สลับวัคซีนต้องมีผลวิจัยรองรับ คนไทยไม่ควรเป็นหนูทดลอง

13 ก.ค. 2564 | 13:05 น.

สลับวัคซีนต้องมีผลวิจัยรองรับ คนไทยไม่ควรเป็นหนูทดลอง : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3696 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค.2564

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมติสำคัญ 2-3 ประเด็นในการต่อสู้กับโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 ที่ระบาดรุนแรง โดยผู้ติดเชื้อรายวันยังคงสูง ในระดับเฉียดหมื่นคนต่อวัน รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังมีโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่อาการป่วยทรุดตัวลงเร็ว กำลังขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ)
 

หนึ่งในข้อมติสำคัญที่ออกมา เป็นการเห็นชอบให้สลับวัคซีนในแต่ะชนิดจากเดิมที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็ม 1 เว้นระห่างไป 3 สัปดาห์ฉีดซิโนแวคเข็ม 2 หรือฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็ม 1 เว้นระห่างไป 12 สัปดาห์ก่อนฉีดแอสตร้าเซเนก้าเข็ม 2 โดยมติให้เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ หวังว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตาและให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที

ข้อมติที่สำคัญอีกประเด็น เป็นการเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจ Rapid Antigen Test มาใช้นั้นต้องมีการผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่ขณะนี้มีผู้ขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมา อนุญาตให้ประชาชนตรวจได้เองที่บ้าน อันจะทำให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ติดเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก นำไปสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษา และป้องกันที่เหมาะสมโดยเร็ว
 

ทั้ง 2 ข้อมติยังมีจุดอ่อนช่องว่างที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อปิดจุดอ่อนโดยเร็ว ในประเด็นแรก การสลับวัคซีน แม้จะมีข้อมูลว่ามีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ร่วม 30 ราย ที่กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนเพื่อนำมาใช้เร่งด่วนและเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ในไทย แต่องค์กรสำคัญด้านสาธารณสุขระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาท้วงติงถึงอันตรายของการสลับวัคซีน ที่ยังไม่มีผลวิจัยรองรับที่แน่ชัด ซึ่งไม่ควรมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผสมสูตรให้กับประชาชน โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพและมีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย หากประชาชนมีโอกาสเลือกจะฉีดวัคซีน เข็ม 2, 3, 4 ได้เมื่อใดและจากผู้ผลิตรายใด

เราไม่เห็นด้วยกับข้อมติการสลับวัคซีนตราบใด ที่ผลการศึกษายังออกมาไม่เด่นชัด เชื่อถือได้ในระดับสากล คนไทยไม่น่าจะถูกควรใช้เป็นหนูทดลอง เพื่อตอบโจทย์ใดโจทย์หนึ่งที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านสุขภาพ จากปัญหาโควิด-19
 

เรายังต้องการเห็นการปิดช่องโหว่ที่ 2 ในชุดตรวจโควิดที่ปลดปล่อยออกมาแล้ว แต่ต้องมีมาตรการควบคุมราคาที่เหมาะสมตามมา เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการนำเข้า-จำหน่ายทุกทอดค้ากำไรเกินควรมากจนเกินไป ในสถานการณ์วิกฤตินี้