บ็อบ มาลี่ย์ กับรัสตาฟารี ราชสีห์แห่งยูดาห์ ตอนที่ 1

31 ก.ค. 2564 | 05:37 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

จ็อบ บรรจบ เขาเปนนักร้องเร็กเก้ผู้มาก่อนกาล ในเวลาที่งานดนตรีพัฒนาการประสานสมไปสู่มโหรีชนิดที่เรียกว่า ‘สกา’ (สไตล์เพลงหรอกน่ะหาใช่อุปกรณ์เขย่าการพนัน) เพลงของจ็อบคงได้แรงบันดาลใจมาจากเสียงคลื่นทำนองแห่งท้องทะเลสาดฝั่งคุ้นหู ยามบรรเลงกีต้าร์ประกอบเครื่องเขย่าเสียงกราวๆ แล้วร้องว่า ‘ดู่ดู๊ดู_ดูเธอทำ......ทำไมถึงทำกับฉันด้ายยย’ และก็ว่าซ้ำว่า ‘ดู่ดู๊ดู_ดูเธอทำ ...... ทำไมถึงทำกับฉันด้ายยย’ มันช่างร้อยร้ายเข้าไปภายในถึงแหล่งจิตดวงวิญญาณ 
 

ลำนำของจ็อบ ท่อนถัดมาคร่ำครวญถึงหนึ่งสตรีผู้หนีหายไปในยามราตรี ว่า จะหยิบข้าวของเครื่องใช้ไปก็ไม่ว่า แต่ซีดี บ็อบ มาลี่ย์ (ของจ็อบ) นั้นหายไป (จ็อบ) สู้อุตส่าห์เก็บเงินสะสมซื้อทุกชุด ทั้งแผ่นใหม่แผ่นสะดุดเธอก็เอาไป... ->ดู่ดู๊ดูดูเธอทำ!!! ทำไมถึงทำกับฉันด้ายยย!!!
 

ในความคำนึงถึงของรักของหวงชนิดแผ่นของจ็อบ บรรจบนั้น เปนบ็อบ มาลีย์บุรุษศาสดาราชาเพลงเรกเก้ ผู้สร้างปรากฏการณ์ความนิยมเพลงทางเลือกในหมู่คนขาวเร้ากัญชา มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม
 

เปนบ็อบ มาเล่ย์ ผู้มีผมหยิกหลอดขอดหัว ตัวเลื่อมร่างบาง ขับร้องส่องลำนำเพลงก่อนจะเกิดทางสกา ท่ามกลางเกลียวคลื่น, ลมเกาะ, หาดมะพร้าว เคล้าเครื่องดองของเมาทั้งแบบเหล้า, แบบเหลว และแบบละอองควันโปรยปราย
 

หากว่าในเวลากาลต่อมาไมเคิล แจ็กสัน แกมีอุดมวาสนาขึ้นถึงที่ราชาเพลงป็อปแล้วไซร้ เราก็ได้ บ็อบ มาลีย์ นี่แลเปน ราชาเร็กเก้
 

สาธุชนทั้งหลาย ยามราไฟสมรภูมิเวียดนามกันแล้วไม่อยากได้ไฟสงครามลนก้นให้แสบไหม้ขึ้นมากันอีก ก็พากันแสวงหาความสงบแลสนุกสำเริงสำราญในการณ์วิธีของตนเอง โดยชนกลุ่มหนึ่งมีแบบอย่างของ บ็อบ มาเล่ย์เปนสำคัญ (บรรทัดนี้ผู้อ่านที่รักท่านก็จะว่าตกลงมัน มาลี่ย์ มาลีย์ หรือ ว่ามันมาเล่ย์ ?! ก็ขอเรียนอธิบายด้วยใจมิตร ว่าบทความของ Catฯ นั้นบรรณาธิการท่านแลเห็นว่าได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นตามจังหวะและอารมณ์ ถ้าจะตัดช่องเข้าบทด้วยราชสีห์ บ็อบผู้นี้ ก็ต้องมาลี่ย์เพราะสระอีมันพร้องเปนทำนองกัน เหมือนเราไป คาลิฟอร์เนีย เบิ้ร์กเล่ย์ พวกอังกฤษมาอเมริกาก็ต้องว่า เบิ้ร์กลี่ย์ ซิ ถึงจะถูก จากนั้นไทยอังกฤษและไทยอเมริกันก็ลงมือฟาดปากกันในฟองเบียร์ 55 )

   

มาบัดนี้บ็อบ มาลี่ย์จากไปจะสี่สิบปีเข้าแล้ว ทว่าเพลงยอดนิยม, คำคม, และสัญลักษณ์ ยังไม่จางเลือนลบหาย
 

ถ้าพูดถึงว่าความเจ็บและความปวดทุรนทุรายมาจากการถูกตบฟาดตีทุบทรมานทรกรรมในการสงครามชนิดใดๆรวมถึงสงครามชีวิตด้วยนั้น, บ็อบ มาลี่ย์รำพึงถึงเรื่องนี้ด้วยสำนึกแห่งความกลั่นกรองล้ำลึกตลอดที่เดินบนเส้นทางสายดนตรี ว่า “คุณเอ๋ย “One thing about music, when it hits, you feel no pain.”” 
 

บร้ะ! ลึก_คม_บาด!!
 

อิทธิพลของ บ็อบ มาลี่ย์ ส่งกลิ่นอายความเปนอิสระและเสรีแห่งความเปนคนให้เยาวชนคนฟัง,คนเห็น,คนรัก_ใคร่อยากจะใช้ชีวิตในวิถีชนแบบว่าอย่าไปสนมากเลยกติกาสังคมบีบรัด


 พวกเขาทั้งหลายลองไว้ผมทรงที่สมัยนี้เรียกกันว่า เดรท ล็อค ไม่หยิกก็ดัด แล้วถักทอเลียนแบบธรรมชาติค้างคาไว้โดยไม่ต้องสระหันมาใช้เสื้อผ้าข้าวของกำหนด โทนสี เขียว/เหลือง/แดง แบบที่บ็อบ มาลี่ย์นิยมใช้
 

ปวงเขาทั้งหลายเรียกสไตล์แห่งผม และข้าวของ และความเสรีว่า “รัสตาฯ” _ รัส ตาฟารี.
 

อีทีนี้ก็จะมาถึงจุดว่า รัสตาฯ หรือ รัส ตาฟารี นี่คือใคร/อะไร?  ก็ตอบได้ว่าในดวงใจของบ็อบ มาลี่ย์นั้น มีรากศรัทธาฝังลึกไปยังศาสดาแห่งสำนึกของเขา ขนานนามกรกันว่า รัส ตาฟารี
 

ย้อนกลับไปในอดีตกาลนานโข แผ่นดินเอธิโอเปียที่องค์การสหประชาชาติยุค 80 ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความยากลำบาก เเล้งเรื้อ ยากจนจนต้องขอดน้ำกิน และนำดัชนีชี้วัดมากำกับเพื่อกำจัดความยากจน poverty eradication 
 

นั้นเคยรุ่งเรืองและเฟื่องฟูมาก่อน เปนแผ่นดินเอธิโอเปียที่ประกอบด้วยหลายชนเผ่า หลายผิวสี หลากนิกาย ซึ่งมหาบุรุษผู้หนึ่งได้รวบรวมเอาแผ่นดินนี้ขึ้นมาให้เปนปึกแผ่น 
 
 

บุรุษ ผู้นี้ รัส ตาฟารี ราชสีห์แห่งยูดาห์ ตั้งแต่ในสมัยที่เอธิโอเปียเก่าปกครองโดยสมเด็จพระจักรพรรดินีมีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูดั่งทองคำ เด็กชายผู้หนึ่งถือกำเนิดมาโดยสืบสายสันตติวงศ์สำคัญมาแต่จอมราชาและจอมราชินีโบราณของโลกกษัตริย์ โซโลมอน ผู้ได้รับการขนานนามว่าทรงปัญญาสูงสุดในแผ่นดินฮิบบรูยูดาห์ และราชินีชีบาห์ ผู้ครองอาณาจักรที่สตรีเปนใหญ่ เสด็จไปทรงหาเมล็ดเชื้อพันธุ์หว่านเพาะวงกษัตริย์ขัตติยาจากราชาโซโลมอนมาสู่พระครรโภทร ก่อนเสด็จกลับมาตั้งถิ่นฐานแถบเอธิโอเปีย
 

ภูมิปัญญากษัตริย์โซโลมอนหรือฝ่ายอิสลามเรียก สุไลมาน นั้นเปนที่เลื่องลือไปไกล ในยามที่ทรงตัดสินคดีแปลกประหลาด เช่น สองมารดาคลอดทารกออกมาพร้อมๆกันอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันนางคนหนึ่งนอนหลับกลิ้งไปทับลูกตัวเองตาย เลยตู่เอาว่าทารกที่ยังไม่ตายเปนลูกตัวเอง นางอีกคนก็จนปัญญาไม่รู้ว่าจะเถียงนาง “ขี้ตู่” เอาว่าอย่างไร พากันมาถึงศาลหลวงพระเจ้าโซโลมอน ตุลาการลูกขุน ณ ศาลหลวงตั้งสำนวนแล้วกราบบังคมทูล พระกรุณา 


สองมารดาอ้างว่าเด็กชายแบเบาะต่างก็เปนบุตรของเธอทั้งคู่นั้น พระบารมีปรีชาและความช่ำชองในสาระสำคัญแห่งโลก ก็ทรงปกาศิตว่า ให้จับเด็กนี้หั่นเปนครึ่ง แบ่งกันไปสองคนมารดา ค่าที่เปนต้นเหตุชนวนความขัดแย้งในแผ่นดิน (เรื่องไม่เปนเรื่อง)
 

ทันใดนั้น หนึ่งในสองของสตรีผู้อ้างความเปนแม่โผเข้าตระกองกอดกันเด็กทารกมิให้ราชมัลเข้ากุมตัวไปหั่นแบ่งเสียได้พร้อมแถลงศาลขอถอนคดีจากสารบบ ในขณะที่อีกหนึ่งสตรี ยืนเงอะงะอยู่พร้อมจะปลีกตัวไปจากสถานการณ์ขุกเข็ญ
 

ดังนี้จึงมีคำพิพากษาให้นางผู้เข้ากำบังภัยแก่ทารกเปนแม่ที่แท้จริงของเด็กนั้น ด้วยตรรกะว่าสัญชาตญาณแม่ทั้งนั้นที่ปกปักป้องภัยแก่ลูกน้อยแม้ตัวจะตายเปนสัญชาตญาณที่ไม่รู้หรอกว่าดี/ชั่วแต่ทว่าปรากฏอยู่ทั่วทุกตัวสัตว์ นี้เปนความเข้าใจในแก่นแท้แห่งสัมปชัญญะของพระราชาโซโลมอนว่าแล้วก็ให้ราชมัลกุมตัวอีคนไม่โผเข้าบังภัยแก่ทารกไปหั่นทิ้งแทน(เอ้อ_ก็เรื่องไม่เปนเรื่องนี่นะ!)

-ต่อตอน2-

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17  ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564