บ้านพักคนวัยเกษียณของไต้หวัน

10 ก.ย. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากไปดูงานบ้านพักคนวัยเกษียณมาแล้วสามประเทศ อีกประเทศหนึ่งที่ผมจะต้องพลาดไม่ได้ คือที่ “ไต้หวัน”ครับ เพราะเป็นสถานที่ที่ผมคุ้นเคยและเรียนจบระดับมัธยมปลายมาจากที่นั่น จึงมีความผูกพันกับไต้หวันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่บุญธรรมและน้องบุญธรรมที่นั่น บ้านที่ผมเคยอาศัยอยู่มาสามปี และได้รับความรักความห่วงหาอาทรมาโดยตลอด อีกทั้งผมยังมีพี่สาวคนไทยที่ผมนับถือมากคนหนึ่ง ที่ท่านได้เปิดร้านอาหารไทยชื่อ “ร้านศาลาไทย”อยู่ที่เมืองไทเป ผมยังมีพี่สาวอีกคนที่เป็นคนไต้หวัน ท่านมีร้านขายสินค้าของฝากที่ขายให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอีกคน ที่คอยดูแลผมมาตลอดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นอีกหลายคน ที่ยังคงมีการติดต่อกันตลอด และที่สำคัญผมมีหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่เป็นเพื่อนเรียนของผม ที่คอยอุดหนุนจุนเจือกันมาตลอดเช่นกัน เรียกว่าไปถึงไต้หวันถ้าพักไม่เกินหนึ่งเดือน คงไม่สามารถที่จะทานข้าวคนเดียวได้แน่นอน เพราะเพื่อนๆ ที่อยากจะเจอกันเยอะมาก นี่คือความมีน้ำใจของคนไต้หวันจริงๆ ครับ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อผมไปทำธุระที่เมืองไทเป เพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เห็นว่าผมไปดูงานด้านนี้มาแล้วหลายประเทศ จึงบอกให้ลูกชายคือ Mr.Sho พาผมไปเยี่ยมชมบ้านพักคนวัยเกษียนที่นั่น เพราะเขาคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผมในอนาคต ซึ่งผมก็ดีใจมากที่จะได้เปิดหูเปิดตาอีกครั้ง นอกจากนี้ที่ไต้หวันในอดีตได้เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศญี่ปุ่นมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นการรับเอาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวไต้หวัน จึงมีอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าไปรวมอยู่ด้วยอย่างกลมกลืนเลยครับ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ภาษาของชาวไต้หวัน ที่พูดภาษาจีนฮกเกี้ยน แต่ก็ยังคงแฝงเอาภาษาญี่ปุ่นผสมปนเปเข้าไปด้วยหลายเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว การกินการอยู่ก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่นซุปมิโซะ ก็ยังคงเป็นซุปญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมทานกันมากในหมู่ชาวไต้หวัน เพียงแต่รสชาติอาจจะไม่เหมือนของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นจะทานค่อนข้างจะไม่เข้มข้นเท่าของไต้หวัน เพราะซุปมิโซะของไต้หวัน จะใส่ปลาทั้งตัวหรือไม่ก็เป็นอาหารทะเลลงไป ทำให้น้ำซุปจะเข้มข้นมากนั่นเอง ดังนั้นการได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านพักคนวัยเกษียณของไต้หวัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่งเลยครับ 

ในไต้หวันบ้านพักคนวัยเกษียณหรือบ้านพักคนชราที่นั่น เขาจะไม่เรียกว่าเป็นบ้านพักคนชรา เพราะเขาคงคิดว่าเป็นการไม่เหมาะสมกระมั้ง แต่เขาจะเรียกว่า “หย่างเซินแหย้น” ถ้าแปลเป็นภาษาไทย “หย่างเซิน”หมายถึง “รักษาสุขภาพ” ส่วน “แหย้น” หมายถึง สถานที่ เขานิยมใช้กับสถานพยาบาล ดังนั้นถ้าแปลตรงตัวก็หมายถึงสถานรักษาสุขภาพน่าจะตรงตัวที่สุดครับ การไปเยี่ยมชมครั้งนี้ ผมได้ไปชมมาทั้งหมดสามแห่งด้วยกัน แต่จะขอนำมาเล่าแห่งที่น่าสนใจที่สุดนะครับ แห่งแรกที่ไปชมและประทับมากที่สุด คือสถานบ้านพักคนวัยเกษียณที่บริหารจัดการโดยกลุ่มทุนใหญ่นั่นคือกลุ่ม Formosa Plastics Group ซึ่งกลุ่มนี้เขามีกิจการค่อนข้างจะหลากหลาย อีกทั้งยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่โด่งดังที่สุดของไต้หวันอยู่ในเครือของเขาด้วย นั่นคือโรงพยาบาลฉางเกิน (Chang Geng Hospital) โดยสถานบ้านพักที่นี่เป็นการจัดการที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เพราะที่นี่เขาตั้งชื่อโครงการว่า “หมู่บ้านวัฒนธรรมฉางเกินหย่างเซินเหวินฮั้วชุน” โครงการมีเนื้อที่ค่อนข้างจะใหญ่โตมาก ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารแปด-เก้าชั้น และอาคารสันทนาการด้วยอีกหนึ่งอาคาร มีสวนป่าที่ใหญ่มาก การบริการของที่นี่เขาได้รับการยอมรับให้เป็นการจัดการระดับห้าดาวเลยทีเดียวครับ
         

ที่หมู่บ้านวัฒนธรรมฉางเกินหย่างเซินเหวินฮั้วชุนแห่งนี้ มีห้องพักขนาดต่างๆ มากถึง 4,000 ห้อง ดังนั้นผู้ที่มาพักอาศัยที่นี่มีจำนวนมาก จึงต้องมีการบริหารจัดการเป็นประหนึ่งหมู่บ้านใหญ่ๆ หมู่บ้านหนึ่งเลย ภายในหมู่บ้านจะมีทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ ร้านอาหารและร้านกาแฟ อีกทั้งยังมีโรงยิมสำหรับการออกกำลังกาย และโรงละครการแสดงต่างๆ โรงแรมสำหรับญาติๆ ของผู้ที่มาพักอาศัย ในการมาเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ของตนเองก็สมารถพักที่โรงแรมนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสวนสุขภาพ สำหรับให้ผู้พักได้ออกมาเดินเล่นออกกำลังกาย สวนสำหรับเพาะปลูก สนามเด็กเล่น และมุมสำหรับพักผ่อนในสวน เรียกว่าสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่ผมเคยไปเห็นมาเลยครับ
       

ทางด้านการดูแลผู้สูงอายุที่พักอยู่ที่นี่ เขามีทีมงานบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่า แม้หมู่บ้านวัฒนธรรมฉางเกินนี้ จะไม่ได้อยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงพยาบาลฉางเกิน เพราะโรงพยาบาลอยู่ในเมืองไทเป แต่หมู่บ้านนี้อยู่ในเมืองเถาแหยน แต่เขาก็มีการส่งแพทย์พยาบาลเข้ามาช่วยดูแลอย่างดี นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการรวมกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งชื่อกลุ่มว่า  “กลุ่มชาวผมสีเงิน” ให้ได้รับการเรียนรู้วิวัฒนาการใหม่ๆ ของโลกวันนี้ และได้มีการส่งกลุ่มชาวผมสีเงินนี้ ออกไปช่วยโรงเรียนที่อยู่นอกชุมชนที่เขาต้องการผู้มีประสบการณ์ มาช่วยสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ระดับมัธยมอีกด้วย เรียกว่าได้ใจทั้งผู้ที่มาพักและได้ใจชาวชุมชนรอบข้างไปในตัวเลยครับ เพราะการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ชีวิตอย่างโชกโชน ได้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการ ด้านการดำรงชีวิต ด้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของไต้หวัน และด้านเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุบางท่านมีอยู่ อีกทั้งยังจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดีทีเดียว
     

ที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในบ้านพักคนวัยเกษียณในไต้หวันเท่านั้น ผมจึงอยากจะนำมาถ่ายทอดให้แก่ทุกท่านได้เห็นว่า บริษัทที่มีกิจการค่อนข้างใหญ่โตมากๆ ในต่างประเทศ เขามักจะมองในมุมที่ต้องทำ CSR ให้แก่สังคมมากๆ ไม่ได้ทำกำไรแล้วนอนกอดสมบัติไว้ใช้แต่เพียงคนเดียวเสมอ ดังนั้นเราจะเห็นภาพที่ไต้หวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เลยครับ ไว้อาทิตย์ผมจะมาเล่าต่ออีกสักครั้งนะครับ เพราะที่นี่น่าสนใจมากๆ ครับ