ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยระหว่างการเยือนกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับว่า สหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่กับอิหร่าน โดยระบุว่าอิหร่านได้ “ตกลงตามข้อตกลงบางส่วนแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ ต้องการบรรลุ “สันติภาพในระยะยาว” ผ่านช่องทางทางการทูต และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังหากเป็นไปได้
"เรากำลังเจรจาอย่างจริงจังกับอิหร่านเพื่อสร้างสันติภาพระยะยาว เราใกล้มากที่จะทำข้อตกลงโดยไม่ต้องใช้วิธีที่รุนแรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผมไม่ต้องการทำ" ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวจาก AFP
แม้ฝั่งสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับการเจรจา แต่อิหร่านยังคงแสดงท่าทีระมัดระวัง โดยแหล่งข่าวอิหร่านที่ใกล้ชิดกับทีมเจรจาเปิดเผยว่ายังมี "ช่องว่าง" หลายประเด็นที่ต้องสะสางก่อนจะสามารถปิดดีลได้ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าการเจรจารอบที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในประเทศโอมาน ฝ่ายสหรัฐฯ ได้เสนอแผนข้อตกลงอย่างเป็นทางการให้อิหร่าน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านกลับระบุว่า ตนยังไม่ได้รับข้อเสนอใหม่ใดๆ และย้ำว่า "อิหร่านจะไม่มีวันยอมละทิ้งสิทธิ์ในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมบนแผ่นดินของตนเอง"
ประเด็นยูเรเนียมถือเป็นจุดขัดแย้งสำคัญของการเจรจาในครั้งนี้ โดยฝั่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าอิหร่านควรยุติกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ขณะที่ฝ่ายอิหร่านเห็นว่านี่คือ "เส้นตาย" ที่ไม่อาจยอมรับได้ภายใต้หลักของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) อย่างไรก็ตาม อิหร่านแสดงความพร้อมที่จะ "ลดระดับ" การเสริมสมรรถนะลงในระดับที่ใช้ได้กับภาคพลเรือน พร้อมอนุญาตให้มีการตรวจสอบจากองค์กรระหว่างประเทศ หากสหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่บั่นทอนเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างหนักตั้งแต่ปี 2018
ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC News ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อาลี ชัมคานี ที่ปรึกษาผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แสดงท่าทีพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ หากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยเสนอให้อิหร่านให้คำมั่นว่าจะไม่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกำจัดยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับสูงที่มีอยู่ในคลัง และดำเนินการเสริมสมรรถนะเฉพาะระดับต่ำที่ใช้ในทางพลเรือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อิหร่านอีกรายหนึ่งระบุว่า "แนวคิดเรื่องการจำกัดยูเรเนียมเสริมสมรรถนะไม่เกิน 5% ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นประเด็นที่อยู่ในการเจรจามาตลอด" พร้อมย้ำว่านี่เป็น "ประเด็นทางเทคนิคที่ซับซ้อน" และต้องอาศัย "ความจริงใจในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอย่างตรวจสอบได้จากอีกฝ่าย"
ทั้งนี้ อิหร่านแสดงจุดยืนชัดว่า หากจะมีการลดระดับหรือปลดคลังยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะสูงลง ต้องทำเป็น "ลำดับขั้นตอน" ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้ดำเนินการในทันที นอกจากนี้ ยังมีความเห็นต่างเกี่ยวกับประเทศปลายทางที่ควรส่งยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับสูงออกไป ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณบวกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน โดยในวันพฤหัสบดี ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงราว 2 ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าอาจมีการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ซึ่งจะเปิดทางให้มีการส่งออกน้ำมันอิหร่านเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังคงมีเส้นแบ่งทางการเมืองที่ต้องข้ามผ่าน ก่อนจะสามารถลงนามข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมได้จริง ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านยังคงเปราะบาง โดยฝ่ายอิหร่านต้องการหลักประกันอย่างแน่นหนาว่า หากมีข้อตกลงเกิดขึ้นแล้ว จะไม่ถูกยกเลิกโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกในอนาคตเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปี 2015 ซึ่งเคยทำไว้กับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศ