ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี 2

17 ม.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

“ลูกอิสาน” คำนี้เป็นเครื่องหมายการค้าของลูกผู้ชายที่มี “ความอึดและอดทน หนักเอาเบาสู้” มาช้านาน นับว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวก็ว่าได้ คุณศักดิ์ตัวเอกในเรื่องนี้ ก็ไม่ห่างไกลของความเป็นจริงนี้เลย เขาสู้งานและมีความกล้าเป็นทุน จึงทำให้เจ้านายรักใคร่ อีกทั้งพี่น้องเพื่อนร่วมงานให้ความเคารพรักเป็นอย่างยิ่ง 


จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เกิดความคิดอยากจะเป็นเจ้านายของตัวเองบ้าง จึงได้ลาออกจากงาน เข้าไปในประเทศเมียนมา เพื่อดิ้นรนหาช่องทางในการสร้างชีวิตใหม่ แต่ทุกอย่างไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้เสมอไป จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง แต่ต้องบอกก่อนว่า กว่าจะถึงวันนี้ได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็น 

ดังนั้น น้องๆ ที่อยากจะเอามาเป็นตัวอย่างในการต่อสู้กับชีวิต อ่านแล้วต้องคิดตามนะครับ ผมจะพยายามนำเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
         

ก่อนลาออกจากงาน ได้เดินทางไปดูงานที่เมียนมามาแล้วครั้งหนึ่งครับ ซึ่งเป็นเรื่องของธุรกิจบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ แต่ก็ไม่ได้เห็นอะไรมากมายนัก เพียงแต่เห็นว่าประเทศนี้น่าสนใจ และยังน่าจะมีช่องทางในการทำมาหากินได้ไม่ยาก 
 

เพราะในยุคที่เข้าไปดูครั้งแรกนั้น ทุกอย่างยังคงขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของอาหารการกิน ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนั้นก็ไม่ได้บดบังเอาเวลาของบริษัทไปทำงานของตนเอง 


ต่อมาหลังจากที่ตัดสินใจที่จะลาออกไปดำเนินธุรกิจเองแล้ว จึงได้ลาพักร้อนและติดต่อเพื่อนรัก ที่เคยเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน แต่เขาได้เข้าไปทำธุรกิจที่นั่นแล้ว ว่าอยากจะขอเข้าไปดูตลาดด้วยการขอพักที่บ้านก่อน เมื่อเพื่อนตกลงอนุญาตให้พักด้วยความเต็มใจ คุณศักดิ์จึงได้เดินทางเข้าไปสำรวจตลาดอย่างจริงจังเลยครับ


เมื่อเข้าไปถึงเมืองย่างกุ้ง สถานที่แรกที่ศักดิ์อยากดู คือ “ตลาดสด” เพราะจะได้เห็นสภาพที่แท้จริงของความเป็นอยู่ของชาวเมืองย่างกุ้ง ซึ่งมองไปทางไหนก็มีสิ่งที่น่าทำไปหมด เพราะทุกสินค้าล้วนแล้วแต่ด้อยคุณภาพไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดอาหารแห้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ถึงแม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่การจัดเก็บและการวางขาย ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีเลย 


รวมทั้งภาพรวมของตลาด จะมีการจับจ่ายใช้สอยเยอะมาก เรียกว่าอุปสงค์มีมากมาย แต่สินค้าที่ขายราคาก็แพงกว่าที่ประเทศไทย คุณภาพของสินค้าก็ไม่ได้ดีกว่าของเราเลย แล้วจะทำอะไรออกมาจำหน่ายละ? นี่คือโจทย์ที่จะต้องคิดให้ตกตีให้แตกเท่านั้น


เมื่อเดินสำรวจตลาดยิ่งมากขึ้น ความคิดที่จะมาอยู่ที่เมืองย่างกุ้งก็ยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น สินค้าที่จะผลิตออกมาจำหน่ายก็มีอยู่หลากหลายมากชนิด ความคิดก็บรรเจิดมาก มองไปทางไหนก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แต่ทุนรอนของตนเองก็มีไม่มากมายนัก จึงต้องศึกษาให้ถ้วนถี่ สิ่งที่คุณศักดิ์เห็นดีเห็นงามก็คือ “กระปิและปลาร้า” ที่คุณภาพสินค้าท้องถิ่นแย่มากๆ แต่คนเมียนมาก็นิยมทานกระปิและปลาร้ามาก 


กระปิที่เมียนมาเป็นกระปิที่มีกลิ่นเหม็นมาก อีกทั้งสีสันก็ดำ ดูแล้วไม่น่าทานเลย แต่ชาวเมียนมาก็ทานกันทุกมื้อ เป็นอาหารที่ใช้เป็นอาหารประจำบนโต๊ะคือ “น้ำพริก” ที่ทานกับผักสดผักต้มหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกกระปิ ที่ไม่เหมือนที่บ้านเรา จะเป็นน้ำพริกที่มีสีดำและกลิ่นแรง 


อีกทั้งจะไม่เข้มข้นเหมือนน้ำพริกกระปิของไทยเรา แต่ทุกบ้านจะชอบทานกันมาก ส่วนปลาร้าก็จะเป็นปลาร้าที่ดูแล้วไม่น่าทานเลย เพราะทั้งดำทั้งเหม็นครับ
     

เมื่อมองเห็นและจินตนาการไปว่า ถ้าเราสามารถผลิตกระปิที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับของไทย แล้วนำมาขายในตลาดที่ย่างกุ้ง เราต้องชนะแน่นอน อีกทั้งคิดว่าการผลิตกระปิควรจะต้องไปอยู่ที่ชายทะเล อากาศคงจะบริสุทธิและน่าอยู่ เพราะความเจริญยังไปไม่ถึง และการลงทุนคงจะไม่เยอะเกินกำลังของตนเองเป็นแน่แท้ 


อีกทั้งในท้องตลาดเอง คู่แข่งก็มีแต่เพียงของท้องถิ่น อย่างไรเราก็จะชนะได้ไม่ยาก คุณศักดิ์จึงกระหยิ่มยิ้มย่อง ภาคภูมิใจในความคิดของตนเองเป็นอย่างยิ่ง 
       

เมื่อเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ จึงได้เริ่มเสาะแสวงหาความรู้ในการผลิตกระปิจากหนังสือ ที่มีอยู่มากมาย ด้วยความเป็นอดีตนักศึกษาในสถาบันชื่อดังที่คุณศักดิ์เคยเรียนอยู่ จึงหาข้อมูลได้ไม่ยาก 


แต่ด้วยความที่คุณศักดิ์เป็นคนที่จริงจังมุ่งมั่น สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น จึงลงทุนบุกไปเรียนรู้วิธีการทำกระปิถึงชลบุรี จากการแนะนำของเพื่อนที่มีญาติทำกระปิที่ชลบุรี คุณศักดิ์จึงได้มีโอกาสไปทดลองทำกระปิกับญาติของเพื่อน 


เริ่มตั้งแต่ติดตามเรือประมงน้ำตื้น ที่ใช้การสร้างตะแกงลาก “เคย” ที่เป็นสัตว์น้ำประเภทกุ้งตัวเล็กๆ เรือจะออกหาจับ “เคย”กันตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่าง จนกระทั่งสายๆ จึงหันหัวเรือกลับชายฝั่งทุกวัน และการหมักเคย จัดเก็บเคยมักเพื่อให้เป็นกระปิสำเร็จ นี่เป็นงานที่ไม่เบาเลยทีเดียว 


แต่ด้วยความเป็นลูกอิสาน จึงทำให้คุณศักดิ์พยายามเรียนรู้วิธีการผลิตกระปิ ด้วยความตั้งใจ และพยายามเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ให้หมดทุกเม็ด เผื่อว่าเมื่อลงสนามจริงในประเทศเมียนมา จะได้ไม่ล้มเหลวครับ
         

บางครั้งความพยายามของคน หรือการกำหนดชะตาชีวิตด้วยมือของตนเอง ก็ไม่เท่ากับฟ้าลิขิตครับ อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตของหนุ่มน้อยนักสู้จากอิสาน อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ