วางมาสเตอร์แพลนใหม่ฟื้นฟูประเทศ

06 เม.ย. 2565 | 01:00 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายราย ได้ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานบริหารเศรษฐกิจในแต่ละยุคแต่ละช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับมองการพัฒนาเศรษฐกิจไปในระยะข้างหน้าพร้อมกับตั้งข้อสังเกต เป็นข้อมูลให้กับรัฐบาล ตลอดจนฝ่ายวางนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจในระยะต่อไป
 

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงในระยะข้างหน้า การขาดดุลทางการคลังติดต่อกันนาน ภาระการคลังสูงขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาภาครัฐทำนโยบายต่อเนื่องเกี่ยวกับประชานิยม ทำให้ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ฐานะการคลังปัจจุบัน ซ่อนปัญหาระยะยาวไว้เป็นอันมาก เมื่อภาคการคลังไม่สามารถดูแลได้ดีกว่านี้ ภาระจึงตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน หลายปัญหาไม่ได้มาจากภาคธุรกิจหลัก แต่กลับเกิดปัญหาที่ภาคการเงิน ที่ไม่ได้เป็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน

ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้กระทั่งรัฐบาลก่อนหน้าแทบทุกชุด ต่างมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม และโดยส่วนใหญ่เป็นนโยบายประชานิยมที่เป็นการมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลด แลก แจก แถม โดยไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจทั้งระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม
 

แม้กระทั้งในการประชุมครม.นัดล่าสุด รัฐบาลพยายามจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาในทุกมิติและจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมาบรรเทาความเดือดร้อนให้มากที่สุด แม้ถ้อยแถลงจะมีความกังวลอยู่บ้าง ในการระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ที่ยอมรับว่ามีอยู่อย่างจำกัด แต่มีท่าทีที่จะออกมาตรการในลักษณะชั่วคราว 3 เดือนและมาตรการเฉพาะหน้าอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นการอุดหนุนหรือจ่ายเงินที่ไม่ตรงจุด เช่น มาตรการตรึงราคาพลังงานดีเซลในช่วงที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เกิดความสมดุลในแง่ของการใช้จ่ายเงิน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทบทวนโครงการตามนโยบายประชานิยม การใช้เงินที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพโดยเร็ว พร้อมกับการวางแผนบริหารเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาว หลังโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ต้องเริ่มหันมาตั้งหลักวางมาสเตอร์แพลนใหม่ ที่ไม่เป็นภาระในระยะยาว พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น