ชิปหาย ... ไปไหน

27 ก.ค. 2564 | 08:57 น.

คอลัมน์ เล่าตามที่เห็น พูดตามที่คิด โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา

ผมได้มีโอกาสหารือกับผู้ที่อยู่ในวงการอิเล็กทรอนิกส์จากภาครัฐ สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในนามของกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในประเด็นความเดือดร้อน ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเผชิญกับการขาดแคลนชิปวงจรรวม (Integrated Circuit หรือ IC) ทำให้ผู้ผลิตที่ต้องใช้ชิปมีการชะลอหรือบางรายต้องหยุดผลิตชั่วคราว
    

สาเหตุสำคัญของการขาดแคลน IC มาจากปัญหาด้านการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงปี 2562 การระบาดของโควิด ทำให้โรงงานผลิต IC ชะลอหรือหยุดการผลิต รวมทั้งโรงงานสินค้าที่ใช้ IC ก็ลดการผลิตลงทำให้ความต้องการลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ผู้ผลิต IC และผู้ประกอบการวัตถุดิบในชัพพลายเซนหยุดชะลอและหยุดการผลิตตามไปด้วย นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2564 ผู้ผลิตหลายรายต่างประสบปัญหาการผลิตจากสาเหตุอื่น ๆ อีกมาก อาทิ บริษัท TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิต IC รายใหญ่ ของโลกต้องลดการผลิตลงร้อยละ 7 เพราะการขาดแคลนน้ำสะอาดใช้จากภาวะความแล้ง ในขณะที่ต้นปี 2564 โรงงานของ Samsung ที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ประสบภัยพิบัติ ไฟฟ้าดับ น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ในขณะที่บริษัท Renesas Electronics ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิต IC รายใหญ่ของโลกอีกรายหนึ่งก็เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ทำให้การผลิตลดลงและดำเนินการผลิตไม่เต็มศักยภาพจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
    

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นทางของ IC เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ ทรายคุณภาพสูง ที่ถูกนำไปใช้อย่างเร่งด่วนในการผลิตขวดแก้ววัคซีนโควิด-19 จำนวนมหาศาล รวมทั้งทองแดงสำหรับผลิต Lead frame ซึ่งคาดว่าน่าจะขาดแคลนไปอีกระยะเวลาหนึ่ง  
    

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่แน่นอนทางด้านดีมานด์ที่หันกลับมาสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี 2563 ทั้งในการผลิตสินค้าที่สนับสนุนการทำงานจากบ้าน (Work from home) ทั้งคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ รวมทั้งการกลับมาเร่งการผลิตยานยนต์อีกครั้ง และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ตอบสนองการอยู่บ้านของผู้คนยุควิกฤติโควิด นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ประทุอีกครั้ง ทำให้ผู้ผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานและผู้ใช้ต่างเร่งคำสั่งซื้อเพื่อสต๊อกสินค้าตนเอง ส่งผลต่ออุปสงค์ในทุกตอนของระบบการผลิต


หากมองตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทาง คือ กลุ่มผู้แปรรูปวัตถุดิบ กลุ่มผู้ออกแบบ IC กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบสำหรับการผลิต กลุ่มผู้ประกอบ IC (Assembly) และกลุ่มผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มที่อยู่ส่วนต้นของซัพพลายเซนอาทิ ผู้แปรรูปวัตถุดิบ ซิลิคอน ทองแดง หรือทอง หรือกลุ่มผู้ออกแบบ IC และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของ IC เช่น Lead Frame และ Wafer Chip จะอยู่ต่างประเทศเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังไม่มีโรงงานผลิต Wafer Fab ซึ่งเป็นชิ้นส่วนต้นน้ำและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรม IC ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง นอกจากนี้ กลุ่มประกอบ (Assembler) โดยส่วนมากที่อยู่ในบ้านเราก็เป็นผู้ประกอบและทดสอบ IC เพื่อใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่อไป และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำเอาผลิตภัณฑ์ IC ไปใช้เป็นหัวหอกการส่งออกที่สำคัญของเรา 
 

แม้ว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้ประกอบ IC และมีมูลค่าส่งออกชิปสูงกว่า 7-8 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายการส่งออกของประเทศก็ตาม แต่จากโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยที่มีการใช้ IC เป็นส่วนประกอบจำนวนมากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่ายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่ม IC มีมูลค่ากว่าปีละกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นรายการสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงอันดับต้น ๆ ของประเทศเช่นกัน และขาดดุลการค้าในส่วน IC ปีละ 5-6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 170,000 ล้านบาท แต่ไทยได้ดุล ในสินค้าอื่นที่เรานำ IC ไปใช้เป็นส่วนประกอบในการส่งออก   


การขาดแคลนของชิป หรือ IC เริ่มปรากฏตั้งแต่กลางปี 2563 และเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ผลิตรายสำคัญ ๆ ที่อยู่ในช่วงต้นของห่วงโซ่อุปทานที่มีจำนวนไม่มากราย ต่างประสบปัญหาการกลับมาทำการผลิตหรือเร่งการผลิตเต็มกำลัง เนื่องจากปัญหาโควิดที่ยังไม่จบ หรืออาจมีปัญหาอุบัติเหตุอื่น ๆ ขณะเดียวกันอุปสงค์ก็เพิ่มพร้อม ๆ กันในทุกสาขาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่ใช้อยู่แล้ว อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการดำรงชีพแบบ New normal ในสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดการขาดแคลน ราคาสูง แถมยังหาสินค้าไม่ได้อีกด้วย ส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ 


สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ประมาณการความเสียหายจากปัญหา IC ที่ขาดแคลนและการส่งมอบที่ล่าช้าผ่านการสูญเสียโอกาสจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ใช้ IC เป็นส่วนประกอบทั้งปี 2564 น่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 42,096 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 14,526 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 23,457 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สินค้าไฟฟ้ากำลังที่ 4,112 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ความเสียหายจะมากน้อยนั้นขึ้นกับระยะเวลาการส่งมอบ IC จากผู้ผลิตที่อยู่ในไต้หวัน หากระยะเวลาส่งมอบนานกว่าที่เป็นอยู่ ความเสียหายก็จะมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ระยะเวลาส่งมอบตั้งต้นปีมีการขยับระยะเวลา Lead time นานขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ผู้ประกอบการในไทยแทบจะเรียกว่าไม่มีระยะเวลาส่งมอบที่ชัดเจนอีกแล้ว เรียกว่า “วัดดวง” กันล้วน ๆ 


ส่วนสถาบันยานยนต์ได้ศึกษาพบว่า ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นหลายโรงงานต้องชะลอการผลิตยานยนต์ลงเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนที่เป็น Semi-conductor ในโรงงานต่าง ๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยก็มีหลายรายที่ชะลอการผลิต และบางรายหยุดการผลิตเป็นช่วง ๆ อาทิ Honda Thailand หยุดการผลิตในเดือนพฤษภาคม และ Mitsubishi Motor ประกาศลดกำลังการผลิตรถยนต์ 16,000 คัน จากโรงงาน ในประเทศไทยและญี่ปุ่น 3 แห่ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ส่วน Auto Alliance Thailand หยุดการผลิตชั่วคราว 28 มิถุนายน ถึง 9 กรกฎาคม 2564 ทั้งหมดคิดเป็น opportunity loss กว่า 15,000 - 20,000 คัน 


ทางภาคเอกชนก็พูดคุยกันมาพอสมควรและมองแนวทางที่รัฐน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องนี้ ทั้งเรื่องที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ (Now) กับเรื่องที่ต้องวางฐานเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต คือ ในระยะสั้น ให้รัฐเป็นตัวกลาง ในการเจรจาซื้อขายชิประหว่างผู้ใช้ในประเทศกับผู้ผลิตในต่างประเทศเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และการจัดการสต๊อกชิป หรือรายการสำคัญเพื่อป้องกันการผันผวนของอุปสงค์และอุปทานในสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด รวมทั้งสนับสนุนทางด้านการเงินในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกิด local supply local demand ในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศลง


ส่วนข้อเสนอแนะในระยะยาว ควรมีการผลักดันการจัดตั้งโรงงาน Wafer Fab ซึ่งเป็นการผลิตส่วนต้นน้ำ และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรม IC และการมีสถาบันการค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ 
 

ข้อเสนอเหล่านี้ คล้าย ๆ กันทั่วโลกที่รัฐบาลกับภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องชิป อาทิ ญี่ปุ่น ตั้งคณะทำงานร่วมรัฐกับผู้ผลิตยานยนต์ เพื่อพิจารณาแผนการผลิตและจัดซื้อชิปร่วมกัน ส่วนเกาหลีใต้ มีการ ประกาศแผน “K-Semiconductor Strategy” เพื่อ ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิต Semiconductor มูลค่ากว่า 452,000 เหรียญสหรัฐ จนถึงปี ค.ศ. 2030 และ สหรัฐอเมริกา ทำการเร่งศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลน Semiconductor ในระยะสั้น โดยประเมินห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ Semiconductor และอยู่ในขั้นวิกฤต และจัดทำแผนระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอีกในอนาคต


ส่วนประเทศไทยยังไม่มีดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้ ยกเว้น BOI ที่ให้แรงจูงใจในอุตสาหกรรมประเภทนี้มากขึ้น โดยการปรับปรุง มาตรการส่งเสริมเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเหล่านี้ คือ ขยายสิทธิ์ระยะการส่งเสริมการลงทุนของ Silicon Wafer เป็น 10 ปี จากเดิม 8 ปี และ Semiconductor เป็น 8 ปี จากเดิม 5 ปี รวมทั้งในการลงทุนของ Printed Circuit Board Assembly เป็น 8 ปี จากเดิม 3 ปี ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ ยังพอมีใน สวทช. ด้านการพัฒนาวิจัยทางวิชาการ นอกนั้นยังไม่เห็นหน่วยงานใดขยับอะไร 


สำหรับผมแล้ว ข้อเสนอแนะเหล่านี้ในหลายประเด็นสามารถนำไปเป็นนโยบายในการผลักดันต่อไปได้ แต่จะให้รัฐลงมือทำเอง ผมว่าไม่ง่ายและนึกไม่ออกว่าจะรัฐจะทำธุรกิจเหล่านี้แบบไหน แต่อาจเป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชนที่รวมตัวกันในการดำเนินงานตามแนวทางธุรกิจ นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจธุรกิจนี้ตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งมีลักษณะการผูกขาดกลาย ๆ โดยใช้เทคโนโลยี และเงินทุนจำนวนมาก รวมทั้งการเชื่อมโยงกับลูกค้า เป็นการกีดกันการเข้าสู่อุตสาหกรรม (Barrier to Entry)


ของผู้เล่นรายใหม่ ๆ นอกจากนี้ การลงทุนบางธุรกิจต้องการเงินทุนมาก เช่น Wafer fab ที่ต้องลงทุนกว่า 2 – 5 หมื่นล้านบาท และยังต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย รวมทั้งใช้เวลาในการก่อตั้งอีกกว่า 2 ปี และหลังจากนั้น การวิจัยพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องนำทุกรายละเอียดมาคิดให้ครบ แต่ตอนนี้ในระยะสั้น ส่วนตัวแล้ว ภาคเอกชนต้องรวมตัวกันให้ได้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการเจรจาทางธุรกิจ โดยรัฐสนับสนุนเชิงนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การเจรจามีแนวทางต่อรองได้มากขึ้น


ดูแล้ว ผมว่า “ชิป” ไม่ได้หายไปไหน แต่ ชิป มาช้า และแพงขึ้น แต่หากผู้เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรวันนี้ รับรองได้ว่าชิปได้ “หาย” ไปแน่ๆ และตอนนี้กำลังทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเสียหายอย่างหนัก