สื่อนอกเกาะติดข่าว "พักโทษทักษิณ" ยุติหรือก่อหวอดความขัดแย้ง

15 ก.พ. 2567 | 17:10 น.

สื่อนอกหลายสำนักเกาะติดรายงานข่าว น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์นี้ หลังเข้ารับโทษคุมขังไม่กี่เดือน ก่อให้เกิดคำถามว่า นี่คือจุดสิ้นสุดความขัดแย้งในสังคมไทย หรือจะฟื้นการเผชิญหน้าขึ้นมาใหม่กันแน่

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ พาดหัวข่าว "Jailed former Thai leader Thaksin granted parole, PM says" เนื้อหาระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การพักโทษอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันอังคาร (13 ก.พ.) ว่า นายทักษิณได้รับการพักโทษหลังรับโทษมาเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากคุณสมบัติเข้าข่ายการพักโทษตามกฎเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์แล้ว นายกฯ ยังกล่าวถึงการที่นายทักษิณเคยทำงานรับใช้บ้านเมือง สร้างประโยชน์มากมายสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“เมื่อท่านออกมาแล้ว ก็จะเป็นประชาชนคนธรรมดา” รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนายกฯ เศรษฐา และยังรายงานว่า น.ช.ทักษิณ วัย 74 ปี ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ 15 ปีเพื่อไม่ต้องถูกจับเข้าคุก ก่อนที่จะตัดสินใจกลับประเทศไทยมารับโทษเมื่อปีที่แล้ว โดยเขาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่เขารับโทษอยู่ 6 เดือนโดยไม่ต้องใช้เวลาในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว จากการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยเหตุผลด้านสุขภาพที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ระบุว่า แม้นายทักษิณอาจจะได้รับการพักโทษในวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.นี้ แต่เขาผู้ซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางของความสับสนวุ่นวายในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของไทยมาถึงสองทศวรรษ ก็ยังอาจถูกคุมขังต่อไปได้ เพราะอัยการกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะยื่นฟ้องเขาในข้อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นผลจากการที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ (Chosun Ilbo) เมื่อปี 2558 หรือไม่

นายทักษิณ ชินวัตร ในวันเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อกลับมารับโทษ แต่เขาป่วยและไม่ได้นอนคุกแม้แต่วันเดียว

ด้านสื่อฝั่งยุโรป ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานข่าว "Thailand grants parole to former prime minister Thaksin Shinawatra" โดยอ้างสื่อต่าง ๆ ว่า นายทักษิณคือ 1 ในผู้ต้องโทษจำนวน 930 คนที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้หลังรับโทษแค่เพียง 6 เดือน และยังระบุถึงการเดินทางกลับไทยของเขาเมื่อปีที่แล้ว (2566) ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อตกลง” กับกองทัพที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปและนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยที่นายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นรองพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งอย่างถล่มทลายก็ตาม

ส่วนสื่อ อัลจาซีรา รายงานในทิศทางเดียวกันว่า การพักโทษในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังอดีตนายกฯ ทักษิณถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปีจากความผิดในข้อหาคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดเหลือจำคุก 1 ปีเมื่อปี 2566

บทบาทหลังพักโทษ ผู้ให้คำปรึกษารัฐบาล

อัลจาซีรารายงานว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มาจากพรรคเพื่อไทยที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2566 นายเศรษฐาแย้มกับสื่อว่า หลังได้รับการพักโทษออกมาแล้ว นายทักษิณซึ่งทำงานเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมายาวนาน ก็อาจให้คำปรึกษาหารือแก่ น.ส.แพทองธาร เกี่ยวกับการทำงานบริหารบ้านเมือง

ขณะที่ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ สื่อใหญ่ของฮ่องกง ที่ติดตามรายงานข่าวนี้ระบุว่า การกลับมาประเทศไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณหลังลี้ภัยหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศมาหลายปี เป็นการกลับมาพร้อมกับข้อสังเกตว่า อาจมี “การตกลงกัน” ในเรื่องการลดระยะเวลาการรับโทษไว้ก่อนแล้ว และกระแสข่าวลือเรื่องนี้ก็ดังหนาหูขึ้น เมื่อน.ช.ทักษิณได้รับการย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังศาลมีคำตัดสินลงโทษออกมา ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาเป็นผู้ต้องขังที่ไม่เคยต้องใช้เวลาในห้องขังเลย ส่วนอาการป่วยของเขานั้น สื่อรายงานว่าในวันที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเขามีอาการแน่นอกและความดันสูง หลายเดือนถัดมาหลังจากนั้น สมาชิกตระกูลชินวัตรก็กล่าวว่าเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึงสองครั้ง

สื่อฮ่องกงอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯเศรษฐาว่า เขามั่นใจว่าเมื่อได้รับการพักโทษออกมาแล้ว นายทักษิณยังจะสามารถให้คำแนะนำดีๆในการบริหารบ้านเมือง พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า การพักโทษอดีตนายกฯทักษิณเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทุกอย่างของกรมราชทัณฑ์ แต่รายละเอียดนอกเหนือจากนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่า เงื่อนไขหลังการพักโทษเป็นอย่างไร นายทักษิณต้องถูกติดตามความประพฤติอย่างไร เป็นไปได้ที่เขาอาจต้องใส่กำไลข้อเท้า และถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง (ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นายทักษิณถือเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ อาจมีมติหรือความเห็นจะไม่ติดกำไล EM เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอัตราความเสี่ยงน้อยที่จะไปก่อเหตุกระทำผิดซ้ำได้)    

แม้แต่ขแมร์ไทมส์ สื่อท้องถิ่นของกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย ก็ยังเกาะติดข่าวนี้โดยรายงานว่า นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษในช่วงสุดสัปดาห์นี้เช่นเดียวกับนักโทษอื่นๆ รวม 930 คน เนื่องจากมีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับการพักโทษเพราะสูงวัยแล้วและยังป่วยหนัก ซึ่งสื่อกัมพูชาอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สิ้นสุดการประจันหน้าจริงหรือ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นกับ สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของอเมริกาว่า การที่อดีตนายกฯ ทักษิณที่ถูกมองว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันฯของไทย กำลังจะได้รับอิสรภาพในเร็วๆนี้ อาจเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของการปรับเปลี่ยนของขั้วอำนาจในไทยที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของการประจันหน้ากันของตระกูลชินวัตรและพวกพ้อง กับกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันฯซึ่งมีทั้งฝ่ายกองทัพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ และชนชั้นสูง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนปัจจุบันมาจากพรรคเพื่อไทยที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระที่เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ความเห็นกับสื่อวีโอเอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งชี้ให้เห็นว่า “หลักนิติธรรม ซึ่งหากมีอยู่จริง สามารถบิดเบี้ยวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในอำนาจ ณ เวลาหนึ่ง ๆ ... แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่า มีความยืดหยุ่นในการเมืองของไทยที่พยายามจะหาทางปลดแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานได้”

ด้าน สำนักข่าวเอพี อ้างอิงการให้ความเห็นของ ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า อดีตนายกฯ ทักษิณยังคงเป็นผู้คุมบังเหียนอยู่และอยู่เบื้องหลังในเรื่องต่าง ๆ แต่พรรคเพื่อไทยนั้นก็มีอำนาจและอิทธิพลที่ไม่มากเหมือนเก่า ทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จะทำการอย่างไรต่อไป

ในส่วนของคดีอาญามาตรา 112 ที่นายทักษิณถูกตั้งข้อหาไว้ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน จากการที่เขาไปให้สัมภาษณ์สื่อในเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ซึ่งมีเนื้อหาถูกมองว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สื่ออัลจาซีรารายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดของไทยกำลังพิจารณาสำนวนคำฟ้องว่าจะเอาผิดต่อนายทักษิณในคดีอาญามาตรา 112 นี้หรือไม่ หลังจากที่ได้รับหลักฐานล่าสุดเป็นเอกสารบันทึกคำให้การและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากนายทักษิณ

ทั้งนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการให้สัมภาษณ์ที่เกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ. 2558 หลังเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สื่อเอพีและเอบีซีรายงานว่า นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การที่คดีมาตรา 112 ถูกเลื่อนพิจารณานานถึง 7 ปีนั้น เนื่องจากนายทักษิณมิได้อยู่ในประเทศไทย

โดยคำประกาศล่าสุดจากสำนักงานอัยการสูงสุดนี้หมายความว่า หากนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระตามกำหนดรับโทษ 180 วันหลังการอภัยลดโทษ เขาอาจต้องถูกอายัดตัวกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งจากคดีมาตรา 112 นี้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเชียนิวส์เน็ตเวิร์ก (เอเอ็นเอ็น) รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรมว่า  คดีมาตรา 112 นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องของนายทักษิณเพื่อขอความยุติธรรม หากอัยการตัดสินใจ “ไม่ดำเนินคดี” ทุกอย่างก็เป็นอันยุติ แต่ถ้าอัยการตัดสินใจนำคดีไปสู่ศาล นายทักษิณก็จะถูกดำเนินคดีในชั้นศาล

ทุกคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ถูกเฝ้าจับตามอง และมีการตั้งข้อสงสัยเสมอมาเกี่ยวกับความคลุมเครือในเรื่องการเข้ารับการรักษาตัว อาการเจ็บป่วยของเขา การรับโทษของเขา จนกระทั่งวันนี้ได้เริ่มมีการตั้งกลุ่มคัดค้านและแสดงตัวประท้วงทวงถามหาความโปร่งใสที่โรงพยาบาลตำรวจ การพักโทษน.ช.ทักษิณจะเป็นจุดสิ้นสุดความขัดแย้งหรือจุดประเด็นการเผชิญหน้าขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย ยังเป็นคำถามที่สร้างความหวาดหวั่นใจเป็นอย่างยิ่ง  

 

ที่มา รอยเตอร์ /ไฟแนนเชียลไทม์/อัลจาซีรา/เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์/ขแมร์ไทมส์/วีโอเอ/เอพี /เอเอ็นเอ็น