กกต.สั่งจับตาป้องกันฮั้ว-จ้างลงคะแนนเลือกส.ว.

15 พ.ย. 2561 | 08:35 น.
 

กกต.กำชับผู้ตรวจการเลือกตั้ง จับตาการเลือก ส.ว. ป้องกันฮั๊ว -จ้างลงคะแนน ประเมินเลือกตั้งส.ส.ใช้เงินมหาศาล ปูดแค่นายกอบต.ค่าตัวยัง 5 ล้าน แนะศึกษาเครือข่ายหัวคะแนนทั่วประเทศ สอดส่องย้ายทะเบียนบ้าน

ณัฎ-2

นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายตอนหนึ่งในการสัมมนาเตรียมความพร้อมการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งในการเลือกตั้งส.ว.และส.ส.ว่า ในส่วนของส.ว การรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สำนักงานได้มีการวางระบบตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ที่คาดว่าจะเปิดรับสมัครในช่วงวันที่ 26-30 พ.ย.นี้ โดยระบบดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับระบบทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยเพื่อสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในเบื้องต้นได้ทันที เช่น อายุ การสมัครซ้ำซ้อน การสมัครเกินกว่า 1 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครที่ กกต พิจารณาว่าขาดคุณสมบัติสามารถร้องต่อศาลฎีกาได้ ซึ่งได้มีการประสานแล้ว ว่าศาลจะเร่งพิจารณาให้เสร็จภายใน 5 วัน

สำหรับการลงคะแนนเมื่อลงคะแนนแล้วไม่สามารถให้ผู้สมัครห้ามกลับทันที อย่างน้อยต้องอยู่ครึ่งวัน หากใครกลับถือว่าสละสิทธิ เพราะกฎหมายกำหนดว่า หากผู้สมัครกลุ่มใดอย่างน้อย3คนไม่ได้คะแนนเกิน 10% ขึ้นไปให้ให้สันนิษฐาน ถือว่ามีการฮั้วสมยอมกัน นอกจากนี้กฎหมายให้ผู้สมัครแต่ละคนมี 2 คะแนน สามารถเลือกตัวเองได้ 1 คะแนน แต่ห้ามเลือกตัวเอง 2 คะแนน เพราะถ้าไม่เลือกตัวเองก็อาจถูกมองว่า มีการจ้างให้มาลงคะแนน อาจมีอามิสสินจ้าง เมื่อลงคะแนนแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามพฤติกรรมผู้สมัคร ส.ว.ด้วย

ส่วนการเลือกตั้งส.ส. ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญโดยหลังจากการจับสลากเพื่อลงพื้นที่ตามกลุ่มจังหวัด ขอให้เข้าไปในสำนักงาน กกต.จังหวัดเพื่อขอดูบัญชีเครือข่ายความสัมพันธ์ของหัวคะแนน ซึ่งมีการจัดทำไว้ครบทุกจังหวัด การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นสะท้อนถึงการใช้เงินอย่างมหาศาลตั้งแต่ใช้หลอดดูด ติดต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ให้ดูแลฐานคะแนนในตำบล ผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงสามารถคำนวณได้เลยว่าเงินจะออกวันไหน เพราะบัตรลงคะแนนซึ่ง 1 ใบมีผลเลือกส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ และยังใช้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ราคาบัตรลงคะแนนของประชาชนจะพุ่งอย่างแน่นอน ขณะนี้แม้แต่นายกอบต.ก็มีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เพื่อดูแลฐานคะแนนในตำบล คนกลุ่มนี้ถึงไม่ชนะการเลือกตั้งส.ส. หลังการเลือกตั้งก็สามารถกลับไปสมัครเป็นนายกอบต.ได้ใหม่ เงิน 5 ล้านที่ได้ไปก็เอาไปใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

“พรรคการเมืองใหญ่ทำตัวเป็นอามีบา ซึ่งเป็นสิทธิที่จะสามารถแตกพรรคย่อย เพราะถ้าอยู่เป็นพรรคใหญ่มีส.ส.ล้นหลาม จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสเลย ยกตัวอย่างชนะเลือกตั้งได้ส.ส.เขต 198 เขต จะได้ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 2 ที่นั่ง พรรคใหญ่จึงต้องแบ่งตัวเป็นพรรคย่อย โดยพรรคย่อยไม่ต้องการที่นั่งส.ส.แบบเขตเลย ขอให้มีคะแนนมาในลำดับ 2 หรือ 3 ก็จะได้สัดส่วนที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ นอกจากนี้ในประเด็นหัวคะแนนก็เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เดิมหัวคะแนนจะเลือกฝ่ายอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันรักทุกพรรค รับเงินทุกพรรคเพื่อเกลี่ยสัดส่วนฐานเสียงแบ่งไปสนับสนุนให้กับทุกพรรค หัวคะแนน ผมจึงตั้งความหวังว่าด้วยพฤติกรรมต่างๆ ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องจับได้สักคน “

นอกจากนี้ยังขอให้สังเกตหัวคะแนนซึ่งมีพฤติการณ์ที่ชัดเจน จะเป็นคนที่มานั่งเฝ้าไม่ไกลจากหน่วยเลือกตั้ง สังเกตง่ายๆคือเขาจะไม่กินข้าวกินปลาจะนั่งเฝ้าไม่ไปไหนเลยทั้งวัน เพื่อจะดูความเคลื่อนไหวของคนลงคะแนน โดยดูว่าเงินที่จ่ายไปเข้าคูหาหรือยัง อีกทั้งยังอาจมีการทะเลาะกันระหว่างหัวคะแนนด้วยกัน ซึ่งหัวคะแนนจะแตกต่างจากกลุ่มนักศึกษาที่มาคอยถามผลการลงคะแนนเพื่อทำเอ็กซิสโพลล์. รวมทั้งให้สังเกตเรื่องการย้ายทะเบียนเพื่อการเลือกตั้ง โดยให้จับตาไปยังทะเบียนบ้านที่มีคนต่างนามสกุลมาอยู่รวมกันเยอะๆ ถ้าเจอขอให้สันนิฐานเบื้องต้นได้เลยว่าเป็นย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง”

นายณัฎฐ์ ยังกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเกิดปรากฎการณ์ส.ส.ชักเข้าชักออก และจะไม่นิ่งจนกว่าจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางกาน หรือเมื่อครบกำหนด 1 ปีหลังการนับคะแนน จะมีส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสของบางพรรคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ก็จะมีการคำนวณส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อใหม่ ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะขยับไปมา เป็นปรากฎการณ์เป็นส.ส.แค่ข้ามคืน ก็ต้องกลับบ้านไปเลี้ยงลูก และเมื่อมีการคำนวณคะแนนอาจกลับมาเป็นส.ส.ได้อีก

ส่วนอีกประเด็นที่ต้องจับตาคือนโยบายในการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายระบุชัดให้พรรคแจ้งนโยบายต่อกกต.ก่อนจะนำไปหาเสียง เช่น นโยบายจะใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ และหาเงินมาจากแหล่งไหน อีกทั้งต้องบอกถึงข้อดีข้อเสียด้วย เมื่อกกต.อนุมัติแล้วจึงจะนำไปใช้หาเสียงได้ โดยนโยบายหาเสียงจะเริ่มมีผลตอนที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องไปแถลงนโยบายต่อสภา ถึงเวลานั้นจะถูกตรวจสอบว่านโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์หรือไม่ หากไม่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะกลายเป็นว่าหาเสียงหลอกลวงมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเมื่อได้รับเลือกแล้วไม่ได้นำนโยบายหาเสียงมาใช้เลย