อินเดียโมเดล เรียนรู้เพื่อรับมือกับโควิดระลอกต่อไป

11 ส.ค. 2564 | 06:56 น.

อินเดียโมเดล เรียนรู้เพื่อรับมือกับโควิดระลอกต่อไป : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย.. รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3704 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ส.ค.64  

สื่อตะวันตกอาจจะทำให้ใครหลายๆ คน มีทัศนคติด้านลบกับ การรับมือกับโควิด-19 ของประเทศอินเดีย แต่หากพิจารณาจากตัวเลขสถิติอย่างปราศจากอคติ จะพบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย ดีกว่าหลายๆ ประเทศในโลก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา และข้อมูลหลายๆ ตัวของอินเดียเอง ก็อาจจะอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศไทยด้วยซ้ำ (ดูตารางประกอบ) 

                                อินเดียโมเดล เรียนรู้เพื่อรับมือกับโควิดระลอกต่อไป

                                        

ที่ยกตัวเลขสถิติทั้งหมดมาให้อ่าน เพื่ออยากให้คุณผู้อ่านได้ลบภาพจำ และกลับมาพิจารณาว่า ประเทศที่หลายๆ คนยังคิดว่ายากจน ด้อยพัฒนาแห่งนี้ เตรียมการรับมืออย่างไรบ้างกับโควิด-19 

 

อินเดียพบการติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรกในรัฐ Kerala จากนักศึกษาแพทย์ที่เดินทางกลับมากจากการไปศึกษาต่อ ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และนำไปสู่การปิดเมืองในรัฐ Kerala ในวันที่ 23 มีนาคม 2020 ตามด้วยการ lockdown ทั้งประเทศในอีก 2 วันต่อมา 

 

การระบาดในระลอกแรกกระจุกตัวอยู่ใน 5 เมือง คือ Mumbai, Delhi, Ahmedabad, Chennai และ Thane การระบาดระลอกนี้คลี่คลายลงในช่วงเดือนมกราคม 2021 ก่อนที่การระบาดระลอกที่ 2 ที่รุนแรงกว่าเดิมอย่างยิ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2021 ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าอินเดียเป็นประเทศที่การแพร่ระบาดต่อเนื่องตลอดทั้งเกือบ 2 ปี

 

แต่ในท่ามกลางการระบาด อินเดีย ก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน อาทิ อินเดีย คือประเทศที่ 5 ในโลกที่สามารถแยกรหัสพันธุกรรมบริสุทธิ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ และ National Institute of Virology (NIV) ก็เผยแพร่ Genome Sequence ของเชื้อ SARS-CoV-2 นี้ให้กับนักวิจัยทั่วโลกในการนำไปพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจหาเชื้อ และวัคซีน ได้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2021


อินเดีย เป็นอีก 1 ประเทศที่มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2021 อินเดีย มีการตรวจคัดกรองไปแล้วมากกว่า 440 ล้านครั้ง อินเดียเริ่มต้นการคัดกรองเชิงรุกตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2020 และมีการเพิ่มศักยภาพและจำนวนห้องแล็ปที่สามารถตรวจคัดกรองโรคได้อย่างต่อเนื่อง จากเพียง 52 แล็ปทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2020 เป็น 1,132 แล็ปในต้นเดือนกรกฎาคม 2021 และทำให้ปัจจุบันอินเดียสามารถตรวจคัดกรองโรคได้ที่ 1.5 ล้านตัวอย่างต่อวัน
 

อินเดีย เริ่มต้นการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเดือนมกราคม 2021 โดยวัคซีนหลักคือ Covishield หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า AstraZeneca ที่ผลิตโดย Serum Institute of India (SII) และ BBV152 (Covaxin) ซึ่งพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศภายใต้โครงการ “कोविद सुरक्षा मिशन COVID Suraksha Mission (Suraksha สุรักษ์ แปลว่า ความปลอดภัย/ผู้คุ้มครอง)” โดย Bharat Biotech ร่วมกับ Indian Council of Medical Research และ National Institute of Virology (NIV) 

 

อินเดียถือเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตวัคซีนรายสำคัญของโลก โดยอินเดียมีโรงงานวัคซีนที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จำนวน 14 แห่ง จากทั้งหมดที่มีในโลก 857 แห่ง (โดยประเทศที่มีโรงงานผลิตวัคซีนมากที่สุดในโลกคือ สหรัฐ จำนวน 563 แห่ง) 

 

ในช่วงแรกของการจัดสรรและกระจายวัคซีน อินเดียส่งออกวัคซีนเพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้และประเทศอื่นๆ รวม 17 ประเทศจำนวนถึง 15.6 ล้านโดส ภายใต้โครงการ “वैक्सीन मैत्री Vaccine Maitri วัคซีนไมตรี” แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดในระลอกที่ 2 รุนแรงอย่างยิ่ง อินเดียจึงประกาศยุติการส่งออกวัคซีนในเดือนเมษายน 2021


แม้จะประสบกับภาวะล้มเหลวทางสาธารณสุขในช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 ที่อินเดียไม่สามารถจัดหาเตียงให้กับคนไข้โควิดได้ และมีการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจและออกซิเจน แต่อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขมีการสื่อสารกับประชาชนทั่วประเทศอย่างชัดเจน ถึงการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนโดยมีการจัดทำ Clinical Management Protocol แจกจ่ายไปทั่วทุกโรงพยาบาลและคลีนิกของรัฐและเอกชนในทุกพื้นที่ และจนถึงปัจจุบันมีการจัดทำออกมาแล้ว 6 ฉบับ
 

ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลกลางของอินเดีย ประกาศแผนการพึ่งตนเอง (आत्मनिर्भर भारत अभियान Atmanirbhar Bharat Abhiyan, Atma คือ อาตมะ แปลว่า ตนเอง และ Nirbhar นิรภระ แปลว่า การขึ้นอยู่กับการอาศัยอยู่ด้วย Bharat คือ ภารตะ ประเทศอินเดีย และ Abiyan คือ โครงการ) ออกมาแล้ว 3 รอบ โดยรวมแล้วมีงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 320 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12% ของ GDP อินเดีย) 

 

โดยวงเงินสูงสุดถูกใช้ไปเพื่อให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการเงินกู้ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีระยะปลอดดอกเบี้ยให้กับ SMEs เพื่อให้ยังสามารถจ้างงานได้ต่อไป ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเงื่อนไขในการทำธุรกิจ และการลงทุนเพื่อให้อินเดียสามารถกลับมามีความสามารถทางการแข่งขัน และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด 

 

โดยอินเดียตั้งเป้าวางตำแหน่งประเทศให้เป็น Alternative to China และนอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐเองก็มีการอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างเต็มที่ 

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อ Indian Council of Medical Research (ICMR) เปิดเผยผลสำรวจ The 4th National Covid Sero Survey แล้วพบว่า 67.6% ของประชาชนอินเดียที่มีอายุเกินกว่า 6 ปี มีภูมิคุ้มกันโควิด (SARS-CoV-2 antibodies) เกิดขึ้นเอง 

 

หรืออาจกล่าวได้ว่า ในอินเดียภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะอินเดียเองก็พยายามบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ได้ประสิทธิผลสูงที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างมากมายภายในประเทศ