ขยายเวลาจ่าย เบี้ยชราภาพ แสลงใจมนุษย์เงินเดือน!

31 ธ.ค. 2564 | 00:30 น.

ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

อื้ออึงกันในบรรดาผู้ใช้แรงงาน-มุนษย์เงินเดือนทั่วประเทศในขณะนี้ไม่มีเรื่องใดเทียบเท่า ดำริทางนโยบายของสำนักงานประกันสังคม ที่กำลังจัดทำแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ผ่านยุทธวิธีขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากปัจจุบัน 55 ปี สมาชิกประกันสังคมสามารถรับเงินบำนาญเดือนละ 3,000-7,500 บาท โดยจะขยายอายุเป็น 60 ปี 


ลึกลับจากสนามข่าวบอกว่า แนวทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนี้ได้จะต้องเสนอรัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 5 ในประเด็นการขยายอายุเงินชราภาพ

นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขหมวดว่าด้วยการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาท/เดือน จากปัจจุบัน 15,000 บาท/เดือน เพื่อเพิ่มความยั่งยืนของกองทุน และสิทธิประโยชน์เงินทดแทน กรณีชราภาพ ว่างงาน คลอดบุตร เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ให้แก่ผู้ประกันตน


ทุกคนอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรดอก เพราะต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่ช้าแต่ ตกใจกันทั้งบางเพราะกฎหมายฉบับนี้มีการดำเนินการผ่านเวทีประชาพิจารณ์ไปแล้ว 

การขยายอายุการเกษียณเพื่อรับเงินประกันชราภาพนั้น กระเทือนต่อบรรดาผู้ใช้แรงงาน-มนุษย์เงินเดือนไปทั่วไป เพราะปัจจุบันนั้นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นภาคบังคับของบรรดามนุษย์เงินเดือนลูกจ้างทั้งหลายตามกฎหมายนั้น พบว่า ในปี 2563 จำนวนผู้ประกันตนมีมากถึง 11.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 มีแค่ 1.7 ล้านคน และ 3.4 ล้านคนตามลำดับ


ปรากฏว่า ในช่วง 30 ปีที่ประกันสังคมก่อตั้งขึ้นมา ขนาดของกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งวดสิ้นปี 2563 เงินกองทุนประกัน

 

สังคมมีอยู่ถึง 2.283 ล้านล้านบาท แบ่งออกไปตามภารกิจ ดังนี้


เงินกองทุนมาตรา 33 และ 39 จำนวน 2.267 ล้านล้านบาท 


เงินกองทุนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย 120,502 ล้านบาท


เงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ  1,981,620 ล้านบาท 


เงินกองทุนชดเชยกรณีว่างงาน 164,714 ล้านบาท 


เงินในกองทุนฯ ตามมาตรา 40 มีแค่ 16,182 ล้านบาท


ดังนั้นนโยบายการแก้กฎหมายขยายเวลาการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ และการเพิ่มวงเงินการสมทบจึงสะท้านสะเทือนต่อความหวังอันริบหรี่ของบรรดาลูกจ้างทั้วประเทศกว่า 16 ล้านคนเลยทีเดียว


ก่อนจะไปพิจารณาประเด็นอื่นๆ ผมพามาดูเงินสมทบประกันสังคมในปัจจุบันกันก่อนนะครับ


เงินที่เราต้องส่งประกันสังคมในแต่ละเดือน ซึ่งนายจ้างจะหักเงินเดือนไว้ 5% เช่น หากใครได้รับเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะถูกหักไว้ 500 บาท โดยเงินที่จะหักไว้สมทบสูงสุดจะไม่เกิน 750 บาท นั่นคือคนที่ได้รับเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปนั่นเองจะจ่ายแค่ 750 บาท


แล้วเงินที่ถูกหักไว้ 5% หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาทนี้ ถูกนำไปทำอะไรบ้าง ก้อนแรก 1.5% หรือ 225 บาทจะถูกนำไปกันไว้กรณีเจ็บป่วย ตาย 


ก้อนที่สองราว 0.5% หรือตกประมาณ 75 บาท จะนำไปใช้เป็นการประกันการว่างงาน 
 

ก้อนที่สามอีก 3% หรือตกประมาณ 450 บาท จะใช้สำหรับกองทุนประกันชราภาพ 


เงินประกันชราภาพ 450 บาทนี้ ใครส่งครบ 1 ปี จะมีเงินเข้าเก็บในส่วนของตัวเอง 5,400 บาท โดยจะได้เงินสบทบอีก 100% จากนายจ้าง ซึ่งจะตกปีละ 5,400 บาท แล้วสำนักงานประกันสังคมจะนำไปบริหารจัดการให้เกิดดอกผลให้พอกพูนจา 2 ก้อนคือ 10,800 บาท 


สมาชิกทุกรายจะได้รับเงินสมทบก้อนนี้คืนก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปี หรือเกษียณแล้วเท่านั้น  และต้องทำเรื่องขอภายใน 1 ปี หลังเกษียณ ขอย้ำนะครับว่า.....ห้ามเกินแม้แต่วันเดียว  


ไม่เช่นนั้น เงินสมทบของของท่านจะถูกนำไปสมทบเข้ากองกลางทันที จะไปทำเรื่องขอคืนไม่ได้เสียด้วยสิครับ...  
วิธีขอคืนเงินที่เราถุกหักจากนายจ้างไว้เดือนละสูงสุด 750 บาทนั้น มี 2 วิธี เท่านั้น


วิธีแรก กรณีที่เราส่งไม่ครบ 15 ปี หรือ 180 เดือน เราจะได้เงินบำเหน็จเป็นก้อนไปเลย อันนี้เป็นเรือนแสนแนนอนแม้จะไม่ถึง 15 ปี
วิธีที่สอง กรณีที่เราส่งเงินสมทบประกันสังคมเกิน 15 ปี หรือเกิน 180 เดือน จะได้รับในรูปแบบบำนาญไป 


เงินก้อนนี้ของแต่ละคนจะได้รับนั้นต่างกันไปตามอายุการจ่ายเงินสมทบ


กล่าวคือ การเกษียณอายุประกันสังคมเพื่อรับเงินบำนาญชราภาพของเรา จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท จาก 5 ปี เป็น 15 ปี พอดิบพอดี จะได้เงินบำนาญรายเดือนเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท


แต่ถ้าใครถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเกษียณจากกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน


ผมคำนวณคร่าวๆ นะครับ ถ้าใครสมทบ 15 ปี จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท ใครสมทบมา 20 ปี จะได้เงินบำนาญเดือนละ 4,000-4,100 บาท ใครสมทบจ่าย 25 ปีจะได้เดือนละ 5,200 บาท ใครสมทบ 30 ปีจะได้เดือนละ  6,300 บาท ประมาณนี้แหละครับ
ดังนั้น หากมีการแก้กฎหมายจริงกระเทือนคนสมทบแน่นอน แม้หลักการเบื้องต้นมีการระบุว่า จะใช้กับผู้ประกันตนใหม่และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนในปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุ จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีใครประกันได้ว่าจะไม่กระทบ


โชคดีที่ คุณสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สั่งการให้ประกันสังคมยกเลิกแนวคิดที่จะขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ หรืออายุเกษียณจาก 55 ปี ไปเป็น 60 ปี เพราะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่า สิ่งที่กระทรวงแรงงานจะโฟกัสในตอนนี้คือ สถาบันการแพทย์แรงงาน และแก้ไข พ.ร.บ.ชราภาพ เพื่อให้สามารถนำเงินออกมาใช้ได้บางส่วนตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

แต่ดำริทางนโยบายแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยเลยผ่านง่ายๆ เพราะอะไรนะหรือขรั่บ...


หนึ่ง มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะกองทุนชราภาพจากหลายแห่งว่า เงินกองทุนจะมีไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ เพราะเพดานการจ่ายสมทบไม่ได้ถูกปรับมาเป็นเวลานาน ยังกำหนดค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือนมาตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งตอนนั้นคิดเป็นสัดส่วน 98% ของจำนวนลูกจ้าง แต่ข้อมูลล่าสุดปี 2563 พบผู้มีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ขณะที่สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กลับเพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าทำศพ เป็นต้น


สอง อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บอยู่ในระดับต่ำเกินไป ปัจจุบันอัตราเงินสมทบรวมทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ที่  12.5% ของเงินเดือน 


สาม การกำหนดอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพไว้ 55 ปี เป็นการกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2541 เริ่มใช้ปี 2542ซึ่ งขณะนั้นอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 70 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ 75 ปี เท่ากับว่าประกันสังคมต้องจ่ายบำนาญเฉลี่ยต่อไปอีก 20 ปี หักลบกับระยะเวลาส่งเงินสมทบ 15 ปีแล้ว มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายรายเดือนอยู่ถึง 5 ปี


สุดท้ายคือ โครงสร้างการจ่ายเงินผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตกเดือนละ 3% ของรายได้ นายจ้างสมทบอีก 3% รวมแล้วจะมีเงินเข้ากองทุนชราภาพเดือนละ 6% แต่เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 15 ปีและมีอายุถึง 55 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จตามจำนวนที่สะสมไว้บวกดอกเบี้ย และได้รับเงินบำนาญชราภาพอีกเดือนละ 20% ของเงินเดือนก้อนสุดท้าย


เห็นปัญหาหรือยัง ถ้าเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 6% แต่ขาออกต้องจ่ายราว 20% ของเงินเดือน เฉพาะส่วนต่างนั้นมากโขถึง 14% บริหารอย่างไรเงินก็ไม่พอ


แผลกองทุนบำนาญชราภาพจะเริ่มออกฤทธิ์ในไม่นานคอยดู!