ผู้นำ "ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่" ควรเป็นแบบไหน

20 ส.ค. 2566 | 07:30 น.

ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ควรเป็นแบบไหน : Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การวางแผนสืบทอดกิจการของธุรกิจครอบครัวอาจเป็นกระบวนการที่ท้าทายอย่างเหลือเชื่อ และมีธุรกิจครอบครัวเพียงไม่มากนักที่มีการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการไปจนดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากการวางแผนสืบทอดกิจการเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมักมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง

จึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่และใช้เวลานานในการดำเนินการให้เสร็จสิ้น แต่น่าเสียดายที่ธุรกิจครอบครัวมักมีแนวโน้มที่จะดำเนินการเชิงรับมากกว่าเชิงรุกในการเปลี่ยนผ่านความเป็นผู้นำที่สำคัญนี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้นำรุ่นต่อไปประสบความสำเร็จมากนัก เป็นเพียงการช่วยให้เข้ารับช่วงกิจการและอยู่ในตำแหน่งให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้น

ความสำคัญประการหนึ่งในการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว คือเพื่อให้ผู้นำธุรกิจครอบครัวต้องมีมุมมองในระยะยาว เนื่องจากหลายคนเอาแต่มองผลประโยชน์ในระยะสั้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับระยะใกล้แบบวันต่อวัน ดังนั้นเพื่อให้การวางแผนสืบทอดกิจการประสบความสำเร็จ

ซีอีโอคนปัจจุบันและผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ที่เคยใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตนได้ ต้องยอมรับด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องส่งไม้ต่อให้กับผู้สืบทอดรุ่นต่อไป และสิ่งที่เคยใช้ได้ผลกับคนรุ่นเก่าเมื่อ 10, 20, 30 ปีก่อนหรือนานกว่านั้นอาจไม่ได้ผลในอนาคต

ทั้งนี้การวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้นต้องการผู้สืบทอดรุ่นต่อไปที่มีความพร้อม เต็มใจ และสามารถรับภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้นในการเป็นผู้นำเมื่อผู้บริหารรุ่นปัจจุบันทำการเปลี่ยนผ่าน แม้ผู้นำระดับสูงอาจคิดว่าการเกษียณอายุของตนนั้นยังอีกยาวไกล และผู้สืบทอดรุ่นต่อไปจะยังรออยู่เมื่อเวลานั้นมาถึง แต่ครอบครัวที่มีประสิทธิภาพสูงจะเริ่มดำเนินกิจกรรมที่สำคัญเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรักษามรดกของตนและรับประกันความต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นของธุรกิจครอบครัว

ผู้นำ \"ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่\" ควรเป็นแบบไหน

โดยทั่วไปผู้นำธุรกิจครอบครัวมักโฟกัสกับการที่ผู้สืบทอดรุ่นต่อไปไม่สามารถทำหน้าที่แทนคนรุ่นปัจจุบันได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าธุรกิจมีแนวโน้มจะต้องการผู้นำรูปแบบใหม่เพื่อความยั่งยืนและเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นผู้บริหารในรุ่นปัจจุบันควรตระหนักว่าผู้สืบทอดรุ่นต่อไปอาจต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่เป็นการสร้างความแตกต่าง เนื่องจากสิ่งที่ทำไว้ในอดีตอาจใช้ไม่ได้ผลในอนาคต หรืออาจจะใช้ไม่ได้กับผู้นำรุ่นต่อไป

ดังนั้นแล้วผู้นำรูปแบบใหม่ควรเป็นอย่างไร จากข้อบ่งชี้ความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้นำรุ่นต่อไปสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจบางประเภทอาจต้องขยายขนาดจากระดับภูมิภาคไปเป็นระดับประเทศเพื่อความอยู่รอด และบางธุรกิจอาจต้องยอมรับและใช้โซลูชันเทคโนโลยีใหม่ๆในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ขณะที่บางธุรกิจอาจเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนรูปแบบความเป็นผู้นำที่มีความสามารถดึงดูดผู้นำระดับถัดไปให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวทางใด ผู้บริหารระดับสูงในอนาคตอาจต้องการชุดทักษะและแนวทางที่แตกต่างออกไป เนื่องจากเมื่อผู้นำรุ่นต่อไปเข้ารับตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพสะท้อนของพ่อแม่และผู้บริหารชั้นนำคนอื่นๆในอดีต แต่จำเป็นต้องเป็นตัวของตัวเองและนำทักษะความสามารถเฉพาะตัวมาใช้เมื่อดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น

สิ่งสำคัญคือเลิกทำตัวเป็นลูกน้องและเริ่มทำตัวเหมือนผู้นำมากขึ้น แยกให้ออกว่าครอบครัวก็คือครอบครัว และธุรกิจก็คือธุรกิจ ผู้สืบทอดรุ่นต่อไปต้องใช้ความคิดริเริ่มและวางกลยุทธ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ แทนที่จะนั่งเฉยๆ และรอให้พ่อแม่และผู้นำครอบครัวคนอื่นๆ คอยบอกว่าต้องทำอะไร หรือเพียงมอบอำนาจให้

เมื่อผู้นำรุ่นต่อไปก้าวขึ้นมาจะใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน และขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของพนักงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับผู้นำรุ่น Baby Boomer ที่มักบริหารจัดการจากบนลงล่างในลักษณะที่ใช้คำสั่งมากกว่านั่นเอง

ที่มา: JEREMY S. LUREY. DECEMBER 1, 2022. NextGens Stepping Up as “NowGens” in Family Businesses. Available: https://www.thefbcg.com/resource/nextgens-stepping-up-as-nowgens-in-family-businesses/

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,914 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566