การศึกษากับครอบครัวยากจน พ่อแม่ไม่สนใจ หรือ ไม่มีเงิน

01 ก.ย. 2564 | 05:21 น.

การศึกษากับครอบครัวยากจนพ่อแม่ไม่สนใจ หรือ ไม่มีเงิน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์, นิชาภัทร ไม้งาม, จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,710 หน้า 5 วันที่ 2 - 4 กันยายน 2564

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในหลายด้าน ภาคการศึกษาเป็นหนึ่งในภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ดังกล่าว และจากเดิมที่ประเทศไทยประสบปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมลํ้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการ Learning Coin ที่ทำการสร้างแรงจูงใจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่ครอบครัวยากจน เพื่อสนับสนุนให้เด็กในครอบครัวได้เรียนหนังสือ มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ รวมทั้งเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสของเด็ก ที่ไม่สามารถช่วยที่บ้านทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งหวังผลระยะยาวให้เกิดการสร้างความตั้งใจของเด็กในการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่โอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในที่สุด 

 

ภายหลังการดำเนินงานของ กสศ. และยูเนสโกไปแล้วระยะหนึ่ง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมินและแสวงหาแนวทางการให้เงินอุดหนุนแก่เด็กนักเรียนในครอบครัวที่ยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวิธีการศึกษาใช้การทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อตอบวัตถุประสงค์ 2 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง เพื่อหารูปแบบการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมภายใต้โครงการ Learning Coin และสอง เพื่อทดลองและประเมินผลสัมฤทธิ์ของรูปแบบการดำเนินโครงการที่จะนำไปสู่การให้แรงจูงใจในอนาคต

 

โครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก และ กรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กในชั้นประถมศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น และเด็กที่อยู่ในการศึกษานอกระบบ (กศน.) เด็กทุกคนจะได้รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

ได้แก่ แท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เด็กทุกคนพร้อมที่จะอ่านหนังสือ โดยไม่มีข้อจำกัดของการมีฐานะยากจน และไม่เพิ่มภาระของผู้ปกครองในการจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับเด็กที่เข้าร่วมโครงการ ภายในแท็บเล็ตจะมีแอปพลิเคชันที่เรียกว่า Learnbig ที่รวบรวมหนังสือหลากหลาย ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศจำแนกตามวัยของเด็กให้ได้เลือกอ่าน ทั้งหนังสือเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา และหนังสือนิทาน

 

เด็กที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นเด็กที่คุณครูคัดเลือกมาอย่างหลากหลายโดยเด็กจำนวน 1 ใน 4 เป็นเด็กที่มีลักษณะร่วม คือ ฐานะทางบ้านยากจนและอ่านหนังสือไม่คล่อง รองมาอีกร้อยละ 21 เป็นเด็กที่อ่านหนังสือไม่คล่องหรือเป็นเด็กเรียนอ่อน และสุดท้ายเป็นเด็กที่ยากจนอีกเกือบร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นเด็กที่ตั้งใจอ่านหรือขยันเรียน และเด็กพิเศษที่เข้ามาร่วมโครงการ 

 

การศึกษากับครอบครัวยากจน พ่อแม่ไม่สนใจ หรือ ไม่มีเงิน

 

เมื่อเด็กอ่านจบ แอพพลิเคชั่นจะเก็บข้อมูลการอ่าน ทั้งระยะเวลาที่อ่านความถี่ และความสมํ่าเสมอในการอ่าน รวมทั้งมีการทดสอบความเข้าใจจากการอ่าน จากนั้นคะแนนทั้งสามส่วนจะถูกนำมาคำนวณเป็นคะแนนรวมและประเมินกับเป็นผลตอบแทนให้กับเด็กแต่ละคน 

 

โครงการนี้ดำเนินเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 9 เดือน พบความน่าสนใจในหลายประการ เช่น เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอัตราความยากจนสูง จะมีคะแนนการอ่านและความต่อเนื่องในการอ่านที่สูงกว่าเด็กที่อยู่ในเมืองอย่างชัดเจน เด็กในชั้นประถมศึกษาจะมีการอ่านที่มากกว่าช่วงชั้นอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็กชั้น ป. 6 ที่มีคะแนนการอ่านสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 เท่า  

 

และเมื่อประเมินจากทัศนคติยังพบด้วยว่า หากเปรียบเทียบการอ่านจากแท็บเล็ต และการอ่านจากหนังสือเล่ม เด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีความแตกต่างกัน นั่นหมายความว่าเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการอ่านหนังสือให้กับเด็กยากจนและอยู่ห่างไกลโรงเรียนที่มีคุณภาพดีได้ในอนาคต

 

อย่างไรก็ดี การอ่านหนังสือผ่านแท็บเล็ต มีข้อจำกัดบางประการเมื่อเทียบกับหนังสือเล่ม เช่น สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่ครอบคลุม หรือหากครอบครัวต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตเอง ก็ถือว่ามีราคาแพง นั่นหมายความว่าการสนับสนุนการศึกษาหรือการอ่านหนังสือของเด็กผ่านแท็บเล็ต จำเป็นต้องนึกถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วย

 

โครงการศึกษาได้ทำการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ การทดสอบว่าการให้เงินเป็นแรงจูงใจในการอ่านหนังสือกับตัวเด็กเองโดยตรง เพื่อให้เด็กมีความภาคภูมิใจในการได้รับค่าตอบแทนและนำไปให้
ผู้ปกครองใช้จ่ายในครอบครัว กับการให้เงินจากการอ่านหนังสือให้กับผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองช่วยสนับสนุนการอ่านหนังสือของเด็ก มีผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันหรือไม่

 

การทดลองได้แบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่มที่มีคุณลักษณะ และคุณสมบัติของเด็กที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก ทั้งสัดส่วนของเด็กชายและหญิง อายุเฉลี่ย เกรดเฉลี่ยของกลุ่ม ระยะเวลาการทำงานของเด็กในแต่ละวัน และจำนวนหนังสือที่บ้าน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ของการทดลองในทั้งสองกลุ่มได้คลาดเคลื่อนน้อยลง

 

ผลการศึกษาพบว่า การให้เงินเป็นแรงจูงใจกับตัวเด็ก ซึ่งเป็นผู้อ่านหนังสือโดยตรง กับการให้แรงจูงใจกับตัวผู้ปกครองนั้น ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ไม่ว่าจะให้ตัวเด็กหรือให้ผู้ปกครอง จะได้ผลสัมฤทธิ์จากคะแนนการอ่านหนังสือของเด็กที่ไม่แตกต่างกัน 

 

ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของครอบครัวของเด็กยากจนโดยสามารถทำความเข้าใจได้จากการตีความข้อมูล และสัมภาษณ์ กล่าวคือ หากเป็นการให้แรงจูงใจกับเด็ก เด็กก็จะเอาไปให้ผู้ปกครอง และหากเป็นการให้แรงจูงใจกับผู้ปกครอง พวกเขาก็จะนำไปใช้จ่ายในครัวเรือนเช่นกัน 

 

นั่นย่อมหมายความว่า เงินจำนวนนี้ถูกใช้เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาส ของการที่เด็กต้องช่วยงานผู้ปกครองในการทำงานหาเงินของที่บ้าน รวมทั้ง หากทั้งบ้านมีรายได้มากพอ ผู้ปกครองก็พร้อมจะสนับสนุนการศึกษาของเด็กเช่นกัน ปัญหาการศึกษาของครัวเรือนรายได้น้อย จึงเป็นปัญหาหลักทางด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ปกครองต้องดึงตัวเวลาของเด็กออกจากเวลาที่พึงใช้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่ปัญหาทางด้านทัศนคติที่ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้ปกครองแต่อย่างใด 

 

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปนี้อาจเกิดขึ้น เพราะเป็นการทำงานในโครงการที่เด็กได้รับการศึกษาอยู่แล้ว ทำให้อาจพบแต่ผู้ปกครองที่สนับสนุนการศึกษาของเด็กเท่านั้น

 

ข้อสรุปเบื้องต้นของโครงการนี้ ชี้ให้เห็นประเด็นใหญ่บางประการในสังคมไทย ได้แก่ 1. การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เช่น แท็บเล็ต มีโอกาสประสบความสำเร็จในการสร้างการเข้าถึง และลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาได้ 

 

2. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงและมีราคาถูก เป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าถึงการศึกษา เพราะจะทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาไปพร้อมกัน 

 

3. อุปสรรคสำคัญของครัวเรือนที่ยากจนในการเข้าถึงการศึกษาไม่ใช่ทัศนคติที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาของผู้ปกครอง แต่เป็นการที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้พ่อแม่เองต้องใช้เวลาของเด็ก เพื่อมาช่วยทำงานและหารายได้ 

 

ดังนั้น นโยบายการกระจายรายได้หรือการมีสวัสดิการพื้นฐานที่ครอบคลุมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงและลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา