ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ กำลังเคลื่อนไปสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเปิดเผยว่าการเจรจาในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ ได้ข้อสรุปเป็น “ข้อตกลงกรอบการค้าใหม่” ที่อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า โดยขณะนี้กำลังรอการพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้ายจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งมีเส้นตายภายในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ หากไม่สามารถอนุมัติได้ตามกำหนด ภาษีการค้าระหว่างสองประเทศจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจนแตะระดับ 145%
สาระสำคัญของข้อตกลงที่เพิ่งได้ข้อยุติในลอนดอน คือ การยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายากและแม่เหล็กของจีน ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯ ก็เตรียมลดการควบคุมส่งออกซอฟต์แวร์ออกแบบเซมิคอนดักเตอร์และสารเคมีขั้นสูงที่เคยตอบโต้จีนมาก่อนหน้านี้ โดยรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ โฮเวิร์ด ลุตนิก ระบุว่าข้อตกลงกรอบใหม่นี้ได้ “เติมเนื้อหาให้กับโครงสร้าง” ของข้อตกลงเดิมที่เจรจาไว้ในนครเจนีวาเมื่อเดือนก่อน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีข้อยุติในประเด็นการส่งออกแร่หายาก ทำให้การเจรจาชะงัก และต่างฝ่ายต่างเริ่มกลับมาใช้มาตรการควบคุมซึ่งกันและกัน
ข้อตกลงในลอนดอนยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทรัมป์และสี จิ้นผิง ซึ่งหากไม่เกิดขึ้นภายในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ อัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันจะพุ่งขึ้นอีกครั้ง โดยฝั่งสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นจากราว 30% เป็น 145% ขณะที่จีนอาจตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 125% ซึ่งอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกและทำให้ตลาดการค้าเข้าสู่ภาวะตึงเครียดรุนแรงอีกครั้ง
หลี่ เฉิงกัง ผู้แทนการค้าระหว่างประเทศของจีนและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับสื่อระหว่างการแถลงข่าวหลังการประชุมกลไกหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ ครั้งแรกว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นตลอดสองวันในลอนดอนเป็นไปอย่าง “มืออาชีพ มีเหตุผล ลึกซึ้ง และตรงไปตรงมา” โดยทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงในหลักการร่วมกันได้ ตามฉันทามติที่ผู้นำทั้งสองประเทศเคยพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน รวมถึงข้อตกลงเดิมจากการเจรจาในเจนีวา
หลี่ เฉิงกังยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนมีความหวังว่าความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในลอนดอนจะช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน และผลักดันให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสองประเทศ แต่ยังช่วยสร้างพลังบวกให้แก่เศรษฐกิจโลกในภาพรวมด้วย
แม้การเจรจาจะมีทิศทางบวกและบรรลุกรอบข้อตกลงใหม่ แต่ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า จะสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งระยะยาวที่ฝังลึกในประเด็นการค้า เทคโนโลยี และอำนาจเชิงกลยุทธ์ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของทั้งสองผู้นำในสัปดาห์ต่อๆ ไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตัดสินใจครั้งสำคัญก่อนถึงเส้นตายในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้