น่าห่วง "ผู้สูงอายุ" ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ พบสถิติอุบัติเหตุพุ่ง

04 มี.ค. 2567 | 22:10 น.

เปิดรายงานภาวะสังคมไทย ใน “กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ พบแนวโน้มสถิติ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น ปัญหาสุขภาพส่งผลสมรรถนะในการขับขี่ อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาสภาวะด้านสุขภาพของ "กลุ่มผู้สูงอายุ" ที่มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ ยานพาหนะ

เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต ของกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ที่ "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ " ให้ความสำคัญ

และเขียนไว้สั้นๆในรายงานภาวะสังคมไทยปีที่ 22 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2567 ไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี2566  ที่มีการแถลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ 4 มี.ค. 67

สภาพัฒน์ เขียนรายงานเรื่องนี้ไว้ในหัวข้อ "ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน" ด้านการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน ที่ระบุตอนหนึ่งด้วยการฉายภาพใหญ่ว่า

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (THAI RSC) ไตรมาสสี่ ปี 2566 (ณ วันที่ 22 มกราคม 2567) มีการรับแจ้งผู้ประสบภัย สะสมรวม 216,023 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,609 ราย ผู้ทุพพลภาพสะสม 48 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 212,366 รายลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 ที่ร้อยละ 11.4 13.9 23.8 และ 11.4 ตามลำดับ

โดยประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.5 รองลงมาเป็นรถยนต์ ร้อยละ 7.8 โดยช่วงเวลา
ที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ ช่วงเวลา 10.00 - 13.59 น.

นอกจากนี้ปี 2566 การรับแจ้งผู้ประสบภัยสะสมและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบกลดลง ข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (THAI RSC) ที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบ
Realtime รายงานสถิติการใช้สิทธิ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ พบว่า
 

ในปี 2566 มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยรวม 821,882 ราย ลดลงร้อยละ 12.8 จำแนกเป็นผู้เสียชีวิต 14,126 ราย
ลดลงร้อยละ 5.6 (เฉลี่ยวันละ 38.7 ราย) ผู้บาดเจ็บสะสม 807,560 ราย ลดลงร้อยละ 12.9 และทุพพลภาพ 196 ราย
เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7

จากนั้น ในรายงานยังสรุป 3 "ประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องให้ความสำคัญ" โดยข้อ 3 เขียนชัดเรื่อง "ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ"

รายงานภาวะสังคม สศช. ระบุในส่วนนี้ว่า ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า

  • ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในช่วงอายุ 50 - 59 ปี ร้อยละ 15.2
  • รองลงมาเป็นช่วงอายุ 40 - 49 ปี ร้อยละ 14.8
  • ช่วงอายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 14.5 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันหากพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงในทุกช่วงอายุ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึง 2566 พบว่า

  • ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุฯ เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ "กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป" ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.49
  • รองลงมาเป็นอายุระหว่าง 60 - 69 ปี ร้อยละ 10.7 และอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 10.1 ตามลำดับ

ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากตัวผู้ขับขี่เองมากถึงร้อยละ 75.213

นอกจากนี้ จากผลของ "โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบใบอนุญาตขับรถให้เหมาะสมกับประเทศไทย" พบว่า ปัญหาสภาวะด้านสุขภาพเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกาย อาทิ

  • การหมดสติฉับพลัน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ความผิดปกติของระบบประสาท
  • การสูญเสียการควบคุม
  • ปัญหาสายตา

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพ และความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน
 

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวม ปี2566