มหากาพย์ที่ดินบุรีรัมย์ ทำไม “ผู้ว่ารถไฟ” ใจกล้า

28 ก.ค. 2564 | 22:55 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ฮือฮากันทั้ประเทศเมื่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำหนังสือลงเลขที่ รฟ 1/1911/2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่

     ผู้ว่าการรถไฟฯ ขอให้ “อธิบดีกรมที่ดิน” แจ้งผลการพิจารณาให้ รฟท.ทราบภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รฟท.จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทางศาลต่อไป 

     ในหนังสือรอบนี้ระบุชัดว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ รฟท.จัดส่งแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของ รฟท. และเลขโฉนดที่ดิน ที่ขอให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ใน 3 กลุ่มพื้นที่  ประกอบด้วย

     กลุ่มที่ 1. ที่ดิน 5,083 ไร่ กว่า100 แปลง  ในทางแยกเขากระโดง กม.000 ถึง กม.8+000 เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ รฟท. ตามพ.ร.ฎ.การกำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462 และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกพ.ศ.2464

     ผมทราบมาว่า ล่าสุดกรมที่ดินมีหนังสือไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมให้รฟท.ชี้แนวเขตที่ชัดเจน  เพื่อตั้งคณะกรรมการตามมาตรา61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาเพิกถอน หรือ แก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้ง เอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ ต่อไปแล้ว

     กลุ่มที่ 2. ที่ดินเขากระโดงจำนวน 2 แปลงพื้นที่ราว 47 ไร่ ครอบครองโดยนักการเมืองชื่อดัง ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือแจ้งผลการไต่สวนเรื่องกล่าวหาเลขที่ดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหา เลขที่แดงที่ 14959054 มีมติว่า เป็นการออกโฉนดในที่ดินของ รฟท. ที่ดิน 2 แปลงนี้เกี่ยวพันกับตระกูลชิดชอบนักการเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์  

     ความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตาม มาตรา 61ตามคำสั่งอัยการสูงสุดอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้กรมที่ดินได้เคยมีหนังสือหารือไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอยุติการตั้งคณะกรรมการตาม มาตรา 61 เมื่อปี 2555-2556 เนื่องจากในครั้งนั้น รฟท.ไม่สามารถชี้แนวเขตได้...โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง!

     กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ดินในแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ตามคำสั่ง ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2563 ที่ตัดสินคดีนี้ว่า การออกโฉนดทับที่การรถไฟไม่ได้ เนื้อที่รวม 194 ไร่

     พื้นที่ตรงนี้ประชาชนกว่า 35 รายครอบครอง และอยู่ระหว่างฟ้องร้องพบว่า ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานครอบครองที่ดินประเภท ส.ค.1 ซึ่งเป็นที่ดินของรฟท.ทั้งหมด ตอนนี้กรมที่ดินเตรียมตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 เพิกถอนต่อไป

     หลายคนสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นมา ทำไมผู้ว่าการรถไฟฯจึงกล้าหาญชาญชัยในการทำหนังสือเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นักการเมือง ที่เป็นผู้บังคับบัญชาตัวเองในทางตรง

     ความจริงคดีนี้มี “คำสั่งพิเศษ” ให้กรมที่ดินดำเนินการใน “ทางลับ” มาภายหลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางรัฐบาล เมื่อ 17-20 กุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนที่เห็นว่า ถ้าไม่ทำจะมีปัญหาบางอย่างที่ร้ายแรง

     ลึกลับจากกระทรวงคลองหลอด บอกว่า กรมที่ดินได้มีหนังสือแจ้งไปยัง รฟท. และ ท้องที่ เพื่อขอให้ ร.ฟ.ท.ชี้แนวเขตมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ก่อนที่จะมีหนังสือจาก รฟท.มายังกรมที่ดินให้เพิกถอนหลักฐานการครอบครอบทำประโยชน์ที่ดิน, เอกสารสิทธิ ที่มีการครอบครองอย่างผิดกฎหมาย

     ประการต่อมาคดีนี้นั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ว่า การออกโฉนดในพื้นที่ของรฟท. โดยคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 842-876/2560 ระบุชัดเจนว่า ที่ดินดังกล่าวได้อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินการรถไฟ ที่สงวนหวงห้ามเป็นที่ดินรถไฟ ตามมาตรา 3 (2) (11) และได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 6 (12) ตาม พ.ร.บ.จัดวางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464  

     ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินคดีนี้ คือ นายศรีอำพร ศาลิคุปต์ นางเมธินี ชโลธร (ประธานศาลฎีกาปัจจุบัน) และ นายณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล  

     นายนิรุฒ ผู้ว่าการรถไฟฯ นั้น จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกียรตินิยมอันดับสอง และ เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโท ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Temple University รู้ดีว่าการดึงเรื่องไว้กับตัวย่อมไม่มีประโยชน์ เพราะคำตัดสินของศาลฎีกานั้น ชัดเจนว่า บิดพลิ้วไม่ได้ ทางออกจึงต้องเพิกถอน และขอเช่าที่ดินมาพักอาศัย หรือ ทำธุรกิจภายหลังย่อมดีที่สุด

     นายนิรุฒ ไม่เพียงแต่ทำหนังสือถึงกรมที่ดิน ยังทำหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล รฟท. ให้รับทราบเรื่องที่ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดงตามลำดับการบังคับบัญชา

     นี่จึงเป็นที่มาของ การร้องขอให้เพิกถอนสิทธิ์ ผ่านการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 

     แล้วคำพิพากษาเป็นอย่างไร ทำไมถึงยื้อต่อไปไม่ได้

     คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561 ตัดสินชัดเจนว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และเป็นที่ดินของการรถไฟ

     มาตรา 6 บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีการประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่า ทรัพย์นั้นๆได้ขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟแล้ว.....ที่ดินการรถไฟใครจะครอบครองมาเป็นของตัวเองไม่ได้

     ร้ายแรงกว่านั้น ในช่วงปี 2561 รฟท.ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ และขอเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 5272 , 2971 และเพิกถอนหนังสือรับรองประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พร้อมทั้งเรียกค่าขาดประโยชน์ จากจำเลยรายหนึ่ง

     กระทั่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2562 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาให้ รฟท.มีสิทธิเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน ทั้ง 3 แปลงได้ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้ รฟท.เดือนละ 23,706 บาท  

     ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาให้ รฟท.  มีสิทธิเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเหมือนชั้นต้น รวมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้ รฟท.โดยอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา  

     เมื่อที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินรถไฟ รฟท.จึงมีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงบริเวณเขากระโดง เพราะเป็นที่ดินหวงห้ามไม่ให้เอกชนหรือใครถือครอง

     รวมทั้งห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความ ขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟด้วย

     ใครยื้อก็โดนสิครับ

     แต่หากใช้เงื่อนปมในทางกฎหมาย การเพิกถอนแต่ได้สิทธิ์การครอบครองจากการเช่ามาอยู่อาศัย การทำมาหากินย่อมสบายใจกว่าเป็นไหนๆ

     และใครต่อใครก็ได้ ไม่มีเสีย จริงมั้ยครับท่าน!