บทเรียนสัมพันธ์ร้าว “ไทย-ซาอุฯ” ต้นทุนจาก“ความบิดเบี้ยว”

26 ม.ค. 2565 | 06:45 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม นำคณะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม พ.ศ. 2565 นี้ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย 
 

โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าเฝ้าและพบปะหารือกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางว่า เป็นโอกาสดีที่ได้รับเกียรติเชิญไปหารือ โดยการเดินทางเยือนครั้งนี้ไปเข้าเฝ้าฯ ในฐานะรัฐบาล เพื่อฟื้นความสัมพันธ์เก่าๆ ที่ต้องดีขึ้น จะมีการพูดคุยหารือทุกเรื่อง และตั้งคณะทำงานศึกษาหารือร่วมเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี และเรื่องพิธีการต่างๆ  ขอให้รอฟังรายละเอียดหลังกลับมา
 

การเดินทางครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของการเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศ หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกๆ ด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด และตั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย อีกทั้งยังห้ามประชาชนของซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย สูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายมหาศาล ยาวนานถึง 32 ปี

ปมความไม่พอใจจากเหตุสะสมซ้ำซ้อนหลายเรื่องก่อนหน้า ทั้งกรณีฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงเทพฯ 2 ระลอก รวม 4 ศพ เหตุโจรกรรมเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย โดยคนงานไทยที่ไปทำงานในวังกษัตริย์แล้วลอบหนีกลับประเทศ และกรณีอุ้มหายนายอัลรูไวลี นักธุรกิจด้านแรงงานชาวซาอุดีอาระเบีย จากเหตุสำคัญผิดจนเรื่องเลยเถิด โดยซาอุดีอาระเบียเห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทางการไทยไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกต้องโปร่งใสเพียงพอ 
 

มีความพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียต่อเนื่อง และเริ่มเห็นความก้าวหน้าเมื่อ 10 ต.ค.2559 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พบปะหารือ 3 ฝ่าย ร่วมกับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และนายอเดล อัล-จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ห้องสัตตบงกช กระทรวงการต่างประเทศ จากดำริร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีซาอุดีอาระเบีย มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 และเสริมสร้างแนวทางฟื้นฟูสานสัมพันธ์ระหว่างกัน
 

ระดับและกระบวนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 2 ชาติ “ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” ต้องรอหลังการเยือนของนายกฯครั้งนี้ เพื่อกลับสู่ระดับปกติอีกครั้งในอนาคต ในฐานะมิตรประเทศที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่บนเวทีโลกร่วมกันต่อไป แต่ทั้งนี้เราควรตระหนักว่า สัมพันธ์ร้าวไทย-ซาอุดีอาระเบียที่กลายเป็นต้นทุนมหาศาล เกิดจากพฤติกรรมการใช้อำนาจบิดเบี้ยวจากหลักเกณฑ์กติกาในระดับต่างๆ ที่ควรต้องเรียนเพื่อรู้และแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก