เรื่องวุ่นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

20 มี.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3767 ระหว่างวันที่ 20-23 มี.ค.2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...


*** กลายเป็นเรื่องวุ่นๆ  ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อ “4 ตุลาการ” เตรียมส่งให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด วรวิทย์ กังศศิเทียม ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  เหตุเพราะมีอายุครบ 70 ปีแล้วหรือไม่
 

*** โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565  ที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าประชุมพิจารณาตามวาระปกติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้หารือกันเกี่ยวกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ของ วรวิทย์ กังศศิเทียม ว่า เมื่อมีอายุครบ 70 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว จะเป็นผู้มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 208 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (1) หรือ (3) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 203 เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด 


*** ขณะที่พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่า ตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18 (1) หรือ (3) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหา ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ดังนั้น ที่ประชุม จึงเห็นสมควรให้ “ตุลาการ” ผู้ที่เห็นว่า มีปัญหาเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งคำร้องของตนไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งคำร้องขอดังกล่าวไปให้เลขาธิการวุฒิสภา เสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาต่อไป

*** มีรายงานข่าวจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ในการประชุม มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ทำหนังสือให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย ส่วนอีก 4 คนเห็นว่า ไม่ต้องส่ง ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้าลงความเห็น แต่ไม่ยอมลุกออกจากที่ประชุม ขณะที่ตุลาการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรพิจารณาวาระอื่นใด หากประธานธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังนั่งอยู่ในที่ประชุม ทำให้ต้องเลื่อนวาระการประชุมอื่นๆ ออกไปทั้งหมด


*** สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 3.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ผู้ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 4.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 6.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 9.นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 


*** กรณีดังกล่าวที่เกิดเป็นปัญหาขึ้น เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2550  มาตรา 208 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ 9 ปี  แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา207 และ มาตรา 208 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการฯ ไว้ 7 ปี และจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 75 ปี ซึ่ง นายวรวิทย์ กังศศิเทียม  เกิดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2495 อายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา และ นายวรวิทย์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2557 จนถึงขณะนี้ถือว่าดำรงตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น ถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 นายวรวิทย์ จะติดเงื่อนไขอายุครบ 70 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าหากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 นายวรวิทย์ ก็จะติดเงื่อนไขดำรงตำแหน่งมาเกินกว่า 7 ปี


*** ขณะเดียวกัน ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 79 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายที่ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18  ซึ่งมาตรา 18 (4) กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่อมีอายุครบ 75 ปี …นี่แหละถึงเป็นปัญหาให้ต้องส่ง “คณะกรรมการสรรหา” วินิจฉัยชี้ขาด


*** ทีนี้หันไปดู “คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มีใครบ้าง  ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 203 ระบุไว้ว่า เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ(3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ …ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสรรหาตาม (2) หรือกรรมการสรรหาตาม (4) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ ...ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด


*** ก่อนหน้านี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ได้เคยหารือกันมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วแรกมี 5 เสียง ขั้วนี้มีแนวทางให้นำรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาฟิวชั่นกัน (หลอมรวมกัน) โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า วรวิทย์ สามารถดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระต่อไปครบ 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และขยายอายุจากไม่เกิน 70 เป็นไม่เกิน 75 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องไว้ 


*** ส่วนขั้วที่สองมี 4 เสียง เห็นว่า ความเห็นของขั้วแรกไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก วรวิทย์ ได้ประโยชน์จากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดว่า ตุลาการฯ ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี ส่วน วรวิทย์ เอง ได้ให้สำนักงานเลขาธิการศาลฯ ยึดเกณฑ์อายุตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดวาระดำรงตำแหน่งให้สามารถขยายอายุจาก 70  ได้ถึง 75 ปี  


*** การพิจารณาอายุการดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ควรจะยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือ รัฐธรรมนูญปี 2560 “คณะกรรมการสรรหา” จะเป็นผู้ชี้ขาด... ช่วงนี้วาระต่าง ๆ ที่บรรจุเป็นวาระการพิจารณาของตุลาการฯ เห็นว่ามี 10 เรื่อง ก็เลยต้องค้างเติ้ง รอไปจนกว่า “คณะกรรมการสรรหา” จะชี้ขาดออกมาว่า  วรวิทย์ กังศศิเทียม จะได้ “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” ...