เบื้องหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ : โลกที่ไม่มีหนทางสงบง่ายๆ  

13 พ.ค. 2568 | 01:29 น.

ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2568 ที่หดตัว 0.3% แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้จะชี้ว่าเป็นผลมาจาก Biden’s Hangover เรียกว่าชี้หน้าด่าคนอื่นไว้ก่อนเลย ตามแบบฉบับนักการเมืองในอุดมคติสมัยใหม่ และหากยิ่งมองลงไปในรายละเอียดของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัว คือ การส่งออกสุทธิ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐ แล้ว ยิ่งชัดเจนว่าเป็นผลมาจากทรัมป์และพรรคพวก

อัตราการหดตัวที่ 0.3% หากมองจาก Contribution to Growth หรือง่าย ๆ ก็คือ -0.3 มาจากแต่ละเครื่องยนต์เท่าไรนั้น จะพบว่ามาจากการส่งออกสุทธิ -4.83% การบริโภคเอกชน +1.21% การลงทุน +3.6% และการใช้จ่ายภาครัฐ -0.25% รวมทั้งหมดก็ -0.27% หรือ -0.3 

แต่ถ้าจะดูแต่ละเครื่องยนต์ ก็พบว่าการส่งออกสุทธิของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกขาดดุลการค้าถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะสูงขึ้น 1.8% แต่การนำเข้าในไตรมาสนี้สูงขึ้นถึง 41.3% เพราะผู้นำเข้าของสหรัฐฯ รีบนำเข้าสินค้าเพื่อหลบผลกระทบจาก Tariff ที่บ้าเลือดของทรัมป์ที่จะมีผลในไตรมาสที่สอง 

เบื้องหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ : โลกที่ไม่มีหนทางสงบง่ายๆ  

โดยสินค้าที่นำเข้าส่วนมากได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน จากแคนาดาและเม็กซิโก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์ จากจีน ส่วนยาเวชภัณฑ์ จะมาจากประเทศไอร์แลนด์และเดนมาร์ก ทั้งหมดนี้ เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงปลายเดือนมีนาคม สรุปแล้ว ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกนี้ก็คือ แคนาดา จีน และเม็กซิโก ซึ่งก็คือสามทหารเสือที่ทรัมป์จัดการเรื่อง Tariff ก่อนใคร 

ส่วนการลงทุนในประเทศนั้น แม้ว่าโดยรวมแล้วการลงทุนจะเพิ่มขึ้น 21.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 20 ไตรมาสก็ตาม แต่พอมองลงไปในรายละเอียดจะพบว่าการขยายตัวของการลงทุนเป็นการลงทุนภาคก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 1.2% นั้น เป็นบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น 5.9% 

ขณะที่อาคารชุดกลับลดลง 11.5% ซึ่งก็คล้าย ๆ กับบ้านเรา ที่บ้านราคาแพงสำหรับคนมีเงินยังไม่ค่อยกระทบ แต่คนชั้นกลางยังเหนื่อยกับการหารายได้ในการหาบ้าน แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ อัตราการขยายตัวของการลงทุนในสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกนี้ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆเพิ่มขึ้น 22.5% และอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 69% เครื่องมือเหล่านี้เป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมดทำให้การนำเข้าในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นถึง 44.3%

เบื้องหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ : โลกที่ไม่มีหนทางสงบง่ายๆ  

การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในสินค้าคงคลังแบบนี้ นักเศรษฐศาสตร์มักจะมองว่าเป็นการดึงเศรษฐกิจในอนาคตมาไว้ในปัจจุบัน เพราะเลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าในอนาคต และจะส่งผลต่อการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต และอัตราการขยายตัวด้านการลงทุนในไตรมาสต่อไป และเป็นการใช้ทรัพยากรข้ามเวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาพของนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของทรัมป์ที่ยากจะคาดเดา ทำให้การลงทุนในสินค้าคงคลังเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่จำเป็น 

 

ด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1.8% นั้น แต่ก็ลดลงจาก 4.0% ในไตรมาสที่แล้ว ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ามารับตำแหน่ง ส่วนมากจะเป็นการเพิ่มในภาคบริการ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่รัฐตัดงบประมาณด้านนี้ลงทำให้ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและสิ่งยังชีพประจำวันต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 2.7% แต่สินค้าพวกคงทนถาวร ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก ลดลง 3.4% ซึ่งทั้งหมดสะท้อนถึงความกังวลและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอเมริกันที่มีต่อความไม่แน่นอนและยากที่จะคาดเดาต่อมาตรการทางเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 86.0 ซึ่งถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2020 ที่เป็นช่วงโควิด 

ขณะที่ในการใช้จ่ายภาครัฐที่ติดลบ 0.25% นั้น ไม่เป็นที่น่าแปลกใจมากนัก เพราะตั้งแต่ Elon Musk เข้าไปลุยในหน่วยงานรัฐบาลกลาง จนนำไปสู่การหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางทั้งในและต่างประเทศมากกว่าแสนคน จนนำมาสู่การเสนอปรับลดงบประมาณของรัฐบาลกลางลง 163,000 ล้านเหรียญ โดยเน้นงบประมาณด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข 

เบื้องหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ : โลกที่ไม่มีหนทางสงบง่ายๆ  

นอกจากนี้ ยังลดการใช้จ่ายด้านกลาโหมลง โดยลดการสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์อาวุธให้กับพันธมิตรที่เคยช่วยลงอย่างมาก ทำให้ในไตรมาสแรกนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลดลง 5.1% ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล เพราะรัฐบาลทรัมป์ต้องการเงินเพื่อเอาไปใช้ในมาตรการลดภาษีรายได้หรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 – 150,000 เหรียญต่อปี รวมทั้งการนำเงินมาสนับสนุนนักธุรกิจที่จะมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศตามนโยบายของเขา

ถ้าจะสรุปง่าย ๆ ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังปั่นป่วนจากความไม่แน่นอน และยิ่งหนักไปกว่านั้นคือ “ยากจะเดา” เพราะนโยบายต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไม่หยุด แถมมาจากประธานาธิบดีทรัมป์คนเดียวจริง ๆ และแถลงนโยบายผ่านโซเชียลมีเดียที่คนทั่วโลกไม่ค่อยคุ้นเคยว่าจริงหรือเล่น ส่วนตัวแล้ว ชอบตรงที่ว่านโยบายที่ออกมาแต่ละอันนั้นสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ เสมอ ๆ เพราะแต่ละอย่างผมไม่สามารถหาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่มีเหตุมีผลได้เลย 

แต่ถ้ามองอีกมุม ทั้งหมดอาจเป็นกลยุทธ์ของทรัมป์ก็ได้ ที่ต้องการให้สหรัฐฯ ครองความเป็นหนึ่งในโลกที่ไม่มีการท้าทายเหมือนที่เป็นมากว่า 80 ปี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กติกาต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ และพวกพ้องสร้างขึ้นมาตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบ Swift ที่คุมระบบการเงินโลก พร้อมการสร้างให้ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินของโลก และเงินสำรองของประเทศต่าง ๆ 

รวมถึงการตั้งธนาคารโลก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้ง องค์กรการค้าที่ดูแลเรื่องภาษีศุลกากรระหว่างประเทศอย่าง GATT ที่ตอนหลังกลายร่างมาเป็น WTO และ UN ซึ่งทั้งหมดนี้สหรัฐฯ ใช้อิทธิพลของตนเองเพื่อออกกติกาและทำเรื่องต่าง ๆ ในการกำกับและสั่งการให้โลกนี้หมุน ทำ และเดินตามทิศทางที่ตนเองต้องการ 

แม้แต่การปกครองของประเทศต้องเป็นรูปแบบที่ตนเองต้องการ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนเครื่องกำกับ ควบคุมโลกให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาตามที่ตนเองต้องการ ไม่เช่นนั้นจะโดนองค์กรต่าง ๆ ที่ตนเองสร้างมาหวดแส้ใส่หลังเอา 

แต่วันนี้องค์กรเหล่านี้มีผู้เล่นมากขึ้น พรรคพวกที่เคยอยู่ในโอวาทเริ่มเสียงแข็ง มีกำลังมากขึ้น รวมทั้งศัตรูใหม่ คือ “จีน” ที่มาใหม่ แข็งแกร่งมากกว่ารายเดิม “รัสเซีย” ที่ตนเองทุบลงไปก่อนหน้านี้ และจีนทำให้สถานภาพของการเป็นผู้คุมโลกของสหรัฐฯ สั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และกติกาต่าง ๆ ที่ตนเองสร้างไว้เดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์ที่ตนต้องการ และยังไม่พอ กติกาที่ตนเองเคยสร้างไว้เดิมนั้น ตอนนี้ตนเองต่อสู้กับคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้น จึงพยายามสร้างกติกา เพื่อเตะตัดแข้ง ตัดขาคู่แข่งสำคัญอย่างจีน
แล้วกลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ ที่ต้องทำ คือ การล้มกระดาน การยกเลิกกติกาเดิม และสร้างกติกาใหม่ที่ตนเองได้เปรียบและยังมีอำนาจในการคุมโลกเหมือนเดิม เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว 

และในความคิดส่วนตัวมองว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ฝังอยู่ในหัวของคนอเมริกันส่วนมากที่คิดว่าตนเองคือผู้นำโลก และต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นเชื่อว่ามีทรัมป์หลายล้านคนในสหรัฐฯ และต่อให้ทรัมป์คนนี้ไม่อยู่ ก็ว่าจะมีทรัมป์คนต่อไปโผล่มาเรื่อย ๆ 

วันนี้โลกกำลังถึงทางเลือกว่าอยากได้ยักษ์ใหญ่สองสามคนคุมเชิงกัน และต่างไม่กล้าทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า หรือมียักษ์ใหญ่ตัวเดียวคุมโลก และเป็นยักษ์ที่เราหวังว่าจะเป็นยักษ์ใจดีและมีเหตุผล