โอกาสสำหรับธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณ

14 ม.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้เห็นข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ของนิตยสารอินเตอร์เนชั่นแนล ลิฟวิ่ง (International Living) ชี้ถึงดัชนีชี้วัดอันดับประเทศที่น่าอยู่อาศัยของคนวัยเกษียณ หรือ Global Retirement Index โดยจัดให้ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 1 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก 


โดยเขาจะนำเอาประเทศที่น่าอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด 25 ประเทศ มาวัดความสำคัญในการดำรงชีวิตยามชราของคน แล้วจึงให้คะแนนกันแต่ละด้านกันไป เช่น ด้านความปลอดภัย ด้านค่าครองชีพ ด้านภูมิอากาศ ด้านค่ารักษาพยาบาล ด้านอาหารการกิน ด้านอัธยาศัยไมตรีของประชาชนในประเทศ ความสะดวกในการขอวีซ่าในการเข้ามาพักอาศัย หลักธรรมาภิบาล สิทธิพิเศษอื่นๆ ฯลฯ ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

การให้คะแนนเขาจะใช้วิธีการให้คะแนนตามความสำคัญดังที่กล่าวมา คะแนนที่เขาลงให้เต็มร้อยคะแนน ไทยเราได้ไป 72.9 คะแนน แพ้ประเทศที่หนึ่งคือประเทศปานามา ที่ได้ไป 86.1 คะแนนไปไม่ไกลครับ ส่วนประเทศที่รองลงมาก็มีประเทศคอสตาริกา เม็กซิโก โปรตุเกส เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส สเปน อุรุกวัย เป็นต้น 


ในประเทศแถบบ้านเรา ที่ยังแพ้เราอยู่ไม่มาก ก็มีประเทศกัมพูชา มาเลเชีย อินโดนีเซีย และเวียดนามครับ ซึ่งในประเทศไทยเรามีเมืองที่คนต่างชาติเห็นว่าน่ามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่หลายเมืองด้วยกันครับ เช่น ที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หัวหิน เป็นต้น

ในฐานะคนแก่คนหนึ่งที่ยังไม่ยอมชราหรือเกษียณสักที เห็นแล้วก็ชื่นใจครับ คนเรามักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในแดนสวรรค์ ตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสได้อยู่ในสถานที่ที่ยากลำบากครับ ต้องมีคนมาชี้ให้เราเห็นว่านี่แหละคือ “สวรรค์” เราถึงจะรู้ตัวเสมอ 


อย่างไรก็ตาม เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ให้แผ่นดินของเรานี้ ยังคงมีความน่าอยู่เสมอนะครับ หากเรา (ผมหมายรวมถึงทุกคนในประเทศ ไม่เฉพาะแต่เราคนแก่เท่านั้น) ไม่ช่วยกันหรือร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่งดงาม สักวันหนึ่งประเทศอื่นๆ ก็จะแซงหน้าเราไปได้นะครับ 


ขอยกตัวอย่างเวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น ในอดีตหากใครบอกว่าประเทศทั้งสองนี้น่าอยู่ คงไม่มีใครอยากจะเชื่อหรอกครับ เพราะเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อน ทั้งสองประเทศนี้จะด้อยกว่าเรามาก เช่นที่เวียดนาม ช่วงที่ผมเข้าไปทำมาหากินที่นั่นใหม่ๆ ปากกาสวยๆ ที่ผมชอบใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ อย่าให้ใครเดินชนเราเชียว รับรองโดนเดินชนปังเดียว ปากกาในกระเป๋าเสื้อจะหายไปในพริบตาเลยครับ 
          

การเดินทางไปไหนมาไหนที่หัวเมืองต่างๆ ในเวียดนาม ก็เดินทางด้วยความยากลำบาก ผมนั่งรถตู้ของเราเอง จากเมืองโฮจิมินห์ไปสำรวจตลาดที่เมืองหลวงฮานอย นั่งไปแวะไปกว่าจะถึงฮานอย ต้องใช้เวลา 6-7 วัน เรียกว่าก้นแฉะเลยละครับ 


ถ้าหากเดินทางไปทางใต้ แถบแม่โขงเดลต้าไม่กี่จังหวัด บางครั้งต้องใช้เวลา 5-6 วัน เพราะบางจังหวัด เช่นจังหวัดบิ๋นแจ๋ ต้องข้ามแม่น้ำด้วยเรือขนานยนต์ ที่ต้องรอกว่าจะได้ข้ามเป็นชั่วโมง แต่ปัจจุบันนี้ ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี ประเทศเวียดนามเขาก็พัฒนาไปไกลมากแล้ว 


การคมนาคมสะดวกกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง เขามีทางด่วนเชื่อมต่อเกือบทุกจังหวัดแล้วครับ แม่น้ำต่างๆ เขาก็สร้างสะพานกันเป็นว่าเล่น ในขณะที่คะแนนของ Global Retirement Index เขาก็ได้มากถึง 68.3 คะแนนแล้วครับ เวียดนามน่าเกรงขามมากทีเดียวครับ
       

ประเทศกัมพูชาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าหวั่นเกรงว่าจะแซงหน้าเราในอนาคตนะครับ อย่าล้อเล่นไป ในอดีตผมจำได้ว่า ช่วงที่ผมเข้าไปทำการค้าชายแดนใหม่ๆ ที่เมืองปอยเปต ยังเป็นป่าอยู่เลยครับ การเดินทางจากปอยเปตไปเมืองพระตะบอง ช่วงที่ยากลำบากที่สุดคือฤดูฝน การเดินทางลำบากมาก 


จากปอยเปตถึงศรีโสภณหรือเมืองบันเตียเมียนเจย ระยะทางแค่ 56 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงเลยครับ จำได้สนิทใจว่าออกจากอรัญประเทศตอนเช้า ต้องแวะทานอาหารกลางวันหน้าสถานีรถไฟเมืองศรีโสภณ กว่าจะถึงพระตะบองได้ก็เย็นมากเกือบตะวันตกดินนั่นแหละครับ 


ปัจจุบันนี้ก็สะดวกสบายขึ้นเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองใหญ่ๆ เช่นพนมเปญ พระตะบอง เสียมเรียบ กำปงชนัง สีหนุวิลล์ ปัจจุบันนี้ พัฒนาไปมากแล้ว ผมเองก็เกือบ 15 ปีแล้วที่ไม่ได้เข้าไป ได้แต่ฟังเพื่อนๆ เขาเล่าว่า สิ่งที่ผมพูดนั้นไม่มีให้เห็นแล้วครับ ดูได้จากคะแนนของ Global Retirement Index ก็ได้มากถึง 72.3 คะแนน เรียกว่าหายใจรดต้นคอไทยเราเลยครับ
      

พวกเราผู้ประกอบการที่มีบ้านพักคนชราอยู่ ควรจะต้องเปลี่ยนให้เป็น “บ้านพักคนวัยเกษียณ” ได้แล้วนะครับ รัฐบาลเองก็ได้ออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบ้านพักคนวัยเกษียณ มาคอยอำนวยความสะดวกให้แล้ว เราควรจะหันมามองตลาดคนต่างชาติกันให้มากๆ เพราะนี่คือโอกาสดีที่รัฐบาลจะช่วยกันโปรโมทให้เราได้

 

ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้คนในประเทศแถบยุโรป ได้ถูกเจ้าวายร้าย COVID-19 กระหน่ำจนอยู่ยากในบ้านเมืองเขา หากเราใช้ช่วงเวลานี้มาทำการตลาดด้านนี้ ผมเชื่อว่าเรายังมีความหวังมากเลยนะครับ