ความเชื่อมโยงดิจิทัล ต่อการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียน

03 มิ.ย. 2564 | 14:25 น.

ความเชื่อมโยงดิจิทัล ต่อการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,684 หน้า 5 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน 2564

การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจากผลของโควิด-19 แนวทางดังกล่าวเน้นยํ้าถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงดิจิทัล (Digital connectivity) ซึ่งเป็นการพัฒนาความเชื่อมโยงดิจิทัลในภูมิภาค ทั้งในส่วนของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้า และความเชื่อมโยงทางไซเบอร์ ที่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนเสรีของข้อมูล สารสนเทศ และบริการ ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้สำเร็จ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการเป็นหนึ่งในตลาดออนไลน์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยในปี 2562 มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 360 ล้านคน (และเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 460 ล้านคน ณ มกราคม 2564 ข้อมูลจาก Statista) และมีมูลค่าตลาดรวมเท่ากับ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 4 ธุรกิจหลักคือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ท่องเที่ยวออนไลน์ สื่อออนไลน์ และ บริการเรียกรถ (Ride hailing) (Google, Temasek, and Bain & Company, 2019)

นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า ยูนิคอร์น จำนวนมากถึง 17 บริษัท (ณ เมษายน 2564) ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นต้นแบบของธุรกิจดิจิทัล ทั้งในส่วนของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจเพย์เมนท์ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และธุรกิจเกมส์ออนไลน์ 

เพื่อให้สามารถมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคในยุค 4.0 อาเซียนจำเป็นต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจดิจิทัล ซึ่งสามารถทำได้โดยพัฒนาความเชื่อมโยงดิจิทัล 

 

ความเชื่อมโยงดิจิทัล ต่อการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียน

 

 

งานวิจัยของ Chen (2020) นักเศรษฐศาสตร์จาก Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ระบุว่า ความเชื่อมโยงดิจิทัลมีองค์ประกอบ 4 ด้านคือ (1) ความเชื่อมโยงด้านข้อมูล (2) โลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรี (3) ความเชื่อมโยงด้านการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการไหลเวียนของเงิน และ (4) ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างโลกไซเบอร์กับส่วนที่เป็นกายภาพ

 

ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลที่ดีเกี่ยวข้องกับการพัฒนา 2 ส่วนคือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ การธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) โดยในภาพรวม อาเซียนมีคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบท

โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ความครอบคลุมของเครือข่าย ซึ่งยังมีบางพื้นที่ในอาเซียนที่การพัฒนาเครือข่าย 4G ยังไม่ทั่วถึง ความเร็วของอินเตอร์เน็ต ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ความสามารถในการจ่าย โดยกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยต้องใช้เงินในสัดส่วนที่มากจากรายได้เพื่อซื้อสมาร์ทโฟน และการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือ ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทำได้ยาก เนื้อหาและบริการออนไลน์ ซึ่งบางประเทศยังคงต้องพัฒนาเพิ่มเติม และ ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ

ซึ่งการพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในแต่ละประเทศยังคงแตกต่างกัน สำหรับในส่วนของการธรรมาภิบาล ข้อมูล ซึ่งหมายถึงการกำกับดูแลข้อมูลนั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของข้อมูล และช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในทุกภาคส่วนในประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

โลจิสติกส์ เป็นส่วนสำคัญต่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้โลจิสติกส์เพื่อส่งของโดยการมีระบบโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ความยืดหยุ่น และประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล 

 

ระบบการชำระเงินดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและสะดวกเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว โดยจะช่วยลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ และ การชำระเงินเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ การชำระเงินมีความรวดเร็วและคล่องตัว และส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเติบโตต่อไป

ความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายในแต่ละประเทศและความร่วมมือระหว่างสามด้านที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอีกส่วนที่สำคัญต่อความเชื่อมโยงดิจิทัล การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างส่วนเสมือนจริงกับส่วนกายภาพสำคัญต่อการทำงานของระบบนิเวศดิจิทัล นอกจากนี้ ควรมีกฎระเบียบในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งจะช่วยเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าว

การพัฒนาความเชื่อมโยงดิจิทัล ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภายในประเทศและในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ การพัฒนายังต้องคำนึงถึงความเหลื่อมลํ้าทางดิจิทัล (Digital divide) ที่อาจเกิดขึ้น ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และการสนับสนุนให้ธุรกิจรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital inclusion) ได้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของอาเซียนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาค