อุปสรรคทางการค้าหลังโควิด-19

04 ก.ค. 2564 | 00:00 น.

อุปสรรคทางการค้าหลังโควิด-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3693 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค.2564  โดย... รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวไรโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยเฉพาะในระยะแรก ในปี 2020 เกือบทุกประเทศทั่วโลก ดำเนินนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศที่ขัดต่อกฎเกณฑ์และกติกาสากลทางการค้า อาทิ 

 

การปิดพรมแดนห้ามการนำเข้าสินค้าและห้ามการเดินทางของบุคคล การห้ามการส่งออกสินค้า การให้เงินอุดหนุนภาคการผลิตของประเทศ ข้อยกเว้นและบทบัญญัติทั่วไป (Exceptions and General Provisions) ของข้อตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ 

 

รวมทั้งกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ถูกนำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง ข้อยกเว้นสำหรับมาตรการปกป้องชั่วคราวในกรณีที่มีปัญหาเรื่องดุลการชำระเงินและการเงินภายนอกอย่างรุนแรง ปัญหาการจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่มีความรุนแรง การปกป้องประชาชนจากปัญหาสุขภาวะ ถูกใช้เป็นเหตุผลในการดำเนินนโยบายที่ขัดกับหลักการเปิดเสรี และทำให้ดูเสมือนว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ได้หยุดนิ่ง หรือถดถอยลง 

 

ประเด็นที่สำคัญในอนาคตคือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคอุบัติใหม่ ทั้งโควิด-19 และการกลายพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ และทำให้ทุกประเทศไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า มาตรการที่ขัดแย้งกับมาตรฐานสากลเหล่านี้ จะคงอยู่ต่อไปอีกนานเพียงใด 

 

และหากมาตรการเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปในระนาบที่แตกต่างกัน เนื่องจากระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากโรคระบาดที่ไม่เท่าทันกัน อาจทำให้เกิดข้อพิพาททางการค้าจำนวนมาก 

 

หรือในทางตรงกันข้าม หากการใช้มาตรการเหล่านี้กลายเป็นมาตรการถาวร กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในทางการค้าระหว่างประเทศ นั่นเท่ากับว่า ภูมิทัศน์ (Landscape) ของการค้าระหว่างประเทศที่ก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

 

การปฏิรูประบบภาษีเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในทุกประเทศ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวไรโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทำให้เศรษฐกิจในทุกประเทศทั่วโลกหยุดชะงักในปี 2020 ต่อเนื่องจนถึงปี 2021 และรัฐบาลของแต่ละประเทศ มีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

รวมทั้งภาระในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมการในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

 

ดังนั้น รัฐบาลทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทุกประเทศ การขยายฐานภาษีและแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี จะเป็นสิ่งที่ทุกรัฐต้องดำเนินการในอนาคต

วิธีการที่ประเทศกำหนดการตั้งค่าภาษี กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียภาษี แนวทางในการจัดเก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมทั้งการจัดเก็บในอัตราเท่าใด พร้อมทั้งการวางระบบภาษีให้สามารถสร้างผลประโยชน์ทางสังคม

 

เหล่านี้จะเป็นรากฐานของความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ การตั้งค่าเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของประชากร ความโน้มเอียงทางวัฒนธรรม และโครงสร้างของเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดกว้างของแต่ละระบบเศรษฐกิจสู่กิจกรรมระหว่างประเทศ  (Wardell-Johnson, 2019)

 

แน่นอนว่า กฎเกณฑ์ทางภาษีศุลกากรที่ดีที่สุดในทางทฤษฎี คือ กฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นกรอบกติกาในระดับพหุภาคี (Multilateralism) เพียงกรอบเดียวที่ควบคุมการค้าระหว่างประเทศ แต่ในห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลก และเป็นช่วงถดถอยของระเบียบพหุภาคีที่ควบคุม

 

โดยองค์การระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลกเองก็ดูเสมือนจะเป็นองค์การที่ถดถอย   (ศุภชัย พานิชภักดิ์, 2563; Jacobsson, 2020) ในทางปฏิบัติแต่ละประเทศ และ/หรือ กลุ่มประเทศมีแนวโน้มที่จะวางกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่จัดเก็บระหว่างประเทศในรูปแบบที่กำหนดขึ้นด้วยตนเอง (Unilateralism) โดยนึกถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองเป็นที่ตั้ง
และในยุคสมัยที่เทคโนโลยีทำให้การเชื่อมโยงกิจกรรมระหว่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ มีต้นทุนต่ำลงและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ณ ปัจจุบัน มูลค่าการค้าบริการระหว่างประเทศ (Mode 1: Cross Border Trade in Services) มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการค้าสินค้าระหว่างประเทศ  (UN Tax Committee, n.d.) 

                       อุปสรรคทางการค้าหลังโควิด-19

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มสูงที่แต่ละประเทศจะมีแนวโน้มจัดเก็บภาษีจากการค้าบริการระหว่างประเทศผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคม (e-Service Tax) เพิ่มมากยิ่งขึ้น 

 

โดย e-service ที่จะมีแนวโน้มที่จะถูกจัดเก็บภาษีในอนาคต หมายถึง ธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ที่มีการเก็บ Service fees เช่น การให้บริการทีวีออนไลน์ ดาวน์โหลดเพลง ดาวน์โหลดสติกเกอร์ เกมส์ออนไลน์ แมกกาซีนออนไลน์ บริการCloud บริการมีเดีย/โฆษณา ธุรกิจ Digital Content 

 

และ ธุรกิจ Digital Media Services ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่รวมถึงการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่าน Online-platform ต่างๆ (เช่น Shopee Lazada eBay Amazon) เพราะการสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศมีการจัดเก็บภาษีศุลกากรในรูปแบบปกติอยู่แล้ว  (สุมาพร มานะสันต์, 2563)

 

แน่นอนว่าในอนาคตรูปแบบการค้าบริการระหว่างประเทศผ่าน Online-platform ต่างๆ จะกลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักของกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น อุปสรรคทางการค้าที่มาจากภาษีซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายในแต่ละประเทศ จะเป็นเรื่องที่ต้องถูกนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น 

 

โดยเฉพาะในประเด็น อะไรคือวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัล, กิจกรรมทางเศรษฐกิจใดและบริษัทประเภทใดที่ต้องเสียภาษีบริการดิจิทัล, อะไรคือประโยชน์ของการจัดเก็บภาษีบริการดิจิตอล, รูปแบบและแนวทางการจัดเก็บภาษีควรเป็นข้อตกลงระดับพหุภาคี หรือควรเป็นอิสระของแต่ละประเทศ และแบบไหนจะเป็นประโยชน์กับการค้าระหว่างประเทศมากกว่ากัน