อีกหนึ่งทางเลือกของคนชราในไต้หวัน

24 ก.ย. 2564 | 23:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนตอนที่ 2 ของบ้านพักคนวัยเกษียณที่ไต้หวัน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านมาก มีบางท่านที่ได้โทรเข้ามาสอบถามรายละเอียดเยอะมากครับ ต้องขอขอบพระคุณที่กรุณาไปสืบเสาะหาเบอร์โทรศัพพ์ของผม จนได้คุยกับผมโดยตรงครับ 


และยังมีแฟนคลับที่เป็นชาวไต้หวัน ได้กรุณาส่งลิ้งค์ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านพักคนวัยเกษียณ ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์หากท่านใดสนใจหรือว่าง ก็สามารถเปิดเข้าไปชมได้นะครับ  ตามลิ้งค์ข้างล่างนี้ครับ https://orange.udn.com/orange/story/121199/5701530 ในนี้เขาจะรวมเอาบ้านพักคนวัยเกษียณไว้ทั้งหมด 7 แห่งมาให้ชม ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นราคาค่าใช้จ่ายที่เขาได้กำหนดไว้ครับ

 
ในวันนี้ผมจะพาท่านไปชมบ้านพักอีกแห่งหนึ่ง ที่น่าสนใจไม่แพ้กันกับที่แห่งแรกเลยครับ นั่นก็คือ หรุ่นฟู หย่างเซินชุน ( Ruen Fu) สถานที่นี้ตั้งอยู่ที่เมืองไทเป ในเขตต้านสุ่ย ถนนต้าเสวหลู่ 

วันที่ผมไปดูก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากลูกชายเพื่อนเช่นเคยครับ สถานที่แห่งนี้จะแตกต่างจากแห่งแรกที่เราไปเยี่ยมชม เพราะที่แรกเป็นสถานที่ที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่มาก แต่ที่นี่จะเป็นการสร้างบนพื้นที่ดินที่ไม่ใหญ่มาก คงเป็นเพราะอยู่ในเขตเมือง เพราะจะอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยต้านสุ่ยไม่ไกล อีกทั้งที่ดินภายในเมืองไทเปนั้นแพงมากๆ เขาจึงสร้างเป็นอาคารสูงหลายสิบชั้น ทำให้ดูคับแคบไปถนัดตาครับ แต่ว่าภายในโครงการเขาก็จัดแบ่งออกเป็นหลากหลายลักษณะ 


อาทิเช่น มีคอนโดมิเนียมที่ขายขาดให้แก่ผู้สูงอายุ และมีบ้านพักคนวัยเกษียณอยู่ในอาคารเดียวกัน อีกทั้งยังมีส่วนของห้องเช่าคล้ายโรงแรมด้วย จึงทำให้มีความรู้สึกว่าไม่เหมือนของฉางเกิน หยางเซินเหวินฮั้วชุน ที่เขาแบ่งอาคารออกเป็นตามลักษณะของการใช้งานครับ
        

ที่นี่เขาก็เครมว่าสถานที่ของเขา เป็นการให้บริการที่ครบวงจรเช่นกันครับ ภายในอาคารจะแบ่งออกเป็นห้องโถงใหญ่ ซึ่งอยู่รวมกับลานเอนกประสงค์ ซึ่งในวันที่ผมไปเยี่ยมชมนั้น เขาก็กำลังให้ผู้สูงอายุใช้ลานดังกล่าว ในการออกกำลังกายด้วยการเต้นรำแบบเป็นวงกลม อาจจะเรียกว่าออกกำลังกายตามจังหวะเสียงเพลงก็ได้นะครับ เพราะผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะเต้นรำให้เป็นเรื่องเป็นราวได้จริงๆ นัก 
 

นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางท่านก็ไม่ได้ร่วมวงในการออกกำลังกายด้วยครับ จึงทำให้ดูไม่ค่อยจะเป็นพิธีรีตองเท่าที่ควร หลังจากนั้นทางพนักงานที่มาต้อนรับเขาก็ออกมาพาไปนั่งที่ห้องประชุมเล็กๆ แล้วอธิบายถึงการใช้ชีวิตแต่ละวัน และกิจกรรมต่างๆ ที่เขาได้จัดสรรไว้คอยบริการผู้สูงอายุครับ 


ซึ่งก็ไม่เหมือนกับที่แรกที่ผมไปครับ แต่ที่สำคัญที่เป็นจุดขายให้เขา ก็คือการเก็บค่าบริการค่อนข้างจะย่อมเยามาก เพียงแต่ค่ามัดจำเขาจะจัดหนักกว่าที่แห่งแรกเยอะเลยครับ

 
ในด้านอาหารการกิน ที่นี่เขาจะเน้นด้านนี้เป็นพิเศษ แต่ก็เช่นกันครับ คือเขาเรียกเก็บค่าอาหารจากผู้พักเพิ่มเติมจากค่าที่พักครับ ห้องอาหารถ้าเปรียบเทียบกับที่แห่งแรก ผมคิดว่าที่นี่จะมีบรรยากาศหรือสไตล์ไต้หวันมากกว่าที่แรก เพราะที่แรกจะออกแนวตะวันตกหรือญี่ปุ่นนิดๆ 


ดังนั้นถ้าเป็นการเสิร์ฟให้แก่คนไต้หวัน ผมก็คิดว่าเขาทำได้ไม่เลวเลยละครับ ในส่วนของห้องพัก เขาจะทำลักษณะห้องสตูดิโอ ซึ่งถ้าเทียบกับที่แห่งแรก ถ้าผมเป็นผู้สูงอายุ ผมก็ยังรักที่จะเลือกที่แห่งแรกมากกว่า แต่สำหรับคนไต้หวัน เขาอาจจะเคยชินกับการพักอาศัยบ้านแบบแฟลตมากกว่าบ้านที่มีบริเวณเหมือนประเทศไทย ผมอาจจะคิดผิดก็ได้ครับ

 
จากการแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่มาต้อนรับ เขาบอกว่าบ้านพักคนวัยเกษียณของเขา มีคนไต้หวันที่อยู่ต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่มาใช้บริการที่นี่ เพราะเมื่อคนเราแก่ตัวแล้ว ก็อยากจะกลับมาบ้านเกิด โดยอาศัยเงินบำนาญวัยเกษียณที่ได้รับมาจากรัฐบาลต่างประเทศ นำมาใช้บริการที่ไต้หวัน 


โดยไม่ต้องไปหาซื้อบ้านที่มีราคาแพงมาก แล้วใช้ชีวิตที่นี่เป็นเรือนตายเลยครับ ผมถามว่าแล้วกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลมีมาใช้บริการหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่ค่อยเห็นมีนะครับ เพราะที่เขาแม้จะอยู่ในเขตเมือง และมีราคาค่าบริการไม่แพงมาก แต่พูดถึงความจอแจก็จะมีมากกว่าที่อื่น ซึ่งที่เขานี้ ก็คล้ายกับการใช้ชีวิตสังคมคนในเมืองมากกว่าที่อื่นนั่นเองครับ
        

หลังจากเยี่ยมชมแล้วเสร็จ ทำให้ผมสะท้อนใจว่า คนไต้หวันเขามีสถานที่สำหรับคนวัยเกษียณดีกว่าเราเยอะมาก แม้จะแตกต่างกับประเทศญี่ปุ่น แต่ทั้งสองประเทศก็มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมาก สถานที่บ้านพักคนวัยเกษียณต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป สักวันหนึ่งประเทศไทยเราจะต้องพบกับสังคมผู้สูงวัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราคงได้เห็นบ้านเรามีสถานที่อย่างนี้อย่างแน่นอนครับ