เราจะก้าวพ้นวิกฤติโควิด ไปด้วยกันได้อย่างไร

13 ก.ค. 2564 | 23:30 น.

เราจะก้าวพ้นวิกฤติโควิด ไปด้วยกันได้อย่างไร : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3696 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

วิกฤติโควิดระลอกนี้หนักหน่วงและเลวร้ายที่สุด ที่ประเทศของเรากำลังเผชิญ ตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวันร่วมเกือบหมื่นราย เสียชีวิตร่วมร้อยมีผู้ป่วยใหม่เกินห้าพันคนแทบทุกวัน จนเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข มีผู้ป่วยเข้าคิวรอเตียงจำนวนหลายพันคนต่อวัน โดยสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าหรือแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างไร จึงยังไม่อาจคาดหวังได้เลยว่าปัญหานี้จะจบสิ้นลงเมื่อใด


สถานการณ์ระบาดของโควิดครั้งนี้ ความเป็นจริงของสถานการณ์หนักหน่วงและน่าห่วงใยเป็นที่วิตกกังวลเพียงใดนั้น มิอาจปฏิเสธความจริงได้ว่า เรายังไม่สามารถทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงในสังคมได้ เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจคัดกรองและความสามารถในการจัดการของรัฐบาล ยังมีขีดความสามารถจำกัด แต่เท่าที่ตรวจพบ ก็ปรากฏว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่เดิมกับที่เพิ่มเติมมาในแต่ละวัน มีจำนวนมากเกินกว่าที่ระบบเดิมจะรองรับได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดรุนแรงอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล


ส่วนความคาดหวังที่ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและโดยรวดเร็วทันสถานการณ์ เพื่อที่จะทันกับกำหนดการที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ภายในกำหนด 120 วัน คือวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ก็ยิ่งดูริบหรี่ มองไม่เห็นอนาคตว่าจะเป็นไปตามกำหนดการได้ 


เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในแต่ละวัน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐบาลไม่มีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชน อย่างที่เคยประกาศไว้ และสภาพการระบาดของโควิดที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า จึงดูกลับหนักหน่วงรุนแรงขึ้นทุกวัน สวนทางกับคำประกาศของนายกฯโดยสิ้นเชิง


แต่ปัญหาที่หนักหน่วงและท้าทายยิ่งกว่าคือ ความวิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาลและผู้นำประเทศ เพราะเหตุที่ประชาชนหมดความเชื่อถือต่อรัฐบาล ที่ประเมินสถานการณ์โควิดผิดพลาด บริหารจัดการล้มเหลวจนก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ ที่ร้ายแรงยิ่งกว่า แถมการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนก็ผิดพลาดล้มเหลว ไม่เป็นไปตามกำหนดที่แถลงต่อประชาชน จนกลายเป็นเรื่องโกหก หรือ ปกปิดความจริงต่อสังคม เพราะวัคซีนไม่มี ไม่มาตามกำหนด 

ที่ฉีดไปวันๆ ก็แบบกะปิดกะปอย ไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงเป้าหมาย 50% ของจำนวนประชากร จะเปิดเสรีให้เอกชนนำเข้า ก็ติดปัญหาอุปสรรคขั้นตอนทางราชการ อ้างสารพัดปัญหา ทั้งที่ควรลดขั้นตอนในยามวิกฤติ จึงไม่สามารถอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาในเรื่องเช่นนี้ได้เลย ไม่นับรวมกระบวนการรักษาพยาบาล ที่ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่ล้นเตียง การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ในภาวะวิกฤติก็ไม่สามารถทำได้ดีพอ หรือ เอาชนะสงครามข้อมูลข่าวสารทางโซเชี่ยลได้ โดยตัวผู้นำกลับมีปัญหาในการพูดและการสื่อสารกับประชาชนเสียเอง 


เมื่อผสมรวมกับปัญหาความเดือดร้อน ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล ที่มีคำสั่งให้ปิดกิจการ คนทำมาค้าขายหาเช้ากินค่ำต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้า ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ภัตตาคารร้านอาหาร ล้มหายตายจากเจ๊งระเนระนาดไปตามกัน จึงกลายเป็นปัญหาสะสมสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาล และผู้นำประเทศ จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าวิกฤติศรัทธาต่อผู้นำ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ฯ จะพูดหรือทำอะไร แม้แต่หายใจแรง คนก็เห็นว่าผิดและไม่ชอบไปหมด กลายเป็นกระแสขับไล่ผู้นำประเทศ แบบใครถือหางเชียร์นายกฯ ล้วนโดนหางเลขไปด้วย 


ม็องทั้งหลายที่ตั้งเป้าไล่นายกฯ ต่างได้โอกาสถือเอาเงื่อนไขของสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ ออกมารุมถล่ม เรียงหน้าสกรัมผู้นำประเทศกันพร้อมหน้า นี่คือภาวะวิกฤติของบ้านเมืองในปัจจุบัน


สถานการณ์บ้านเมืองที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า เสียงเรียกร้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลถึงประชาชน หรือการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับประชาชนให้ปฏิบัติ จากที่เคยเชื่อฟังให้ความร่วมมือด้วยดีต่อรัฐบาลและผู้นำประเทศตลอดมา พลิกกลับเป็นมีการต่อต้านคำสั่ง มีอารยะขัดขืน กระทั่งถึงขนาด "กูจะเปิดมึงจะทำไม" ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ถึงปัญหาใหญ่ กำลังเผชิญหน้าท้าทายต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง 


คำว่า "เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน" เริ่มไม่ขลังและไม่อาจเรียกหาความร่วมมือจากประชาชนได้ นี่คือบททดสอบครั้งสำคัญต่อการปกครองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่การยึดอำนาจเป็นต้นมา 

ความเป็นจริงก่อนที่สถานการณ์ความวิกฤติศรัทธาต่อผู้นำประเทศ จะสั่งสมและพัฒนามาถึงวันนี้  มีบุคคลสำคัญและรัฐบุรุษของประเทศ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยเตือนท่านนายก ฯไว้แล้วก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมว่า "วันนี้ตู่ใช้กองหนุนของตู่ไปหมด แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว ตู่ต้องเพิ่มเติมกองหนุนตู่ให้เพิ่มขึ้น" และ "ที่ตู่สัญญาจะคืนความสุขแก่ประชาชนนั้น ต้องดำรงความมุ่งหมายและทำให้ได้" 


และยังมีเสียงเตือนจากสื่อมวลชน, กัลยาณมิตร และ ผู้หวังดีต่อนายกฯ อีกมากมาย เคยเตือนและเสนอแนะถึงการเตรียมรับกับสถานการณ์ ทั้งชี้แนะให้เห็นหนทางที่จะก้าวพ้นจากวิกฤติศรัทธาของรัฐบาลอย่างไร แต่ดูเหมือนนายกฯ คงฟังแต่ไม่ค่อยได้ยิน หรืออาจไม่ได้ให้น้ำหนัก หรือ ความสำคัญสักเท่าไร สุดท้ายวันแห่งความเป็นจริงของชีวิตก็มาถึง เพราะอำนาจไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนและจีรัง คุณงามความดีของคนต่างหากที่จะมั่นคงสืบไป


การที่ประเทศจะก้าวผ่านวิกฤติร่วมกันไปได้ ผู้นำกับประชาชนจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว พึงพาอาศัยกันเปรียบประดุจปลา กับ น้ำ ประชาชนในชาติต้องรักและสามัคคีกัน ผู้คนในสังคมต้องมีวินัย เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย โดยผู้นำประเทศต้องมีภาวะความเป็นผู้นำสูงและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นศูนย์รวมแห่งความรักความสามัคคีของคนในชาติ หากผู้นำประเทศไม่สามารถครองใจประชาชนได้ ก็ยากที่เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน 


การที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือ กระทั่งรวมตัวกันออกมาขับไล่รัฐบาล ด้วยเหตุความไม่พอใจในการบริหารจัดการปัญหาของประเทศ อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิดขณะนี้ รัฐบาลจึงต้องฟังและถือเป็นเสียงเตือนครั้งสุดท้ายของประชาชน ก่อนที่พวกเขาจะหันหลังให้รัฐบาล ผู้นำประเทศจึงต้องน้อมรับฟังเสียงประชาชน และเร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในรัฐบาลและตัวผู้นำโดยด่วนเท่านั้น ไม่ควรมองประชาชนเป็นศัตรู หรือ คิดแต่จะหาทางดำเนินการตามกฎหมาย จึงจะสามารถประคับประคองรัฐนาวาของรัฐบาลนี้ไปได้ 


ถ้าหากยังดื้อดึงดันที่จะบริหารประเทศไปในสไตล์เดิมๆ โดยมิได้ปรับปรุงแก้ไขภาวะความเป็นผู้นำให้ดีขึ้น และไม่มุ่งมั่นทำให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ คงไม่มีหนทางที่รัฐบาลจะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้ และประชาชนคงไม่ยอมเดินตามไปด้วยกับรัฐบาลเป็นแน่แท้ และเมื่อนั้นการล่มสลายของรัฐบาลก็จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นี่คือโอกาสสุดท้ายของรัฐบาล