เปิด 5 ปัจจัยหนุน ส่งออกปีลิง พลิกกลับมาบวก

07 ม.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลายสำนักด้านเศรษฐกิจออกมาพยากรณ์ส่งออกปี2559 คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะพลิกบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากที่ปี2556 ส่งออกติดลบ 0.26% ต่อมาปี2557 ติดลบ 0.43% และปี2558 คาดติดลบราว 5%

[caption id="attachment_25161" align="aligncenter" width="600"] สถิติการส่งออกของไทยรอบ 5 ปี สถิติการส่งออกของไทยรอบ 5 ปี[/caption]

ไล่ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ออกมาคาดการณ์การส่งออกปี 2559 จะทรงตัว หรือเติบโต 0% ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองภาคส่งออกคาดว่าจะพลิกขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2.0% ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน เช่นเดียวกับที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ที่ออกมาคาดว่าส่งออกปีนี้จะกลับมาเติบโตที่ 3%โดยมองว่าได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่จะช่วยเรื่องปริมาณ และราคาพืชผลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า แม้แต่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกสินค้าไทยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5%

สอดคล้องกับที่ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมแถลงข่าว"วิเคราะห์ทิศทางส่งออกไทยปี2559" วันที่ 12 มกราคมนี้ โดยประเมินว่าการส่งออกจะพลิกกลับมาบวกได้แน่นอน คาดว่าจะบวก 2% มองจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ตลาด CLMV(กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)และ ออสเตรเลีย มีความคึกคักขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกขยายตัวมากขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยดูเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลง

เหตุผลส่งออกไม่ติดลบ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า จากตัวเลขส่งออกปี2558 ที่คาดว่าจะติดลบ 5% น่าจะเป็นตัวเลขการติดลบที่ต่ำที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับปี2556 และปี2557 โดยปีที่ผ่านมาส่งออกติดลบมาจากราคาน้ำมันดิบลดลง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน 3 ตัวหลักคือเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป ที่มีสัดส่วนส่งออกมากถึง 11% ของการส่งออกทั้งหมดติดลบถึง 3% เมื่อเทียบกับตัวเลขส่งออกปี 2558 ที่คาดว่าจะติดลบทั้งหมดราว 5% โดยสินค้าทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมามีสถิติการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง เพียงแต่มูลค่าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมัน

ทั้งนี้จากการประมวลเหตุผลจากนักวิชาการและภาคเอกชนต่างมั่นใจว่า ส่งออกปี 2559 ที่พลิกจากติดลบเป็นบวกได้นั้นมาจาก 5 ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไล่ตั้งแต่ 1. ปี2559 ราคาน้ำมันอาจจะลดลงไปอีกเล็กน้อยหรืออยู่ในระดับทรงตัว โดยไม่ผันผวนแรง จึงไม่กระทบต่อมูลค่าส่งออกกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีก 2.การที่แต่ละประเทศต่างเผชิญกับเศรษฐกิจติดลบในปี 2558 ก็จะทำให้ปีนี้มีการปฏิรูปด้านการค้า ด้านเศรษฐกิจดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

3.การได้รับอานิสงส์จากปัจจัยภายในโดยมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการส่งออกและการลงทุน การท่องท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และการค้าให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมั่นใจมากขึ้นจะเริ่มส่งผลบวกในปีนี้ 4. ปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป (อียู) ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ทำให้ปี 2559 ผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับตัวได้โดยหาตลาดอื่นชดเชย 5.มีปัจจัยเสริมจากการค้าชายแดนและตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ตอบสนองดีขึ้น

โดยเฉพาะประการสุดท้ายนี้ถือเป็นแรงเสริมที่น่าจับตามอง เพราะการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน และการค้าเมืองหน้าด่านในขณะนี้กลับมาขยายตัวมีสัดส่วน 9.8% ของ มูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน(มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ในระยะ11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.58) มีมูลค่าสูงถึง 9.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น10.9 (YoY) ทำให้ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.68 แสนล้านบาท

ซึ่งการค้าในส่วนนี้มีการคาดการณ์ต่อว่าปี 2559 การค้าชายแดนจะมีมูลค่าการค้าเกิน 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเร่งทำ 2 เรื่องเพื่อขานรับการเติบโตนี้ คือ เน้นความร่วมมือด้านการผลิตโดยป้อนวัตถุดิบเข้าCLMVให้มากขึ้น จากปัจจุบันเน้นสินค้าสำเร็จรูปเป็นหลัก รวมถึงการให้ความร่วมมือกับประเทศCLMV เพื่อส่งสินค้าไปประเทศที่ 3ให้มากขึ้น

ปีแห่งการท้าทาย

ด้านทรรศนะของนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก มองว่าปี 2559 เป็นปีที่ท้าทายมาก เพราะแต่ละสำนักต่างออกมาพยากรณ์การส่งออกไปในทิศทางบวกอย่างน้อยจากติดลบก็พลิกเป็นบวก ส่งออกจะเติบโตได้ระหว่าง 0-2% (ประเมินจากตัวเลขที่ต่ำสุดไว้ก่อน) ซึ่งสภาผู้ส่งออก มั่นใจว่าแนวโน้มส่งออกปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 2% จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ และหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือส่งออกเพิ่มเติม และสามารถขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็มีโอกาสเห็นการส่งออกในปีหน้าเติบโตได้ถึง 5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้

นอกจากนี้ยังต้องรับมือกับปัจจัยเสี่ยงด้วยว่า เศรษฐกิจโลกนั้นฟื้นตัวจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การขับเคลื่อนของแต่ละประเทศด้านเศรษฐกิจด้วยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงการรับมือกับสงครามค่าเงินอาจจะมีต่อเนื่อง เงินหยวนอาจจะอ่อนค่าลงอีก ขณะที่อียู และญี่ปุ่น อาจจะมีมาตรการผ่อนคลายการเงินหรือ QE รอบ 2 จะทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้เกิดการแข่งขันยากขึ้น เพราะจะเกิดการต่อรองตามมา

นักวิชาการลั่นขยาย 1-2% ก็เก่งแล้ว

ส่วนมุมมองจากนักวิชาการรศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองกล่าวว่า ปี 2559 การที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าปี 2558 จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ 1-2% ก็ถือว่าเก่งแล้ว ในเบื้องต้นยังมองว่าไม่น่าจะไปถึง 5% เพราะยังมีความเสี่ยงจากที่เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่ า7% และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่จะทำให้จะมีเงินไหลออกไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากปัจจัยหนุนที่กล่าวข้างต้นแล้ว การโหมโรงระหว่างภาค เอกชนที่ร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ออกไปโรดโชว์ 6 ประเทศ(กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน และสปป.ลาว) นำผู้ประกอบการไทย สินค้าไทยทั้งขนาดกลาง-เล็กร่วมออกงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจเพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกันตลอดปี รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจที่จะเกิดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น ยังเป็นอีกแรงหนุน ในการผลักดันการส่งออกให้บรรลุเป้าหมายได้อีกทาง ก็จะทำให้การส่งออกไทยกลับมาพลิกบวกได้ในปี2559 นี้ ซึ่งถือว่าดีที่สุดในรอบ 3 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559