RCEP กับ 5 ประโยชน์ต่อคนไทย

12 ม.ค. 2565 | 08:28 น.

RCEP กับ 5 ประโยชน์ต่อคนไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,748 หน้า 5 วันที่ 13 - 15 มกราคม 2565

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงที่ สุดในโลกในนาม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ ที่เรานิยมเรียกด้วยตัวย่อว่า RCEP ได้มีผลบังคับใช้ และนั่นทำให้ประเทศไทย และสมาชิกประชาคมอาเซียน ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการบูรณาการเข้าเป็นฐานการผลิตร่วมกันในห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาคด้วยแต้มต่อ สิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก หลายๆ สำนักอาจออกมาวิเคราะห์ถึงผลได้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจไปแล้ว แต่คำถามสำคัญคือ แล้วประชาชนอย่างพวกเราได้รับประโยชน์อันใดจาก RCEP บ้าง?

 

1. ประโยชน์ที่จะได้รับทันที นั่นคือ รายการสินค้ากว่า 92% และภาคบริการกว่า 65% ของสินค้าและบริการที่มีการค้าระหว่างไทยและประเทศภาคี จะมีการเปิดเสรีที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า คนไทยทั้ง 69.95 ล้านคน จะสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีราคาถูกลง ในคุณภาพที่ดี และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างสำคัญ เช่น ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภาย ใน 48 ชั่วโมง ซึ่งนั่นหมายถึง คุณภาพของผัก ผลไม้ และอาหาร จะมีความสดมากยิ่งขึ้น ต้นทุนในการจัดเก็บจะลดลง ซึ่งจะส่งผลอาหารมีราคาถูกลง

 

2. ในวันที่พวกเราซื้อของผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ข้อตกลง RCEP ยังมีข้อบทที่ 12 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce) ที่เน้นสร้างการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคในโลกออนไลน์ ทั้งจากคุณภาพของสินค้าและบริการไม่ให้ถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบ เช่นเดียวกับที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคไม่ให้ถูกนำไปใช้โดยที่พวกเราไม่อนุญาต ความโปร่งใส และการอำนวยความสะดวกบนโลกออนไลน์ อาทิ ระบบธุรกรรมไร้เอกสาร การยอมรับการลงนามอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองการจัดเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการ จะเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

RCEP กับ 5 ประโยชน์ต่อคนไทย

 

 

3. ข้อบทที่ 16 การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (Government Procurement) จะทำให้ในอนาคตความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และการลดการคอรัปชั่น จากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในโครงการต่างๆ เกิดขึ้น ประชาชนจะได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการภาครัฐที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยที่เราไม่ต้องมานั่งบ่นเสียดายภาษีที่ถูกโกงอีกต่อไป

 

4. RCEP ยังมีข้อบทที่ 13 ว่าด้วยการสนับสนุนการแข่งขัน (Competition) ซึ่งในระยะต่อไปจะพัฒนาต่อจนทำให้มาตรฐานของบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทั้งบริษัทไทย และบริษัทต่างชาติ มีมาตรฐานทัดเทียมกับมาตรฐานนานาชาติ ลดอำนาจการผูกขาดตลาด และสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน เมื่อพิจารณาควบคู่กับ ข้อบทที่ 14 สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) 

 

5. ท้ายที่สุดในระยะยาว อ้างอิงจากธนาคารโลกที่ได้มีงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ประเทศที่เดินหน้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) (แน่นอนว่าข้อตกลงทางการค้าอย่าง RCEP จะสร้างแต้มต่อให้ไทยเข้าสู่ GVCs) จะทำให้ประเทศนั้นๆ เกิด 1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2) เกิดการจ้างงานในเงื่อนไขที่ดีขึ้น และ 3) เกิดการลดความยากจน ซึ่งทั้ง 3 เรื่อง คือ สิ่งที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการ อย่างที่สุด ณ เวลานี้