ส่องคุณสมบัติ “จตุพร บุรุษพัฒน์” เหมาะนั่งปลัด มท.

21 ก.ค. 2564 | 06:33 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

**** สถานการณ์โควิดทั่วโลกและไทย หลายประเทศยังอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน อินโดนีเซียนี่ กรุงจาร์กาต้ายอดพุ่งสูงลิ่ว เข้าใกล้อินเดียก่อนหน้านี้เข้าไปทุกที แต่ไทยก็ไม่หนีไปกว่ากัน เมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งไปสูงลิ่วกว่าหมื่นคนต่อวัน และไม่มีทีท่าลดลงในระยะเวลาสั้นๆ ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีฯ คาดการณ์ล่วงหน้ากรณีเลวร้ายสุด จากนี้ไปถึงปลายเดือนก.ค.ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเกินหมื่นรายต่อวัน และไปพีคสุด15,000 รายต่อวัน ในเดือนสิงหาคมนี้ และค่อยๆ ลดลง สถานการณ์ทีท่าว่าจะเป็นจริงตามโฟกัสคาดการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 17-18 ก.ค.ตัวเลขวิ่งไปที่หลักหมื่น กระทั่งล่าสุดวันจันทร์เกิน 10,000 คนเช่นเดียวกัน
 

**** รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ประชุมนัดพิเศษ สั่ง “ล็อกดาวน์” เพิ่มอีก 3 จังหวัด ยอดผู้ติดเชื้อเชื้อสูงจากเดิมล็อกดาวน์ไป 10 จังหวัด กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ แต่คราวนี้เพิ่ม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา รอยต่อกรุงเทพฯ เข้าไปด้วย ถามกันให้แซ่ด “ล็อกดาวน์” แล้วไง ยังเอาอยู่หรือไม่ การควบคุม ขีดกรอบจำกัดโรคระบาดให้ได้ เที่ยวนี้คุมเข้มเรื่องการเดินทางมากขึ้น งดเที่ยวบิน ชะลอเดินทางข้ามจังหวัด ปิดกิจการ กิจกรรมบางแห่งบางรายการเพิ่มจากเดิม ตีกรอบรถโดยสาร เพื่อลดการเดินทางและให้ประชาชนทำงานที่บ้านให้ได้มากที่สุด 100 % เลยยิ่งดี ต้องดูกันจะได้ผลหรือไม่ เอาแค่การเดินทางเท่าที่จำเป็นก่อน ซึ่งความจำเป็นของแต่ละคนไม่เหมือนกันจะดำเนินการอย่างไร
 

**** รัฐบาลกับหมอใหญ่หลายรายเห็นไม่ตรงกัน การควบคุมโรคระบาดระลอกใหม่นี้ ณ ขณะนี้รัฐบาลใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่หมอบางรายพูดน่าคิดต้องจากหนักไปหาเบา ปิดทั้งหมดไปก่อนแล้วค่อยๆ เปิดเมื่อผ่อนคลาย ลดความตึงตัว ตึงเครียด ของสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ลงมาเมื่อพอจะควบคุมโรคได้บ้างแล้ว ต้องรอดูกันที่รัฐบาลใช้อย่างแนวทางนี้จะได้ผลหรือไม่ เป้าหมาย ผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่แล้ว
 

**** สถานการณ์โควิดและการบริหารจัดการทั้งโรค และจัดหาวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญที่โหมกระพือเปลี่ยนตัวผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แผนผิดพลาด ไม่เข้าเป้าไปทั้งหมด จากที่เคยประกาศเดือน 2 เดือนนี้ วัคซีนเต็มแขนพี่น้องชาวไทย แต่ ณ วันนี้ (19 ก.ค.) ฉีดกันไปได้แค่ 14.4 ล้านโดส เข็มแรก 10.9 ล้านโดส เข็มที่สองสะสม 3.4 ล้านโดส เทียบเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรไม่เท่าไหร่ แถมวัคซีนที่ให้ไปยังเป็น “ซิโนแวค” ที่ระดับนานาชาติให้การยอมรับน้อย และข้อมูลจากแพทย์ยืนยันว่าภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็วใน 3 เดือน และไม่สามารถเอาอยู่กับสายพันธุ์เดลต้าที่ขึ้นเป็นสายพันธุ์หลักในไทยได้ จำต้องปรับแผนสลับวัคซีนกันวุ่น เลื่อนแล้วเลื่อนอีกสำหรับผู้เฝ้ารอเข็มแรก

**** ที่กระหน่ำรัฐบาลยังเป็นคนเคยรักทั้งหลาย ต้องบอกว่างานเข้ารายวัน ประชาชนเกือบทุกกลุ่มรุมด่าทอ ทั้งการบริหารจัดการวัคซีนล่าช้าแล้วยังเจอเสียงบ่น เรื่องการเลือกชนิดวัคซีนคุณภาพต่ำให้ประชาชนอีก ล่าสุดบรรดาภาคเอกชนหลายราย ออกอาการส่ายหัวเป็นแถว และต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่านั่งไม่ติด เพราะเริ่มปรากฏภาพโรงงานต้อง “ล็อกดาวน์” หรือต้องปิดบางไลน์ผลิตลง เพราะเกิดการแพร่เชื้อใน “คลัสเตอร์โรงงาน” พากันหวั่นใจว่าจะรับมือไม่อยู่ ถึงตอนนั้นตัวช่วยด้านส่งออกความหวังเดียวในขณะนี้คงดับวูบเป็นแน่
 

**** เอานะภาคการผลิต เป็นภาคเดียวที่ยังพอไปได้อยู่ แต่การติดเชื้อในโรงงานที่มากขึ้นเป็นคลัสเตอร์เริ่มกระทบแล้ว ถ้าจะล็อกดาวน์โรงงาน ก็น่าจะหารือกับภาคเอกชนให้จัดหาที่พัก ให้กับคนทำงานในโรงงานเลยเพื่อสายการผลิตเดินต่อไปได้ ที่ภาคเอกชนก็ต้องเตรียมการส่วนนี้ไว้ด้วย บริการแบบจัดให้ไปเลยที่พัก อาหาร ลดความสุ่มเสี่ยงในการเดินทาง ไม่ไปเสี่ยงเผชิญโรคในที่ต่างๆ แต่รัฐอาจจะต้องสนับสนุนเอกชนบางส่วนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ส่วนนี้เดินหน้าได้
 

**** โควิดระอุ การเมืองก็ข้นคลั่ก ตำแหน่งระดับสูงของราชการก็คึกคัก ด้วยกำลังเข้าสู่เดือนสิงหาฯ-กันยาฯ หมายความว่าข้าราชการเตรียมตัวเกษียณ เมื่อเกษียณก็ต้องมีคนมารับไม้งานต่อ ที่เปรี้ยงปร้างกันอยู่ยามนี้ที่มหาดไทย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ขอบข่ายงานครอบคลุมการปกครองทั่วประเทศ ปลัดฉิ่ง ฉัตรชัย พรหมเลิศ จะครบวาระเกษียณ กันยาฯ นี้ ก็มีคนจ้องเก้าอี้ใหญ่ตัวนี้ตาเป็นมันด้วยเหตุบันดาลอะไรได้หลายๆ อย่าง เรื่องของเรื่องคนที่เหมาะสมทั้งเนื้องาน และคุณสมบัติเหลืออายุราชการปีเดียวหลังปลัดฉิ่ง ซึ่งโดยปกติฝ่ายการเมืองเขาจะไม่ตั้งปลัดปีเดียว หรือแม้กระทั่งผู้นำหน่วยอื่นก็เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุเรื่องการสานต่องาน การเปลี่ยนผ่านที่คาบเกี่ยว เกี่ยวโยงกับทางการเมืองด้วย  

**** เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องหาตัวคนเหมาะสม ก็มีชื่อ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โผล่ขึ้นมาเป็นแคนดิเดต บุคลิกสุภาพบุรุษ ทำงานรอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว กระฉับกระเฉง ทันต่อการเปลี่ยนแปลง คล่องตัว ยืดหยุ่น สนองภารกิจได้ดี จัดการประสานงานได้อย่างดีเยี่ยม ลดการประสานงาได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าคุณสมบัติพร้อมทุกด้าน แต่เมื่อชื่อโผล่อ ก็มีเหตุให้ถูกเตะตัดขาโดยพลันจากคนภายในที่หมายปองเก้าอี้ตัวนี้อยู่ ยุทธการเตะตัดขาสอยให้ร่วงจึงเกิดขึ้น กระแสเสือข้ามห้วย คนนอกมาใหญ่ในมท.จึงเกิดขึ้น ทั้งที่ว่าที่จริงแล้ว จตุพร เองก็เกิดจากจากกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นลูกหม้อคนหนึ่ง ต้องจับตาดูต่อไป เก้าอี้ใหญ่ตัวนี้จะตกเป็นของใครไม่นานก็รู้
 

*** ปิดท้ายต้องแสดงความยินดีกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลพลังงานสร้างสรรค์ จาก Thailand Energy Award 2020 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไปครอง โครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สองด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องจักร หรือลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มเติม รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อสภาพการทำงานในปัจจุบัน ในทางเศรษฐกิจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 41 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญช่วยบริษัทประหยัดค่าขยายโรงงานได้อีกกว่า 385 ล้านบาท