ส่องปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมเอทานอลไทยปี 67-69

26 เม.ย. 2567 | 00:36 น.

วิจัยเผยแนวโน้มธุรกิจเอทานอลในไทย ปี 67-69 เติบโตต่อเนื่อง ส่องปัจจัยหนุน พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายอุตสาหกรรมที่นี่

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567-2569 โดยระบุว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนัก โดยจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังต่อไปนี้

ปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมเอทานอลเติบโต 

  • การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคท่องเที่ยว หนุนกิจกรรมภาคธุรกิจกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ 
  • จำนวนยานยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
  • การเติบโตของภาคการค้าออนไลน์ หนุนความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้นตามความต้องการขนส่งสินค้าจากผู้ขายสู่ผู้บริโภค
  • ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ภายใต้แผนสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ 
  • การส่งเสริมให้นำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAFs) ยา เครื่องสำอาง และพลาสติกชีวภาพ

ปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยที่ท้าทายของอุตสาหกรรมเอทานอลที่ต้องเฝ้าระวัง

  • ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนในทิศทางปรับตัวสูงขึ้น อาจกดดันต้นทุนการผลิตและมาร์จินของผู้ประกอบการ และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะภัยแล้ง ขณะที่ในระยะยาว การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) อาจส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับลดลง

มุมมองวิจัยกรุงศรีที่ประเมินเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการที่มีห่วงโซ่การผลิตเอทานอลที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจัดจำหน่าย จะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความไม่เพียงพอของวัตถุดิบและราคาวัตถุดิบที่มีทิศทางปรับสูงขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ ดังนี้

 

ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล

  • รายได้มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย จากปัญหาภัยแล้งกระทบต่อผลผลิตอ้อยและกากน้ำตาล มีผลให้ต้นทุนวัตถุดิบยังคงทรงตัวที่ระดับสูงต่อเนื่อง โดยโรงงานผลิตเอทานอลที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาลจะมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จึงได้รับแรงกดดันน้อยกว่าผู้ประกอบรายย่อยซึ่งมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และมีต้นทุนสูงกว่า

ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง

  • รายได้มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย เนื่องจากราคาวัตถุดิบมีทิศทางปรับสูงขึ้นจากภัยแล้งและความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น (อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และอาหารสัตว์) รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศคู่ค้ามีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้วัตถุดิบอาจไม่เพียงพอกับความต้องการผลักดันต้นทุนปรับสูงขึ้น กดดันมาร์จินของผู้ประกอบการ​

ที่มาข้อมูล