หนี้…โอเวอร์แฮงค์ คนไทยหมดแรงสู้

13 ส.ค. 2564 | 23:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ผมได้รับบทความเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยจากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์คนหนึ่ง ซึ่งเคยถกปัญหาหนี้สินของคนไทยร่วมกันกับผม ว่า ในสิ้นปีนี้คนไทยน่าจะตกอยู่ในภาวะแบกหนี้สินเกินกว่าความสามารถในการจ่ายท่วมเมืองแน่


ข้อมูลที่ท่านส่งมาให้พบว่า เมื่อสิ้นไตรมาส 1 หนี้ครัวเรือนจะแตะระดับ 90.5% ต่อจีดีพี ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ทำเอาผมอึ้งกิมกี่ไปเลยทีเดียว


ข้อมูลที่สังเคราะห์ออกมานั้นพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนยังต้องเผชิญภาวะวิกฤติโควิดอย่างหนัก


สะท้อนว่า ครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อสูง เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะวิกฤติ บางส่วนอาจต้อง พึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ปัญหาหนี้มีมากขึ้นในระยะข้างหน้าอีกด้วย


สถานการณ์เช่นนี้ จึงมองว่า ไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หรือ “การมีหนี้สูงจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในอนาคตข้างหน้า”


ปัญหานี้ถือว่า น่ากลัวมาก เพราะนั่นหมายถึงขีดความสามารถอยู่รอดของผู้คนในระดับครัวเรือนของประเทศจะตกอยู่ในสภาพ “ตายผ่อนส่ง” หามาเท่าใดหนี้สินกินหมดตัว


คราวนี้ เรามาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2021 ที่ทางไออีซี เขาสังเคราะห์ออกมา พบว่า เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% เมื่อเทียบสัดส่วนแบบปีต่อปี นับเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส 


แยกเป็นการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ 4.9% การกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินที่โตขึ้น 5.5% ถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีเช่นกัน


ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง และ สินเชื่อส่วนบุคคล กลับมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำก็ยังคงหดตัว


แปลง่ายๆ ว่า หนี้ครัวเรือนระลอกนี้ขยายวงขึ้นมาที่บ้านคนมีรั้วเรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่ตีวงแคบอยู่ในกลุ่มคนระดับล่าง ระดับกลาง ตอนนี้เสมอเหมือนกันแล้ว
 

แล้วหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวมาตลอดมาจากอะไรบ้าง ข้อวิเคราะห์ของไออีซีระบุว่า มาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน


• หนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินได้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อย ทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้นและช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง 
ทว่า ผลของการชำระหนี้ ที่ถูกพักหนี้ หรือ เลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปนี่แหละ มีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ


• สอง วิกฤติโควิดส่งผลให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ นำไปสู่การลดลงของสภาพคล่องของคนจำนวนมาก จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปของภาคครัวเรือน จึงเห็นได้ว่า สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีการขยายตัว อย่างต่อเนื่องในปี 2020 และ มีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 5.9%เร่งตัวขึ้น จากไตรมาสก่อนที่โต 4.8% แม้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินจะระมัดระวังมากขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ ข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำเกี่ยวข้องกับเงินกู้-เงินด่วน ยังแสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การค้นหากลุ่มคำดังกล่าว เป็นการค้นหาทั้งจากผู้ให้กู้ ประเภทธนาคารพาณิชย์และแหล่งเงินทุนอื่น ๆ นอกระบบ เพิ่มขึ้นถึง 79.0% และสูงต่อเนื่องนับจากที่เคยค้นหากันสูงสุดในไตรมาส 2 ของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก 


มาถึงตอนนี้ ปริมาณการค้นหาคำเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงไตรมาส1/2564 มีปริมาณการค้นหา “เงินกู้-เงินด่วน” เพิ่มขึ้นราว 16.4%


ความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่มีมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่อมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันนี้ อาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก เสี่ยงต่อปัญหาวังวนของกับดักหนี้


• สาม ครัวเรือนบางส่วนที่มีกำลังซื้อยังมีการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมากเพื่อลดอุปทานคงค้าง ประกอบกับมาตรการ LTV มีการผ่อนคลายลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤติ 


สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตขึ้นมาได้ค่อนข้างดีที่ 5.9% เมื่อสิ้นปี 2563 และยังเติบโตได้ดีมาอย่างต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของ2564 ที่เติบโตถึง 6.8%


การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ของไทยทะยานไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อจีดีพี


ทั้งนี้ เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังมีการขยายตัวที่ 4.6% ขณะที่จีดีพีหดตัวที่ -7.3% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ต่อจีดีพีของไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีข้อมูลมาในปี 2003


ประการต่อมา น่าสนใจมากคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยตอนนี้ถือว่า สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน 

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยจากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) พบว่า นับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด และในช่วงวิกฤติ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยสัดส่วน ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 อีกประมาณ 12.0% ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็น อันดับ 7 จากทั้งหมด 43 ประเทศ 


แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของอัตราการเพิ่มเป็นผลมาจากจีดีพีของไทย ที่ลดลงมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่า ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังคงสูงสุด เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกาลังพัฒนาด้วยกัน 


สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยนั้น ยังถือว่าสูงเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ที่มีรายได้และความมั่งคั่งที่สูงกว่าอีกด้วย 


สิ่งเหล่านี้ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของการพึ่งพาสินเชื่อ ในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทย รวมถึงปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจในอนาคต


การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพีอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องสะท้อนว่า ภาคครัวเรือนไทย มีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang “ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต”


นอกจากนี้ ภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยง ของการเป็นหนี้เสียด้วย 


BIS เคยทำการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างมาก แต่ของประเทศไทยนั้นสัดส่วนหนี้ได้สูงเลยจุดนั้นมาแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 


โจทย์ใหญ่หลังจากนี้ไปคือ ครัวเรือนไทยจะหาทางออกจากภาวะ “หนี้ โอเวอร์แฮงค์” อย่างไร จะปรับลดการใช้จ่าย จะลดการก่อหนี้ จะหารายได้มาเพิ่มได้อย่างไร เหนื่อยใจครับ


ข้อมูลของอีไอซีประเมินว่า สถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือน ที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี 


ข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้ภาคครัวเรือนไทยจะโตช้ากว่าจีดีพี และในช่วงโควิดแนวโน้มนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรง สะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานมากเป็นประวัติการณ์ 


โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ลดลงถึง -8.8%

ขณะที่ nominal GDP ลดลงเพียง -2.1% ในช่วงเดียวกัน 


จนรายได้ไม่พอ แบกหนี้กันหลังแอ่น จะขยายไปทั่วบ้านทั่วเมือง แน่ๆ เฮ้อ…..