ธอส. ลั่นขอเวลา 2 เดือน เตรียมนำ "ฟินเทค" ลุยสินเชื่อบ้านปลายปี เผยภัยแล้ง-ราคายางตกต่ำลามเอ็นพีแอลแบงก์ขยับเพิ่ม /เข้มเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อข้าราชการ-รายย่อยมากขึ้น หลังพบผู้กู้มีภาระรอจ่ายติดเครดิตบูโร /แนะเร่งปิดบัญชีสร้างเครดิต
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารเตรียมจะนำเทคโนโลยีทางการเงิน( Financial Technology หรือ Fin Tech )เข้ามาช่วยในการดำเนินงานหลายด้าน โดยเฉพาะ ธอส.จะนำมาฟินเทคมาปรับใช้ในการปล่อยกู้หรือขอรับสินเชื่อบ้านของลูกค้า ทั้งนี้เพื่อทำให้กระบวนการยื่นคำขอกู้ทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ความเป็นไปได้ คาดว่าน่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2559 สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ก่อนที่จะขยายไปสู่สินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
" ต่อไปเมื่อลูกค้าเข้ามายื่นคำขอกู้หรือขอรับสินเชื่อบ้านกับธอส. ซึ่งอาจมาธนาคารเพียง 1-2 ครั้งก็สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ ที่สำคัญสามารถทราบผลได้ทันที ช่วยลดขั้นตอนการพิจารณา การตรวจสอบและการส่งออกสาร โดยลูกค้าสามารถยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้ที่บ้านได้เอง โดยรวมยังช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาพิจารณาให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 1สัปดาห์จากเดิมไม่ต่ำกว่า 1-2 สัปดาห์"
ต่อข้อถามถึงแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อนั้น นายฉัตรชัย ระบุว่า สินเชื่อยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า แนวโน้มการปล่อยสินชื่อรายย่อย เช่น ผู้กู้รายใหม่นั้น จะทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ เนื่องจากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารตรวจสถานะของผู้กู้อย่างละเอียดมากขึ้น ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้ทุกธนาคารต้องพิจารณาปล่อยกู้อย่างเคร่งครัด ดังนั้น หากข้าราชการที่มีประวัติการชำระหนี้อยู่ในเครดิตบูโรแล้ว ขั้นตอนการจะได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อนั้น ในหลักการจะนำมูลหนี้ดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อน
ยกตัวอย่าง ข้าราชการครูที่พบว่า มีการก่อหนี้จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลจากการค้ำประกันระหว่างกันตั้งแต่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ ถัดมาเป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้นี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าการพิจารณาวงเงินกู้จะต้องถูกลดหรือตัดวงเงินกู้ให้เหลือน้อยลง เนื่องจากมีภาระหนี้รอชำระอยู่ เหล่านี้เป็นที่มาของกระแสว่า ผู้กู้ไม่สามารถกู้หรือขอสินเชื่อได้เต็มวงเงิน
"ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธอส.เรามีการตรวจสอบข้อมูลโดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการว่ามีการก่อหนี้ไว้ที่ใดบ้าง โดยตรวจสอบจากเครดิตบูโร ซึ่งเห็นได้ชัด คือ มีข้าราชการจำนวนมากที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และภาระหนี้ที่รอชำระเหล่านั้นทำให้โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อเต็มวงเงินทำได้ยากมากขึ้นเพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีหนี้หรือก่อหนี้ไว้จนต้องติดเครดิตบูโร จึง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งปิดบัญชีหนี้เพื่อให้บุคคลนั้นมีเครดิตและสามารถยื่นขอกู้จากแบงก์ต่างๆ ได้ "
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าในทางปฏิบัติ ธอส.จะไม่ติดสิทธิการขอวงเงินสินเชื่อ แม้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มข้าราชการจะมีภาระหนี้จากการกู้อื่นๆมาก่อน เพียงแต่แนวโน้มวงเงินต่อรายที่จะอนุมัติอาจปรับลดลง เช่น วงเงินยื่นคำขอกู้จำนวน 1 ล้านบาทธอส.อาจพิจารณาอนุมัติเพียง 7 แสนบาท ทั้งนี้ธนาคารจะต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ ในอดีตจะพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของกลุ่มคนหรือตามอาชีพ เช่น เดิมเคยอนุมัติ 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเมื่อธนาคารปรับเกณฑ์โดยพิจารณาจากหนี้ที่ก่อเอาไว้และมาหักกับความสามารถที่บุคคลนั้นๆ จะสามารถก่อหนี้ได้ คงเหลือเป็นวงเงินเพียง 70% จากที่เคยพิจารณาให้วงเงินกู้ถึง 100-110%
นายฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะหลังมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจยกเลิกคำขอกู้ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติไม่ได้ตามความประสงค์ของผู้กู้ มีผลทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อของธอส.ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ส่วนความคืบหน้าในการอำนวยสินเชื่อข้าราชการนั้น ปัจจุบันปล่อยไปแล้วประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี ธอส.จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ใกล้เคียง 3หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางสาขาของธอส.ได้เข้ามาดูโครงการ "โรงเรียนการเงิน" ซึ่งเป็นการให้ความรู้ก่อนยื่นความประสงค์ในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยโรงเรียนการเงินได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 1หมื่นรายภายในเวลาเพียงเดือนเดียว จากเดิมที่มีเพียง 99 รายซึ่งสูงกว่าเป้าที่กำหนดไว้ทั้งปีที่ 1หมื่นราย ดังนั้นมั่นใจว่าสิ้นปี น่าจะมีผู้สนใจเข้าโครงการได้ถึง 2-3 หมื่นราย
สำหรับเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ธอส.ทั้งปีนี้อยู่ที่จำนวน 1.7 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีแรก( ณ สิ้นเดือน มิ.ย.59) ธนาคารอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 75,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.93% โดยนโยบายการปล่อยสินเชื่อเฉพาะครึ่งปีหลัง นี้จะเน้นโครงการที่มาจากนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้าน ธอส. เพื่อผู้สูงอายุ แบ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้กู้รายย่อย (Post Finance) วงเงิน 3,000 ล้านบาท, สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ (Prefinance) วงเงิน 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีสินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุที่ยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังอีก 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อบ้านเพื่อ ผู้สูงอายุที่เป็นโครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อีก 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐอีกกว่า 5,000 ล้านบาท จากที่ปล่อยไปในช่วงครึ่งปีแรกเกือบ 5,000 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่อที่ทำตลาดจากธนาคารเอง
ในส่วนของผลการดำเนินงานในปีนี้ ธอส. คาดว่าจะสามารถทำกำไรจากผลการดำเนินงานที่ 9,500 ล้านบาท แม้ที่ผ่านมาธนาคารจะเป็นผู้นำในการออกผลิตภัณฑ์ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารทั่วไป โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 3.5% โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีกำไรสุทธิแล้ว 5,158 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีจำนวน 51,483 ล้านบาท คิดเป็น 5.76% ของยอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 0.31% ณ สิ้นปี 2558 ที่ NPL อยู่ที่ 5.45% ของสินเชื่อรวม ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารจะหารือกับกระทรวงการคลังในการแยกบัญชีหนี้ ของะนาคารออกจากบัญชีปกติ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาถึงผลประกอบการของธนาคาร ต่อกรณีหนี้เสียของธนาคารที่ขยับสูงขึ้นซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดและเพิ่มจากนโยบายการขยายสินเชื่อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยที่ต้องการมีบ้าน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559