ทรัพย์ที่ควรเตรียมไว้เพื่อใช้ในบั้นปลายของชีวิต

27 ส.ค. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่เขียนบทความคอลัมน์นี้ไปสิบตอน ก็ได้มีคำถามหลั่งไหลเข้ามาหลายคำถาม ซึ่งผมจะขอนำเอาคำถามที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ผู้สูงวัย นำมาตอบในบทความนี้นะครับ มีท่านหนึ่งถามมาว่า เราควรจะต้องตัวออมเงินเพื่อใช้ในเมื่อถึงวัยเกษียณอายุสักเท่าไหร่จึงจะพอเพียง ไม่ทำให้ดูอดสูอนาถาจนเกินไป  ผมเองต้องตอบ  ว่า  ก็แล้วแต่มาตฐานของชีวิตที่แต่ละคนจะคาดหวังไว้นะครับ ซึ่งบางคนก็ตั้งความต้องการของตนเองไว้อย่างสวยหรู แต่บางคนก็บอกว่าแค่พออยู่พอกิน บางคนก็บอกว่าจะต้องใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองใหญ่ บางคนก็บอกว่า ต้องการแค่อยู่บ้านนาป่าดอย ปลูกผักเลี้ยงปลาพออยู่ได้ก็เพียงพอ ก็เป็นความฝันอันสูงสุดของแต่ละคนแล้ว ดังนั้นความต้องการของแต่ละคน แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิงครับ
          

ในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเขามีสวัสดิการให้แก่คนสูงวัยไว้ดีมาก การเข้าไปพักยังบ้านพักคนวัยเกษียณของเขา ไม่ต้องกังวลใจเลยครับว่าจะลำบาก เพราะภาครัฐจ่ายเงินเบี้ยคนชราไว้ได้สูงมาก ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลเขาก็ยังให้ความสำคัญถึงความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยอยู่นะครับ แต่เขาไม่ได้เข้าไปช่วยโดยทางตรง เขาจะช่วยโดยทางอ้อมมากกว่า คือเขาไม่ได้ไปช่วยรับภาระให้แก่ประชาชนตรงๆ แต่เขาช่วยให้แก่ผู้ประกอบการของสถานบ้านพักคนชรามากกว่า ในส่วนของประเทศสิงคโปร์ เขาก็ช่วยในทางอ้อมเสียส่วนใหญ่ ทางตรงก็มีบ้างเล็กน้อยครับ ในส่วนของประเทศไทยเราเอง เบี้ยคนชราเดือนละไม่กี่ร้อยบาท ไม่เพียงพอที่จะนำไปชำระค่าบริการของบ้านพักคนชราได้หรอกครับ แม้แต่บ้านพักคนชราของภาครัฐบาลเช่นที่  “บ้านบางแค” หากจะหวังพึ่งพาค่าเบี้ยคนชราอย่างเดียว ผมก็คิดว่าคงไม่สามารถเข้าไปพักได้ครับ ดังนั้นยากครับที่จะตอบคำถามนี้ได้ถูกใจผู้ที่ถามมาครับ

ในความคิดส่วนตัวผม ผมคิดว่าเมื่อเรายังมีร่างกายแข็งแรง สามารถทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบได้ เราควรจะต้องสะสมเงินไว้ให้พอเพียงสำหรับการใช้ชีวิตในบั้นปลายให้ได้ แล้วถามว่า เวลาที่เหลือในบั้นปลายชีวิตจะมีสักกี่ปีละ ผมขออนุญาตสมมุตินะครับว่า เราเริ่มนับจากวันที่เรารู้ตัวว่าเริ่มแก่แล้วเป็นต้นไป อีกสักยี่สิบปีก็น่าจะพอเพียงนะครับ สมมุติว่าวันที่เริ่มนับหนึ่งจากอายุ 65 ปี ก็หมายความว่าเราจะจากโลกนี้ไปในอายุ 85 ปีหรือก่อนหน้านั้น ซึ่งถ้าเรามีทรัพย์สินที่เราเตรียมไว้สัก 10 ล้านบาท นั่นหมายความว่าแต่ละปี เราจะใช้จ่ายเงินได้ไม่เกินปีละ 5แสนบาท เดือนละประมาณ4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งถ้าถามถึงตัวผมเอง ผมก็คิดว่าเกินพอครับ 
        

แล้วเงินที่นับวันจะด้อยค่าลงทุกวัน อัตราเงินเฟ้อที่มีเกิดขึ้นในทุกๆ ปี แล้วเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรให้เงินที่เรามีเก็บในทุกๆ ปี ไม่ด้อยค่าลงไปละ ผมคิดว่าสิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึง คือทำอย่างไรให้เงินหรือทรัพย์ที่เราถือครองอยู่ เกิดการงอกเงยขึ้นไม่ด้อยค่าลง นั่นคือคำตอบที่ตรงประเด็นที่สุด แต่ก็มีข้อแม้นะครับ คือถ้าเกิดปัญหาประเทศชาติล้มละลาย ซึ่งผมเองคิดว่าประเทศไทยเราจะไม่เกิดอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทีนี้เรามาดูว่าทรัพย์อะไรที่งอกเงยไม่ลดค่าลง ต้องบอกว่า “อสังหาริมทรัพย์” หรือบ้านและที่ดิน คือในชีวิตนี้ไม่เคยมีการลดค่าลงไปเลย 

ปัจจัยที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ไม่ลดค่า เพราะจำนวนประชากรโลก โตเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่มีวันไหนที่ลดลงเลย จะมีเพียงประเทศที่เกิดวิกฤติ หรือประเทศที่เกิดภัยสงครามเท่านั้นครับ ที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ลดค่าลง ทุกปีจะต้องมีการเพิ่มมูลค่าตามอัตราเงินเฟ้อแน่นอน เพียงแต่จะมากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่องปกติครับ หากท่านสังเกตดูรอบตัวท่าน ท่านก็จะทราบอย่างแน่นอนครับ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า เราต้องมีบ้านช่องห้องหอหรืออสังหาริมทรัพย์ไว้บ้างนะครับ ใครที่ยังไม่มี ก็ควรจะต้องคิดแล้วละครับ
           

ยังมีทรัพย์อีกอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถงอกเงยได้ ที่ผมเห็นเพื่อนๆ ทำกันมาก คือการสะสมทองคำและเพชรพลอย ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยครับ ยังมีบางคนก็ชอบที่จะซื้อ-ถือครองตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแม้จะมีเงินปันผลอันน้อยนิด แต่ก็ยังมากกว่าเงินฝากธนาคาร ดังนั้นผมก็เห็นเพื่อนๆ หลายๆ คนชอบที่จะสะสมทรัพย์ดังกล่าวเช่นกัน ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่ผมเห็นนำออกมาขายกันมาก ก็คือการทำประกันชีวิต ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต ผลตอบแทนให้แก่ผู้ที่ทำประกันชีวิตไว้ ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผมตรงๆ ว่าอย่างไหนดีกว่ากันละ ผมก็จะตอบตรงๆ ว่าผมจะไม่เลือกทำอย่างหลังๆ เพราะผมไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะสามารถครอบคลุมถึงอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้นโดยส่วนตัว ผมชอบที่จะทำการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ครับ เหตุผลง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง คือตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นราคาที่ดินถูกกว่าในอดีตเลยครับ 
          

ถ้าเรามีหลักทรัพย์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว สักวันหนึ่ง หากเราแก่ตัวลง จำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินทองในการดำรงชีวิต หรือไม่ต้องการรบกวนลูกหลานมาดูแลชีวิตของเรา เราก็สามารถที่จะขายทรัพย์สมบัติของเรา นำมาใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิตได้ โดยเราสามารถคำนวณจากวันเวลาที่เหลืออยู่ แล้วเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้บ้าง เราก็จะไม่ต้องไปลำบากยุ่งยากลูกหลาน ชีวิตคนเราก็มีเท่านี้แหละครับ เกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมา ตายไปเราก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ นี้คือสัจธรรมของชีวิต ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวเราให้ดีครับ