“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

08 ม.ค. 2565 | 08:01 น.

วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ “RCEP” มีผลบังคับใช้ “คนไทยตื่นตัวและรู้เรื่องนี้หรือยัง”

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

ต้องบอกว่า RCEP มีสำคัญและใหญ่มาก “ไม่รู้ ไม่เห็น” ธุรกิจไทยจะเจ๊งหายไปอีกเยอะ ปัจจุบัน RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิก 15 ประเทศ (ไม่รวมอินเดีย) เรียกว่า “อาเซียน +5” หรือ “อาเซียน+1 ภาคสอง” ก็ได้

 

สมาชิกประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP ใหญ่แค่ไหน? เมื่อเปรียบเทียบ RCEP กับ CPTPP พบว่า RCEP มีขนาด GDP ใหญ่กว่า 2 เท่า (25 ล้านล้านเหรียญ) ประชากรมากกว่า 4 เท่า (2.2 พันล้านคน) และมูลค่าการค้ารวมมากกว่า 1.7 เท่า (12.4 ล้านล้านเหรียญ) จำ RCEP ง่าย ๆ คือ “30 30 30 ของโลก” หมายความว่า RCEP มีขนาด GDP 30% ประชากร 30% มูลค่าการค้า 30%

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

เมื่อดูตัวเลขปี 2021 ไทยพึ่งพิงการค้าจากตลาด RCEP มาก เห็นได้จากไทยส่งออกไป RCEP สัดส่วน 52% ของมูลค่าการส่งออกของไทย และนำเข้าจาก RCEP สัดส่วน 70% ของมูลค่าการนำเข้าของไทย และไทยก็ขาดดุลการค้ากับ RCEP มูลค่า 25,412 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่ขาดดุลการค้ากับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย ที่เหลือไทยได้ดุลการค้า

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “ตลาดส่งออกไทยใน RCEP” พบว่าไทยส่งออกไปจีนครองอันดับหนึ่ง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ตามด้วยญี่ปุ่นแต่สัดส่วนลดลง เวียดนามแซงหน้ามาเลเซียเป็นอันดับสาม ส่วน “ตลาดนำเข้าของไทยใน RCEP” ไทยนำเข้าจากจีนด้วยสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ตามด้วยญี่ปุ่น (สัดส่วนลดลง) และมาเลเซีย

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาด 15 ประเทศใน RCEP กลุ่มประเทศ “CJK (China Japan Korea)” มีสัดส่วนส่งออก 56% (จีนสัดส่วนการส่งออก 30% ญี่ปุ่น 14% และเกาหลี 12%) สิงคโปร์สัดส่วน 10% ไทยและมาเลเซียมีสัดส่วน 6% และสินค้าที่ค้ากันส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วน 80% เช่นเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 26% ปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ สัดส่วน 12% น้ำมัน สัดส่วน 10% แร่ 4% ยางและผลิตภัณฑ์ และเสื้อผ้า สัดส่วน 1%

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

จากบทวิเคราะห์ของ Global Development Policy Center มหาวิทยาลัยบอสตันพบว่า หลังวันที่มีผลบังคับใช้ RCEP ทุกประเทศในอาเซียนจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น หมายความว่าอาเซียนมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีน และจีนก็นำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ 3 ประเทศนี้ไม่มี FTA ซึ่งกันและกัน (จีน-ญี่ปุ่นไม่มี ญี่ปุ่น-เกาหลีไม่มี) RCEP จึงเป็นครั้งแรกที่สามประเทศมี FTA ด้วยกัน  

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือกัมพูชาจะนำเข้าซีเมนต์และผ้าถักทอจากไทยมากขึ้น ในขณะที่ลาวนำเข้าปศุสัตว์ แต่ไทยจะนำเข้าหอมแดง ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนมอเตอร์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬาจากอินโดนีเซีย ผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย ด้านการค้าระหว่างกัน และไทยจะนำเข้ากลุ่มสินค้าเกษตรจากจีน มากขึ้น ได้แก่ หอมแดง มะเขือเทศ กระเทียม ชา เมล็ดผัก และผลไม้ “ประเทศที่จะได้ประโยชน์” คือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนอาเซียนจะเสียประโยชน์ด้านการค้าใน RCEP

 

“ใครได้ ใครเสีย” ใน “RCEP” กับ 6 ประเด็นท้าทายไทย

 

“6 ประเด็นท้าทายไทย” คือ 1.การได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการลดภาษี ภายใต้กติกา RCEP แม้ว่าไทยมีโอกาสใน 29,891 รายการที่จะส่งออก แต่ไทยก็ต้องเปิดตลาดให้เช่นกัน ผลกระทบตามมาแน่นอนกับธุรกิจไม่ปรับตัวหรือตั้งรับไม่ทัน 2.พัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน  นอกจากสมาชิกอาเซียนแล้ว จีนมีมาตรฐาน “S Label” ญี่ปุ่นมี "มาตรฐาน JAS” เกาหลีมี “มาตรฐาน MFDS Korea” และออสเตรเลียล้วนเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวดมาก การส่งสินค้าไปขายต้องได้มาตรฐาน

 

3.การค้าออนไลน์เฟื่องฟู การค้าออนไลน์จะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น จีนมีความพร้อมเรื่องนี้มากที่สุดทั้งแพลตฟอร์มและกฎหมาย ในขณะที่ไทยใช้แพลตฟอร์มของชาติ RCEP และ ไม่มีกติการองรับ นอกจากนี้ Cross Border E-Commerce ของไทยยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้

 

4.การตรวจสอบสินค้านำเข้า หลังจากนี้จะมีสินค้าหลากหลายเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานและร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวในการตรวจสอบสินค้าเข้มงวด 5.ให้แต้มต่อ SMEs ไทย ในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) เพื่อให้เกิดโอกาสกับ SMEs ไทยในการนำเสนองานของหน่วยงานไทย และ 6. สินค้าเกษตรทะลัก หลังจากนี้สินค้าเกษตรจาก 14 ประเทศจะเข้ามาในไทยมากขึ้น ไทยมีความพร้อมรับเรื่องนี้แค่ไหน