ปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคนชรามีความสุข

26 พ.ย. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้มีแฟนคลับไลน์เข้ามาสอบถามเรื่องของบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮ้าส์” มาหลายท่าน ขอบพระคุณมากเลยครับที่สนใจ 


แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถทำอะไรได้นะครับ เพราะปัจจุบันนี้ ผมได้เอาคัยโกเฮ้าส์ไปดำเนินการเป็น Hospitel อยู่ คาดว่ากว่าสถานการณ์โควิด-19 จะผ่านพ้นไปได้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ยังไม่มีใครตอบได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม หากโควิดผ่านไปแล้ว ผมต้องใช้เวลาทำความสะอาดอาคารทั้งหมด และจะต้องปรับปรุงกลับมาให้เหมือนดังเดิมอีก คงต้องใช้เงินและเวลาอีกพอสมควรเลยละครับ อดใจรอกันก่อนนะครับ
        

ในช่วงวัยเกษียณที่คนวัยอย่างผมหลายท่านคงได้สัมผัสไปแล้ว ผมได้พบและพูดคุยกับเพื่อนๆ คนชราหลายท่าน สิ่งหนึ่งที่พบคือ บางท่านพึ่งพาลูกหลานไม่ได้ ก็ได้แต่บ่นๆ กันไป แต่คนที่โชคดี ที่มีลูกหลานกตัญญูรู้คุณ ก็ได้รับการดูแลอย่างดี จากลูกหลานกันไป 

คนที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีและไม่ดีหลายๆ ท่าน วันนี้ผมอยากจะนำมาเล่าให้อ่านกันครับ  ก็มีเพื่อนสนิทผมคนหนึ่ง ตอนนี้เหลือคุณแม่อายุ 90 กว่าอยู่คนหนึ่ง ผมต้องชื่นชมเพื่อนคนนี้มาก เพราะเขาจะคอยเฝ้าดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี 


ทั้งๆที่งานที่ทำอยู่นั้น ก็ค่อนข้างจะเยอะมาก แต่ทุกเช้าจะต้องเข้าไปกราบคุณแม่ตอนที่ท่านตื่นนอนเสมอ เนื่องจากเขาพักอยู่ที่ต่างจังหวัด เขาจึงมีโอกาสได้ปลูกพืชผักไว้รับประทานเอง ทุกครั้งที่ผมไปจังหวัดนั้น ผมก็จะไปนอนที่บ้านเขา จึงได้จะเห็นเขาไปเก็บผักที่ปลูกมาผัดมาแกงให้คุณแม่ทานเสมอ 


สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากๆ อีกอย่าง คือเวลาจะออกเดินทางไปทำงานที่โรงงาน ที่อยู่ต่างอำเภอ เขาก็จะไปกราบแม่เขาก่อนออกจากบ้านเสมอ ส่วนคุณแม่ก็จะให้พรและสวดมนต์ให้ตลอด เห็นแล้วชื่นใจจริงๆ ครับ สังเกตว่าสุขภาพร่างกายของคุณแม่เขา จะแข็งแรงกว่าคนชราทั่วไปมากเลยครับ 


หนึ่งในเหตุผลที่ผมเชื่อ คือทำไมคุณแม่สุขภาพแข็งแรงมาก ยังเดินเหินได้ดีมากๆ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ความกตัญญูที่ลูกมีต่อแม่ ทำให้คุณแม่มีความอิ่มเอมใจ ทำให้มีความสุขตลอดเวลาก็เป็นไปได้ครับ
       

ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ผมรู้จัก ขออนุญาตไม่เอ่ยนามนะครับ พี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกันตลอด แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง จนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เช่นเรื่องทรัพย์สมบัติ ที่ต่างคนต่างแย่งกัน ทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ มีความรู้สึกไม่สบายใจ พอลับหลังลูกๆ ท่านก็จะเล่ามาให้ผมฟังตลอดด้วยความกลัดกลุ้มใจ 


ผมก็ได้แต่ปลอบท่านว่า เราอายุมากแล้ว เรื่องของเด็กๆ ขอให้ท่านอย่าไปมองเห็นหรือรับรู้มากเลย ปล่อยเขาคุยกันเองเถอะ เราแก่แล้วก็ทำเป็นหูหนวกตาบอดมั่ง ก็จะได้มีความสุขมากกว่านะ ซึ่งท่านก็หัวเราะ แล้วบอกว่า “มันมาทะเลาะต่อหน้าเรานะสิ คงอยากให้เราเป็นกรรมการให้มั้ง” 


เห็นแล้วก็เข้าใจท่านได้เลยนะครับ ส่วนสุขภาพร่างกายของท่านที่เป็นพ่อ-แม่ ผมก็เห็นว่าท่านไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่เลยครับ ไม่แน่ใจว่าสุขภาพร่างกายมนุษย์นั้น การมีความสุขหรือไม่ จะส่งผลดีหรือร้ายต่อสุขภาพร่างกายด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ
         

ยังมีท่านผู้ใหญ่บางท่านที่ผมรู้จัก ในสมัยท่านยังแข็งแรงอยู่ บุตรชายสี่คนของท่านที่เริ่มเป็นหนุ่ม ท่านก็ให้ออกจากการโรงเรียน มาช่วยธุรกิจที่บ้านหมด เรียกกว่าความรู้หรือการศึกษาไม่ค่อยจะได้รับการเล่าเรียนหรือซึมซับเท่าไหร่ พอได้เริ่มทำงานทำการที่บ้าน ก็เริ่มมองเห็นตัวเงินที่เข้ามาสู่ครอบครัว 


สิ่งที่ตามมาคือความอยากได้ใคร่มีครับ ต่างคนต่างละโมบในทรัพย์สินเงินทอง ผมก็เห็นว่ามีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันน่าดูเลยครับ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งที่เห็นมา 


ทำให้เรามีความคิดว่า ลูกหลานจะเป็นตัวแปรสำคัญมากในการที่จะทำให้มีความสุขหรือไม่ในบั้นปลายชีวิต ดังนั้นหากมีลูกหลานที่ดี มีความกตัญญูรู้คุณ ก็จะทำให้มีความสุข 


หากได้ลูกหลานที่ไม่ต้องถึงขั้นอกตัญญูหรอกครับ เอาแค่ว่าลูกหลานที่ไม่มีความรักสามัคคีกัน หรือมีความละโมบโลภมาก มักได้ใฝ่มี ทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็จะส่งผลให้ผู้เป็นพ่อแม่ มีแต่ความชอกช้ำระกำใจกันละครับ นี่คือสิ่งที่เป็นสัจจะธรรมจริงๆ ครับ