด
 

ท่านที่ได้ติดตามและเสพข่าวสารดังกล่าว คงได้เห็นบทบาทของบรรดาทนายความ รวมถึงบรรดานักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ บรรดาผู้อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ออกมาแสดงตนให้ปรากฏเป็นข่าว ไม่ว่าในเรื่องคดีที่กล่าวถึง หรือเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องที่ผ่านมาแล้วโดยทั่วกัน 


เห็นแล้วท่านจะรู้สึกอย่างไร คิดเหมือนผู้เขียนหรือไม่ว่า บรรดาทนายความและบุคคลเหล่านั้น ทำไมขยันทำตนให้เป็นข่าวกันนัก ทั้งๆ มิใช่เรื่องของตน ไม่ได้เป็นญาติเกี่ยวข้องอะไรกับผู้เสียหาย คำถามคือ พวกเขากำลังทำอะไร? ใช่การปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง เหมาะสมและสมควรแก่การปฎิบัติหน้าที่ของตนหรือไม่ 
 

ทำไมต้องนำเรื่องในคดีมาแถลงจ้อเป็นรายวัน และสิ่งที่พูดและแถลงนั้น ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่? อยู่ในกรอบของข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความหรือไม่? เป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกความ หรือเพื่อการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง และบ่อยครั้งการแถลงมีลักษณะเสมือนเหยียบศพคนตาย เพื่อสร้างความดังให้ตน ประจานผู้เสียหายแบบข่มขืนซ้ำเข้าไปเสียอีก 


เพราะบางเรื่องบางกรณี ก็เกิดเหตุข้ามปี ส่อว่าคดีขาดอายุความไปแล้วก็มี ข้อเท็จจริงยังไม่แน่นอนว่า จะเอาผิดดำเนินคดีได้หรือไม่ แค่ไหนเพียงใด แต่ทนายก็แถลงด้วยความเมามันสนุกปาก แถมได้ออกกล้องและได้ชื่อว่าเป็นทนายดังไปชั่วข้ามคืน 


นี่คือบรรยากาศทางสังคม และเป็นปัญหาที่อยู่ในข้อสงสัยของผู้เขียน และประชาชนจำนวนมากที่ติดตามข่าวตลอดมา ผู้เขียนเองก็พบเจอคำถามทำนองนี้ จากผู้คนที่รู้จักเสมอๆ จึงอดไม่ได้ ที่วันนี้ต้องขอพูดเรื่องนี้ ด้วยความปารถนาดี เพื่อเตือนสติบรรดาทนายความและคนหิวแสงทั้งหลายว่า พึงกระทำและใช้ดุลยพินิจในการพูดและการแถลงใดๆ ด้วยวิจารณญาณและด้วยความระมัดระวัง เพราะสิ่งที่พูดและกระทำอาจย้อนมาเป็นภัยกับตัวท่านได้


โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ อันถือเป็นอาชีพของบุคคลที่ทรงเกียรติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของสังคมอาชีพหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน ทุกคนที่ประกอบวิชาชีพนี้ ต่างรู้ดีว่าตนต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย พรบ.ทนายความ พ.ศ.2528 ซึ่งทนายความ หมายถึงผู้ที่สภาทนายความได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความเท่านั้น จากบุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามาตรา 35 ซึ่งปัจจุบันบุคคลที่จะเป็นทนายความได้ เมื่อได้ผ่านการฝึกอบรมมรรยาททนายความ หลักปฎิบัติเบื้องต้นในการว่าความ และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว 


เว้นแต่ผู้ยื่นคำขอเป็นทนายความ จะได้ผ่านการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีเท่านั้น จึงจะสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นทนายความได้ตามกฎหมาย และเมื่อประกอบวิชาชีพทนายความ ทนายความทุกคนก็ต้องปฎิบัติตนตามข้อบังคับ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งออกมาเพื่อเป็นหลักกำกับการประกอบวิชาชีพของทนายความทุกคนอีกด้วย


แต่สิ่งที่เห็น “ทนายความ” ในยุคปัจจุบันสร้างชื่อเสียง กลับแตกต่างจากยุคอดีตไปมาก ทนายความบางคนพยายามสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองโดยอาศัยสื่อรูปแบบต่างๆ ส่วนหนึ่งมักจะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ หรือแสดงความคิดเห็นถึงรายละเอียดในคดี หรือนำเรื่องส่วนตัวและคำบอกเล่าข้อเท็จจริงของลูกความที่ให้กับทนายความมาเปิดเผย 


ทนายความบางคนมีการนำเสนอภาพและคลิปเสียงมาเปิดเผย อวดอ้างตนเองว่ารู้ข้อมูลลึกเป็นอย่างดี แถมเปิดเผยความลับของลูกความที่ตนได้รู้ในหน้าที่ โดยไม่ทราบว่า ได้รับอนุญาตจากลูกความ หรือ โดยอำนาจศาลแล้วหรือไม่ บางครั้งในการพูดหรือการแถลง และการให้สัมภาษณ์สื่อ ก็มีการกล่าวหาพาดพิงไปถึงผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลภายนอกที่มีชื่อเสียง ในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นผู้อื่น 


แถมทำตนเป็นศาลตัดสินคดีไปก่อนแล้วว่า เรื่องนี้ผิดแน่ๆ ต้องถูกลงโทษเท่านั้นเท่านี้ เพื่อให้ข่าวและเรื่องที่ตนสัมภาษณ์หรือแถลงเป็นข่าวครึกโครม น่าสนใจ ทั้งที่ข้อเท็จจริงอาจไม่แน่นอน หรือ อาจโดนคู่กรณีฟ้องกลับเอาได้ อาจพลอยทำให้ตนกับลูกความซวยไปโดยใช่เหตุ 


บางคนก็อวดอ้างว่าตนมีความรู้เก่งกาจกว่าทนายคนอื่นๆ ตนมีเส้นสายพรรคพวกเยอะ มีความสามารถพิเศษนอกจากทางว่าความ เรียกว่าสร้างราคาให้กับตนเองเพื่อให้ลูกความเชื่อมั่น หรือเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเก่งกว่าทนายคนอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ กลายเป็นข่าวและเรื่องให้พบเห็นกันแทบทุกวัน ผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ 


ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่เข้าข่ายอาจเป็นความผิดต่อมรรยาททนายความต่อตัวความทั้งสิ้น เพราะเมื่อคดีส่งถึงพนักงานอัยการ และพิจารณาในชั้นศาลแล้ว ยังไม่มีใครรู้ว่าท้ายที่สุดผลการพิจารณาคดีในชั้นอัยการและศาลจะเป็นอย่างไร คดีจะแพ้ชนะหรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ ทนายความดังไปแล้ว ส่วนคดีความอัยการอาจสั่งไม่ฟ้องหรืออาจแพ้ในชั้นศาลก็เป็นได้ 


ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ศาลเป็นผู้พิพากษามิใช่ทนายความเป็นผู้พิพากษา ซึ่งผลคดีอาจเป็นคนละเรื่องกับที่ปรากฏเป็นข่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ถึงเวลานั้นลูกความก็อาจเสียหายย่อยยับ ต่อชื่อเสียงและเสียหายในด้านอื่นๆ ไปมากจนเกินเยียวยา หรือถูกข่มขืนซ้ำไปแล้วหลายรอบ คนตายถูกกระทำย่ำยีเป็นตายซ้ำไปหลายหน นี่คือสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมโซเชี่ยล ที่ทนายความคนอยากดังเพราะหิวแสงมีอยู่เกลื่อนเมือง กำลังแสดงบทบาทแบบนี้มากขึ้นทุกวัน


อันที่จริง ทนายความที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ประกอบวิชาชีพด้วยความมีฝีมือ มีศิลปะในทางว่าความ ใช้ความรู้ความสามารถต่อสู้คดีในทางกฎหมาย ว่าความชนะคดีมาเป็นร้อยมีมากมาย ที่คลองตนอย่างมีคุณธรรมและศีลธรรม ยึดมั่นในข้อบังคับของสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความโดยครบถ้วนนั้น ประชาชนจะไม่ค่อยได้เห็นคนเหล่านั้น หิวแสง ออกมาพูดสร้างราคาให้กับตนเองด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ 


พวกเขาสร้างชื่อเสียงด้วยผลงานที่มีความรู้ความสามารถพิเศษในทางว่าความในศาล หรือให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ลูกความอย่างชาญฉลาดตามวิชาชีพเท่านั้น คนเหล่านี้จึงเป็นทนายความที่ควรแก่การเคารพนับถือ เพราะพวกเขาเป็นทนายวิชาชีพตัวจริง มิใช่ดังเพราะสื่ออุปโหลก หรือใช้ลูกความเป็นเครื่องมือสร้างชื่อเสียงให้กับตน


เขียนมาถึงตรงนี้ ก็เพียงแต่อยากจะเตือนถึงบรรดาผู้ประกอบวิชาบีพทนายความทั้งหลายว่า อย่าสร้างความดังให้ตนเพราะหิวแสง อย่าใช้เหยื่อ ผู้เสียหาย คนตาย หรือลูกความ มาสร้างชื่อเสียงให้ตนดังเพียงแค่เป็นข่าว และอย่าปฎิบัติตนโดยผิดข้อบังคับมรรยาททนายความ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของทนายความ 


เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจทำให้ดังเร็ว แต่ก็อาจจะดับไว ไม่ยั่งยืน และก็เตือนไปถึงบรรดาบุคคลอื่นๆ ไม่ว่า นักการเมือง หรือ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่พยายามเกาะกระแสสื่อ หยุดผสมโรงหาเสียง สร้างราคาให้กับตนเองเสียทีเถอะ เพราะการกระทำของท่านดังกล่าว มีแต่สร้างความสับสนวุ่นวายในสังคม หากพบว่าการกระทำใดๆ ของเจ้าพนักงานเป็นการกระทำโดยมิชอบ ก็ดำเนินการตามช่องทางตามกฎหมาย หรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ 


ส่วนบรรดาสื่อสำนักต่างๆ ทั้งหลาย ขอเรียนด้วยความเคารพและหวังดีว่า กรุณาอย่าช่วยเขากระพือข่าว อย่าเป็นเครื่องมือคนหิวแสง อย่าให้ราคากับคนที่ไม่มีราคา และอย่ายัดเหยียดข่าวขยะที่รกหูกับประชาชน สังคมมีเรื่องรกรุงรังไร้สาระมากพอแล้ว ประชาชนต้องการความจริง ความถูกต้องดีงามมากว่าสิ่งอื่นใดครับ เพียงแค่นี้ ก็จะหยุดโรคหิวแสงไม่ให้ระบาดในสังคมได้