ความรุนแรงของโควิดในเมียนมา

05 ก.ค. 2564 | 01:30 น.

ความรุนแรงของโควิดในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

วันนี้ข่าวคราวของประเทศเมียนมา ที่บ้านเราไม่ค่อยจะมีออกมาให้เห็นมากเท่าไหร่ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าทุกอย่างสงบเรียบร้อยนะครับ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าที่บ้านเรานั้น ข่าวทุกข่าวที่ออกมาจะไม่ค่อยแรงเท่าข่าวของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่กำลังอาละวาดอย่างรุนแรงในขณะนี้

 

ผมเองมีความรู้สึกหดหู่มากเมื่อออกไปทำธุระในเขตชั้นในของกรุงเทพฯ เพราะมองไปทางใหน ก็เห็นแต่ร้านค้าที่ไม่เปิดทำการค้า-ขาย มันทำให้ใจหายจริงๆ นี่เราเดินมาถึงจุดนี้แล้วเหรอ แม้ว่าจะมีเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นนายแพทย์ใหญ่หลายท่าน ออกมาบอกว่าให้เฝ้าระวังอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่จะรุนแรงกว่านี้เยอะ โถ...แค่นี้เราก็จะแย่กันหมดแล้ว นี่ถ้าหนักกว่านี้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรนี่....
 

ผมเองมีการทำธุรกิจหลายอย่างในประเทศไทยเรา ทุกธุรกิจที่ทำอยู่ก็ได้รับผลกระทบหมดทุกธุรกิจ แต่ที่หนักหนาที่สุด ก็เห็นจะเป็นร้านอาหารครับ ก่อนที่เจ้าโรคระบาดวายร้าย COVID-19 จะระบาดรุนแรงหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา ผมมีร้านอาหารเกือบยี่สิบร้าน พอทางราชการประกาศใช้นโยบายคนละครึ่ง ผมก็เริ่มได้รับผลกระทบ ต้องปิดร้านไปหลายร้าน เพราะเราเป็นนิติบุคคล ไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวได้ เพราะทางราชการอนุญาตให้เฉพาะบุคคลธรรมดาร่วมโครงการเท่านั้น

 

ลูกๆ ก็ถามว่าเราจะเอาอย่างไรดี ผมก็ตอบว่า ไม่เป็นไรหรอก ถ้าทำให้สังคมเดินต่อไปได้ มีคนที่ได้ประโยชน์เราต้องเสียสละบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าท้อ!! พอผ่านไปสักพักใหญ่ๆ ทางราชการเริ่มประกาศใช้นโยบายให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ เข้ามานั่งทานอาหารในร้านได้แค่ยี่สิบห้าเปอร์เซนต์ ผมก็เริ่มคิดว่า คราวนี้ตายแน่นอน เพราะลูกค้าที่จะเข้ามาทานอาหารที่ร้านอาหาร หากมากันสักสามคน คุณต้องมีที่นั่งให้เขาถึงสามโต๊ะ หรือมาหนึ่งคน ก็กินเนื้อที่ไปหนึ่งโต๊ะแล้ว

 

นั่นหมายความว่ายอดขายต้องหายไปอย่างน้อย 75% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงต้องมากกว่านั้น เพราะว่าเวลาการมาทานอาหารของลูกค้าทั่วไป อยู่ในเวลาที่สั้นๆ วันหนึ่งๆมีช่วงสำคัญในการขายแค่สองช่วงหลัก คือช่วงอาหารกลางวันกับอาหารเย็น กลางวันแค่ชั่วโมงครึ่งและช่วงเย็นแค่สองชั่วโมงครึ่งเท่านั้น จึงสลบเหมือดอย่างไม่ต้องไปหาหมอดูเลยครับ

ในขณะที่บางคนก็บอกว่าให้ทำตลาดออนไลน์ซิ เพราะตอนนี้ธุรกิจ Delivery กำลังเฟื่องฟูสุดๆ ดูได้จากเวลาเราขับรถไปบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาอาหาร เราจะเห็นรถจักรยานยนต์ที่มีคนขับขี่ใส่เสื้อสีเขียว เสื้อสีเหลืองเต็มไปหมด แต่ผมก็คิดว่าคนที่ให้ความเห็นนั้น ท่านอาจจะไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้ เพราะธุรกิจร้านอาหารนั้น มีต้นทุนสูงมากครับ ซึ่งต้นทุนประกอบด้วยตัวหลักๆ อยู่ 6-7 ตัว เช่น ต้นทุนวัตถุดิบของอาหาร (Food Costs) ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 30-35% ต้นทุนค่าเช่า(ในกรณีที่เปิดร้านค้าในห้าง) 18-25% ต้นทุนค่าแรงงาน 15-20% ต้นทุนค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าแก๊ส ประมาณ10-15% ค่าภาษี 10% ค่าจิปาถะ 5-7%

 

นี่คือแค่คร่าวๆ นะครับ หากเพิ่มค่า Delivery ที่ถูกบริษัทจัดส่งนั้นๆ เรียกเก็บเข้าไปอีก 15-20% แล้วจะเหลืออะไรละครับ และในสถานการณ์เช่นนี้ เกือบทุกร้านเขาต่างคิดออกโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เข้าไปอีก ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ขาย คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเจ๊งๆๆๆ แน่นอนครับ เราจึงเห็นคนมีชื่อเสียง ทั้งดารา นักร้อง ต่างออกมาป่าวประกาศว่า เลิกกิจการแล้วครับ สู้ไม่ไหวครับ นี่คือความจริงที่เราชาวร้านอาหารต้องประสบพบเจอละครับ ไม่มีการดราม่าเลยจริงๆครับ
 

ในประเทศเมียนมาก็เช่นกันครับ ที่นั่นร้านค้าและบริการต่างๆ ก็เจ๊งไม่เป็นท่าเช่นกันครับ ไม่ใช่เป็นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ส่วนจะรุนแรงแค่ไหน ผมก็ได้มีโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนๆ ที่นั่นอยู่เป็นประจำครับ เขาก็โอดครวญกันเกือบทุกคนครับ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เพราะที่นั่นความรุนแรงของโรคระบาดนั้น มีความรุนแรงกว่าประเทศไทยเยอะ การรายงานของทางสถานฑูตไทยประจำประเทศเมียนมาที่ส่งมาให้ทุกวันนั้น ได้เห็นว่าการระบาดได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วครับ  

 

นี่ยังไม่นับรวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้ามาอีก สถานการณ์ในวันนี้ที่เมียนมา ทุกวันยังมีเหตุระเบิดปิงปองเกือบทุกวัน การชุมนุมประท้วงแบบดาวกระจายก็ยังไม่ได้หยุดลง ยังคงมีการปราบปรามจากทางการเมียนมาอยู่ตลอดครับ น่าเห็นใจพี่น้องชาวเมียนมาจริงๆครับ

ในด้านเศรษฐกิจของประเทศเมียนมานั้น ก็หนักกว่าประเทศไทยเรามาก ของประเทศไทยเรานั้น เนื่องจากฐานเศรษฐกิจของเรานั้นอยู่สูงกว่าเขามาก ดังนั้นพอได้รับผลกระเทือน เราจะรู้สึกได้ไม่ยาก แต่ที่ประเทศเมียนมา ฐานเศรษฐกิจของเขายังต่ำมาก เขาจึงรู้สึกช้ากว่าเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาหนักมากจริงๆครับ อีกทั้งสถาบันการเงินของเรา ไม่เพียงมีแต่ธนาคารเท่านั้น เรายังมีสถาบันการเงินอื่นๆอีกมากมาย ทั้งทางตรงและทางอ้อมของเรามีหมด

 

แต่ที่ประเทศเมียนมาเขามีเพียงธนาคารพาณิชย์เท่านั้น พอธนาคารทำงานไม่เต็มที่ เขาได้รับผลกระทบแบบตรงๆเลย พี่น้องชาวไทยเรายังได้เคยเจอแบบเขาหรอกครับ เราคงนึกไม่ออกว่า หากเรามีเงินฝากอยู่ในธนาคาร แต่ไม่สามารถไปเบิกเงินของเราได้ หรือเราต้องการเงินสด เราต้องไปขายเงินในธนาคารให้กับนายหน้าที่อยู่แถวหน้าธนาคาร แล้วต้องโอนเงินในธนาคารให้เขา เพื่อแลกเอาเงินสดโดยเราต้องขายลดไป 7%-15% นั้นรสชาติจะเป็นเช่นไรครับ เพราะฉนั้นก็จงภูมิใจเถิดที่พ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยายของเรา ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลนั่งเรือสำเภามา แล้วมาลงเรือสำเภาที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ดีนะที่ไม่ได้ไปลงที่ประเทศใกล้ๆ ประเทศไทยเราครับ