ป๋าเปรม อานันท์ และลุงตู่ ความต่างในระนาบเดียวกัน

21 พ.ย. 2564 | 04:01 น.

ป๋าเปรม อานันท์ และลุงตู่ ความต่างในระนาบเดียวกัน : คอลัมน์เศรษฐกิจอีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,733 หน้า 5 วันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2564

หากเปรียบเทียบนายกรัฐมนตรีที่มีที่มีแตกต่างจากวิถีทางปกติของระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็เป็นที่น่าสนใจในอันที่จะพิจารณา ความเหมือนและความต่างระหว่างนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำรัฐนาวา 3 ท่าน อันได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านอานันท์ ปันยารชุน และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสามท่านล้วนแล้วแต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่กลับมีความแตกต่างอย่างยิ่งยวดในสายตาของนักวิชาการและประชาชนคนเดินถนนทั่วไป ทั้งในเรื่องของฝีไม้ลายมือ บารมี และการได้รับความนิยมหรือการยอมรับจากประชาชนของแต่ละท่านในฐานะผู้นำรัฐบาล

ขอเริ่มด้วยนายกรัฐมนตรีที่ได้รับสมญานามอย่างอบอุ่นว่า “ป๋า” หรือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 2523 จวบจนการยุบสภาในปี 2531 รวมกว่า 8 ปีที่เป็นเบอร์หนึ่งในทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าพลเอกเปรมจะเป็นทหาร แต่เมื่อเข้ามามีบทบาทในแวดวงการเมืองแล้ว ก็ต้องถือว่า ความเป็นนักการเมืองของพลเอกเปรมเป็นหนึ่งในตองอูเช่นเดียวกัน ราศีความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรมเริ่มฉายแววตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน สะพานทางการเมืองพาดมาให้ป๋าเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และก็ไม่ผิดโผ เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมก็ได้รับการเสนอชื่อและสนับสนุนให้ก้าวสู่ตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของฝ่ายบริหารของประเทศไทย

 

นักข่าวต่างเรียกพลเอกเปรมว่า “เตมีย์ใบ้” หรือคู่แข่งขันทางการเมืองมักจะขนามนามพลเอกเปรมว่า “นักฆ่าแห่งลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา” ฉายาเหล่านี้มิใช่ได้มาเพราะแค่อยากจะตั้ง แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของพลเอกเปรมที่นำพารัฐนาวาฝ่าอุปสรรคและมรสุมนานัปการตลอดระยะเวลา 8 ปี จุดแข็งของป๋าที่ได้รับการยอมรับนอกเหนือไปจากความสามารถแล้วก็คงเป็นบารมีที่เหลือเฟือในเกือบทุกวงการ หากพินิจพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ความเป็นหนึ่งของป๋าประกอบไปด้วยคุณสมบัติสามประการดังจะพรรณนาในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ป๋าเปรม อานันท์ และลุงตู่ ความต่างในระนาบเดียวกัน

 

 

ความสามารถใน “การเลือกใช้คน” ของพลเอกเปรมที่สามารถดึงดูดคนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการเข้ามาทำงานให้ตนเองอย่างถวายหัว ช่วงระหว่างรัฐบาลพลเอกเปรม วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจต่างรุมเร้าประเทศไทยจนเสียศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นราคานํ้ามัน ระบบสถาบันการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่พลเอกเปรมกลับระดมบรรดายอดฝีมือเข้ามารวมอยู่ในรัฐบาลจนเป็นทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาก ทั้งคุณสมหมาย ฮุนตระกูล ขุนคลังคู่ใจพลเอกเปรม เจ้าของฉายา “ซามูไรเลือดเดือด” ซึ่งสะบักสะบอมจากการเป็นหมู่บ้านกระสุนตกจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดและไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจนฐานะทางการคลังของประเทศไทยแข็งแกร่งอย่างมากในเวลาต่อมา หรือคุณสุธีร์ สิงห์เสน่ห์ ที่ถูกเรียกขานว่า “หินกลิ้ง” นักบัญชีระดับเซียนเหยียบเมฆ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มิเพียงเท่านั้น บรรดาเทคโนแครตต่างก็เจริญรุ่งเรืองและแสดงความสามารถอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะความแข็งแรงของสภาพัฒน์ฯ ที่กลายเป็นปราการด่านสำคัญที่ขัดขวางนักการเมืองทั้งหลาย

 

ความเป็นคนสุขุมเยือกเย็นและมีหลักการก็เป็นบุคลิกสำคัญที่ทำให้พลเอกเปรมยืนหนึ่งในยุทธจักร ครั้งหนึ่งเคยมีคนกล่าวว่า พลเอกเปรมพูดน้อยเพราะเกรงว่า หากพูดผิดไปแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่ และไม่มีใครสามารถแก้ข่าวได้ หรือท่านเป็นคนรับผิดชอบกับคำพูดอย่างมาก เรื่องราวต่างๆ หรือข่าวลือข่าวลวงจึงไม่เคยถูกเอ่ยออกมาจากป๋าเลยแม้แต่เรื่องเดียว การตัดสินใจในฐานะผู้นำ พลเอกเปรมก็เป็นคนฟังเสียงรอบด้าน และคิดถ้วนถี่ก่อนจะตัดสินใจ แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็พร้อมจะยอมรับผลอย่างแน่วแน่ นอกจากนี้ ป๋าเป็นคนเด็ดขาดก็เป็นคุณสมบัติที่ทำให้ทุกคนเกรงถึงบารมี แม้จะดูเป็นคนใจดีก็ตาม ดังจะเห็นได้จากการก่อรัฐประหารในสมัยป๋าเป็นนายกฯ พลเอกเปรมก็ผ่านมาได้อย่างสบายๆ แต่คณะรัฐประหารผู้กลายเป็นกบฏกลับหนีหัวซุกหัวซุนระหกระเหินไปคนละทิศละทาง

ด้วยคุณสมบัติทั้งสามประการที่กล่าวมานี้ก็หนุนนำให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยกย่องจากหลายฝ่าย และได้รับการเชิดชูเป็นรัฐบุรุษของประเทศไทยเมื่อลงจากตำแหน่งด้วยความเต็มใจและยินดีด้วยอมตะวาจาที่ว่า “ผมพอแล้ว”

ท่านถัดมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์กันมาก่อน ท่านอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีสองสมัยผู้ได้รับการเรียกขานว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” แม้เส้นทางของการเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสองจะมหัศจรรย์ แต่ด้วยความสามารถ ผลงาน และคุณสมบัติส่วนตัว ชื่อ “อานันท์ ปันยารชุน” ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเรียกหาเวลาประเทศเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองอยู่เสมอ ใจความสำคัญของการที่ชื่อของท่านอานันท์นั่งอยู่กลางใจประชาชนชาวไทย โดยลืมเรื่องที่มาของตำแหน่งหรือการเลือกตั้งอาจเอ่ยอ้างได้ดังเรื่องราวต่อไปนี้

การยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งถือเป็นหลักการสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากรัฐบาลท่านอานันท์ การตัดสินใจหลายต่อหลายครั้งล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ของประเทศเป็นเดิมพัน แต่ก็มิได้ทำให้อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศท่านนี้จะเกรงกลัวหรือหวั่นไหวต่ออิทธิพลใดๆ ที่จะบังเกิดแก่ตนแม้แต่น้อย อาทิ โครงการประมูลโทรศัพท์พื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งการที่เอาชาติและประชาชนไว้
เบื้องแรกก็ทำให้การดำเนินนโยบายใดๆ เป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลกำกับ มิต้องหวาดเกรงกับข้อครหาใดๆ

ความรอบรู้จากประสบการณ์และ การรับฟังผู้อื่นก็ถือเป็นคุณสมบัติของท่านอานันท์ที่คนอื่นยากจะลอกเลียนแบบ แม้จะผ่านงานใหญ่ๆ มานักต่อนัก แต่ท่านอานันท์ก็ยังเต็มใจและยินดีที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างกระตือรือร้น คณะรัฐมนตรีของท่านจึงเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีบรรยากาศทางปัญญาที่ครึกครื้นรื่นรมย์ และด้วยบุคลิกดึงดูดมิตรก็ทำให้คณะรัฐมนตรีมีแต่คนเก่งเข้ามาร่วม งาน ไม่ว่าจะเป็น ดร.เสนาะ อูนากูล ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือคุณนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นอาทิ

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่ท่านอานันท์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คือ ความกล้าหาญในการตัดสินใจในการปลดบิ๊กทหารหรือผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพออกจากตำแหน่ง ซึ่งใครๆ ต่างก็รู้ว่า กองทัพนั้นยากที่จะแตะต้องเพราะจะสั่นคลอนถึงเสถียรภาพของรัฐบาล หรือการเสียสละยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ซึ่งต้องรบรากับบรรดานักการเมืองที่ผิดหวังจากตำแหน่งรัฐบาลไปอย่างเฉียดฉิว ความกล้าหาญดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ท่านอานันท์เป็นคนไม่ยึดติดและพร้อมจะเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติจริงๆ

หันกลับมาเหลียวมองผู้นำรัฐบาลปัจจุบันของเราที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ถึงจะมีสื่อบางสำนักพยายามชี้ว่า ลุงตู่กำลังเดินตามรอย “เปรมโมเดล” หรือเส้นทาง ของป๋า แต่หากมองลงไปให้ละเอียดก็จะเห็นว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง คนรอบตัวพลเอกประยุทธ์แม้จะมีคนเก่ง แต่ก็คนละชั้นเมื่อเทียบกับพลเอกเปรม ความสุขุมรอบคอบและเยือกเย็นยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนละขั้วกันเลยทีเดียว ความเด็ดขาดก็ยังถือว่าห่างชั้น สมัยพลเอกเปรม แม้รัฐมนตรีจะผ่านมติไม่ไว้วางใจมาได้ แต่ก็มักจะลาออกหลังจากนั้น ส่วนทุกวันนี้ ใครมีเรื่องฉาวโฉ่ก็ยังนั่งกันหัวโด่ให้เห็นกันในรัฐบาล 

หรือจะเทียบปอนด์ต่อปอนด์กับท่านอานันท์ก็เห็นท่าจะลำบากไม่น้อย ทั้งการเมืองไทยและการเมืองระหว่างประเทศต่างให้ความยำเกรงท่านอานันท์ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งบัดนี้ แต่ก็หาเหตุการณ์ดังกล่าวได้ยากจากพลเอกประยุทธ์ นึกไปแล้วก็เป็นห่วงอนาคตประเทศไทย แต่ก็ยังหวนคิดรำลึกถึงอดีต คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้คนอย่างป๋าเปรมหรือท่านอานันท์มาเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้เลย