บทเรียนจากญี่ปุ่น: อุบัติเหตุร้ายแรงจาก “คนขับรถเสียสมาธิ” พุ่งทุบสถิติ

09 มี.ค. 2567 | 04:58 น.

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น (NPA) เผยว่า จำนวนอุบัติเหตุจราจรร้ายแรงที่มีต้นตอจากคนขับรถที่เสียสมาธิ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา และยิ่งมีโทรศัพท์เข้ามาเกี่ยวข้อง สถิติการตายก็ยิ่งสูงขึ้น

 

ในปี 2566 จำนวนอุบัติเหตุที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต หรือ บาดเจ็บสาหัส ใน ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 34 ครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 122 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี 2550 โดยในจำนวนล่าสุดนี้ มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 25 ราย

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก NPA ระบุว่า ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงแก่ชีวิตเพิ่มขึ้น 3.8 เท่า หากผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้ใช้งาน

เมื่อปี 2562 ญี่ปุ่นกำหนดบทลงโทษที่หนักหน่วงขึ้นสำหรับการใช้สมาร์ตโฟนและโทรศัพท์มือถืออื่นๆ ขณะขับขี่รถยนต์ โดยเพิ่มค่าปรับเป็นสามเท่าอยู่ที่ 18,000 เยน (ราว 4,300 บาท) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ขนาดมาตรฐาน

ญี่ปุ่นกำหนดบทลงโทษที่หนักหน่วงขึ้นสำหรับการใช้สมาร์ตโฟนและโทรศัพท์มือถืออื่นๆ ขณะขับขี่รถยนต์

กฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุทางรถยนต์ร้ายแรงที่มีต้นตอจากคนขับรถที่เสียสมาธิ ในประเทศญี่ปุ่นลดลงจาก 105 ครั้งในปี 2562  เหลือ 66 ครั้งในปี 2563 แต่หลังจากนั้น ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

นอกจากบทลงโทษที่หนักหน่วงมากขึ้นสำหรับการใช้สมาร์ตโฟนและโทรศัพท์มือถืออื่นๆ ขณะขับขี่รถยนต์ ญี่ปุ่นยังมีตัวบทกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการขับขี่ยวดยานพาหนะ เช่น กฎหมายเมาแล้วขับฉบับที่ออกมาในเดือน ก.ย. 2550 มีตัวอย่างบทลงโทษ ดังนี้

  • เมาแล้วขับ (Driving While Intoxicated: DWI) ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Content/Concentration: BAC) 0.08 ขึ้นไป จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน
  • ขับขี่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ (Driving Under the Influence: DUI) คือ ระดับ แอลกอฮอล์ในลมหายใจ 0.15 มิลลิกรัม/ลิตร หรือ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่าง 0.03 ถึง 0.07999 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน ส่วนกฎหมายเดิม จำคุกไม่ เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน
  • บทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ขับขี่ แต่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย (1)ให้คนที่ต้องขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือนั่งรถในฐานะผู้โดยสาร ไปกับผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าผู้ขับขี่ถูกตรวจ พบว่า DUI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสาร อาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 3 แสนเยน DWI: ผู้ที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ขับขี่ หรือ ผู้โดยสาร อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน และ (2) เอารถให้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วไปขับโทษก็เหมือนดื่มเอง คือ หากผู้ขับขี่ถูกตรวจพบว่า DUI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มฯมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 5 แสนเยน กรณี DWI: ผู้ที่เอารถให้คนที่ดื่มมาแล้วไปขับ อาจถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ถูกปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน
  • ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน
  • ชนแล้วหนี จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน

(ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง: TCIJ)