เห็นสัญญาณโอมิครอน เสี่ยงฉุดภาวะเศรษฐกิจปีหน้า

23 ธ.ค. 2564 | 05:40 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธ์โอมิครอน ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกแล้วราว 90 ประเทศ กำลังจะเป็นสัญญาณว่า ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง หลังหลังตลาดน้ำมันกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศมีการใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมเข้มงวดขึ้น โดยล่าสุดเนเธอร์แลนด์มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์


นับจากมีไวรัสโอมิครอนเกิด ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากก่อนหน้าเคยขึ้นไปกว่า 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุโรปที่ชะลอตัวลง จากมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศ

ขณะที่ไทยเอง เร่งหามาตรการที่จะมารับมือโอมิครอน หลังพบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก ทางรัฐบาลได้เตรียมจะออกคำสั่งให้ราชการปฏิบัติงานที่บ้าน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว และการเปลี่ยนระบบเข้าประเทศจาก Test and go มาเป็นการกักตัว เป็นต้น 
 

หลายฝ่ายกังวลว่า หลังหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ มีการเลี้ยงฉลอง การเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมต่างๆ จะก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งจะมาทุบซ้ำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า และอาจถึงขั้นต้องล็อกดาวน์กิจกรรมบางประเภทอีกครั้ง เหมือนที่ดำเนินการมา

ปัจจัยเสี่ยงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 จึงเป็นเรื่องการระบาดของไวรัสโอมิครอนว่ามีความรุนแรงขนาดไหน ที่จะมาส่งผลกระทบต่อเครื่องหลักอย่างภาคการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลหวังไว้ว่า ในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทย 8-15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท รวมถึงภาคการส่งออก จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีนี้หรือไม่ หากเศรษฐกิจโลกเกิดการชะลดตัว หลังจาก 11 เดือน ของปีนี้ การส่งออกของไทยขยายตัวได้ 16.4 %
 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินงานให้เร็วที่สุด จะเป็นเรื่องของการปลุกเครื่องยนต์อีกตัว คือการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งหวังว่าชุดของขวัญปีใหม่ที่คณะรัฐมนตรีคลอดออกมา อย่าง”ช็อปดีมีคืน” ที่ให้สิทธิซื้อสินค้า เพื่อนำวงเงินไปใช้ในการลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีสูงสุด 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่จะเริ่มในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2565 คาดมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ระดับหนึ่ง ช่วยพยุ่งเศรษฐกิจของประเทศไปได้บ้าง