มาเลเซียแซงไทย ขึ้นแท่นตลาดรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของอาเซียน

29 พ.ค. 2567 | 07:04 น.

มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับสอง แทนที่ประเทศไทยที่หล่นลงไปอยู่อันดับสาม ขณะตลาดรถยนต์ใหญ่สุดครองแชมป์อันดับหนึ่งของอาเซียน ยังเป็น “อินโดนีเซีย”

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ มาเลเซีย สามารถแซง ไทย ขึ้นเป็น ตลาดรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับสอง ของ อาเซียน ส่วนหนึ่งคือมาตรการยกเว้นภาษีการขาย (sales tax) ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายรถที่เป็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซียที่มีอยู่ 2 แบรนด์ด้วยกัน คือ เพอโรดัว (Perodua) และโปรตอน (Proton)

นิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) สื่อใหญ่จากญี่ปุ่นรายงานว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญในตลาดรถยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้กลายมาเป็นสมรภูมิการแข่งขันของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเอเชีย ทั้งนี้ นิคเคอิฯได้รวบรวมข้อมูลยอดขายรถยนต์ใน 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งนอกจากอินโดนีเซีย มาเซีย และไทยแล้ว ยังมีฟิลิปปินส์ และเวียดนามด้วย โดยข้อมูลชี้ว่า “มาเลเซีย” ที่ครองอันดับสามมายาวนาน (ในแง่ยอดขายรถยนต์โดยรวม) สามารถขึ้นมาเป็นอันดับสองแทนที่ประเทศไทยได้ถึง 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว โดยล่าสุดคือไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม 2567

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลเซีย (Malaysian Automotive Association) พบว่า ยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เป็น 202,245 คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปี 2566 ยอดขายรถยนต์รวมในมาเลเซียทำสถิติไว้ที่ 799,731 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า

รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย โปรตอน(ซ้าย) และเพอโรดัว (ขวา) ยอดขายพุ่งจากมาตรการกระตุ้นด้านภาษี

ในปี 2020 (พ.ศ.2563) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมาเลเซียมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยกเว้นภาษีการขาย (sales tax) ให้กับการซื้อรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศมาเลเซียเอง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ที่ผลิตในประเทศอย่างเพอโรดัวและโปรตอนมียอดขายพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันทั้งสองแบรนด์ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของมาเลเซียอยู่ประมาณ 60%

แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะยุติลงในช่วงกลางปี 2022 แต่การจองซื้อรถยังคงได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีการขายและมีผลกระตุ้นยอดขายรถมาจนถึงปี 2023 “รถยนต์หลายรุ่นใหม่ที่มียอดจองซื้อในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาเอื้อมถึงได้อย่างมาก ซึ่งก็ยิ่งทำให้ยอดขายพุ่งแรง” ข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ฯระบุ

นายอิแวน คู (Ivan Khoo) ตัวแทนขายรถโตโยตาในกรุงกัวลาลัมเปอร์เปิดเผยกับ “นิคเคอิ เอเชีย” ว่า ยอดขายในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ดีเกินคาด โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับโตโยตามาเลเซียคือ รุ่นวิออส (Vios) ซึ่งมีราคาต่ำกว่าคันละ 1 แสนริงกิต หรือประมาณ 21,000 ดอลลาร์ (ราว 770,700 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 36.7 บาท) เขาคาดการณ์ว่า ทั้งรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE (internal combustion engine) และรถยนต์ไฮบริด จะยังคงทำยอดขายได้ดี

สำหรับประเทศไทยที่หล่นมาเป็นตลาดรถยนต์อันดับสามของอาเซียน แรงขายมาจากรถยนต์อีวีจีนที่เข้าตลาดอย่างคึกคัก

แต่สำหรับ ประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) และครองตำแหน่งเป็นตลาดรถยนต์ที่มียอดขายมากเป็นอันดับสองในอาเซียนมานาน สถานการณ์ค่อนข้างจะแตกต่างออกไป เนื่องจากยอดขายรถยนต์ชะลอตัวลง โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์ในไทยลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์รายเดือนของไทยเมื่อเทียบปีต่อปีเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (2566) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งภาวะการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ยังดีที่พอจะมีการเติบโตให้เห็นในส่วนของตลาดรถยนต์อีวีที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการเข้าตลาดของรถอีวีรุ่นต่างๆจากประเทศจีน

ส่วนตลาดรถยนต์อันดับหนึ่งในอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ตลาดขาดพลวัตการเติบโตเช่นกัน โดยยอดขายรถยนต์ในภาพรวมลดลง 24% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ท่ามกลางบริบทไม่เป็นใจ เช่นอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถใหม่

ข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย (Association of Indonesia Automotive Industries หรือไกคินโด: Gaikindo) ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2566) ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียลดลง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับเหนือ 1 ล้านคันเพียงเล็กน้อย ซึ่งน้อยกว่าสถิติที่เคยทำไว้ก่อนโควิดระบาดในปี 2562 อยู่ถึง 30,000 คัน และไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.05 ล้านคัน

ขณะที่ เวียดนาม ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงถึง 16% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ซบเซาและปัจจัยอื่นๆ

 

ข้อมูลอ้างอิง